หลังจากที่นักร้องลูกทุ่งชื่อดัง ไผ่ พงศธร ล้มป่วยกระทันหันด้วยภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด ส่งผลให้หัวใจทำงานผิดปกติ จนต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลโดยด่วน ซึ่งอาการลิ่มเลือดอุดตันในปอด มีลักษณะอย่างไร และเกิดขึ้นได้อย่างไร เรารวมข้อมูลมาให้แล้ว

สาเหตุของลิ่มเลือดอุดตันในปอด

ลิ่มเลือดอุดตันในปอด (Pulmonary Embolism) ถือเป็นภาวะเสี่ยง ที่อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ส่วนใหญ่มักเกิดจากการมีลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำที่บริเวณขา แล้วหลุดขึ้นมาอุดที่เส้นเลือดใหญ่ที่ไปปอด สาเหตุที่ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันในปอด มาจากหลายปัจจัยเสี่ยงที่แตกต่างกัน ได้แก่

  • เคยผ่าตัดใหญ่ที่ใช้ระยะเวลาพักฟื้นนาน และไม่ค่อยขยับร่างกาย เช่น ผ่าตัดข้อสะโพก ข้อเข่า
  • เคยเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะกระดูกหัก
  • เป็นโรคที่เกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือดง่าย
  • เป็นโรคมะเร็งต่างๆ เช่น มะเร็งตับอ่อน มะเร็งปอด และมะเร็งเม็ดเลือด
  • เป็นโรคหัวใจ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจล้มเหลว
  • กินยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด

อาการลิ่มเลือดอุดตันในปอด

  • เหนื่อยง่าย เนื่องจากเลือดได้รับออกซิเจนน้อยลง
  • อาจมีอาการแน่นหน้าอก
  • หน้ามืด เป็นลม ใจสั่น
  • อาจรุนแรงถึงขั้นหัวใจวายเฉียบพลันหรือหัวใจหยุดเต้นได้
ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด หากมีอาการรุนแรงอาจทำให้หัวใจวายเฉียบพลันได้ (ภาพจาก iStock)
ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด หากมีอาการรุนแรงอาจทำให้หัวใจวายเฉียบพลันได้ (ภาพจาก iStock)

...

การรักษาลิ่มเลือดอุดตันในปอด

ในการรักษาแพทย์จะพิจารณาที่ความเสี่ยงของคนไข้เป็นสำคัญ หากมีความเสี่ยงมาก ระดับสัญญาณชีพไม่คงที่ หรือหัวใจมีสภาวะใกล้ล้มเหลว แพทย์จะรีบทำการรักษาเพื่อช่วยชีวิตคนไข้โดยเร็ว แต่ถ้าหากอาการยังไม่เข้าขั้นวิฤต แพทย์อาจให้ยากินหรือยาฉีดตามอาการ แล้วให้คนไข้กลับบ้านไปก่อน จึงนัดติดตามอาการต่อไป

การรักษาโรคลิ่มเลือดอุดตันในปอดสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด และเฝ้าระวังอาการข้างเคียง เช่น ความดันในหลอดเลือดแดงที่ปอดสูงจากการใช้ยารักษาลิ่มเลือดอุดตันในปอด ทั้งนี้การรักษายังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น หากป่วยเป็นมะเร็งชนิดที่มีความเสี่ยงต่อภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอดอาจต้องกินยารักษาไปตลอด แต่ถ้าหากมีความเสี่ยงลิ่มเลือดอุดตันในปอดจากการผ่าตัดทำให้ต้องนอนนิ่งเป็นเวลานาน อาจกินยารักษาเฉพาะช่วงที่มีการนอนพักรักษาตัว หากร่างกายเป็นปกติแล้วอาจหยุดยาได้

การป้องกันลิ่มเลือดอุดตันในปอด

สำหรับการป้องกันโรคลิ่มเลือดอุดตันในปอดที่สามารถควบคุมได้คือต้องปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราเอง โดยเฉพาะการสูบบุหรี่ ซึ่งมีผลต่อหลอดเลือดโดยตรง อาจทำให้หลอดเลือดบาดเจ็บ เสี่ยงต่อลิ่มเลือดอุดตันได้ รวมทั้งออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้น และควรดื่มน้ำมากๆ เพื่อป้องกันหลอดเลือดหนืด ซึ่งจะทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันในปอดได้

ข้อมูลอ้างอิง : โรงพยาบาลเวชธานี, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล