การเกิดแผล เป็นปัญหาสำคัญที่พบบ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน เพราะการเกิดแผลก่อให้เกิดพยาธิภาวะความพิการ และอาจทำให้ผู้ป่วยเบาหวานเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วยเบาหวานจึงควรดูแลและป้องกันไม่ให้เกิดแผล ซึ่งมีดังต่อไปนี้

1. การดูแลเท้า

1) ล้างเท้าเมื่อเท้าสกปรก ทำความสะอาดเท้าขณะอาบน้ำ โดยต้องไม่ละเลยการล้างสิ่งสกปรกตามซอกนิ้วและเล็บด้วย

2) เช็ดเท้าให้แห้ง เนื่องจากเท้าที่เปียกชื้นจะทำให้เชื้อโรคที่เท้าเจริญเติบโตเร็วขึ้น

3) ใช้โลชั่น หรือครีมบำรุงเท้า เพื่อไม่ให้ผิวที่เท้าและส้นเท้าแห้ง

4) ผู้ที่มีตาปลา หูด ปุ่มปม หรือหนังหนา ไม่ควรทำการรักษาด้วยตนเอง ผู้ป่วยบางรายที่ไปซื้อยาประเภทกรดซิลิไซลิกแอซิดมากัดเอง อาจทำให้ผิวหนังอักเสบได้ เพราะถ้าผิวหนังอักเสบจะเป็นแผลได้ง่าย จึงควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมและถูกต้อง

5) ผู้ที่มีเล็บเท้าที่ผิดรูป เล็บขบ ควรไปแพทย์เพื่อทำการรักษาที่เหมาะสมและถูกต้อง ซึ่งแพทย์อาจจะตัดเล็บให้ ถอดเล็บเพื่อให้เล็บใหม่ขึ้น หรืออาจให้ยาเพื่อหยุดการเจริญเติบโตของเล็บในบางส่วน

6) ผู้ที่ติดเชื้อราที่เล็บควรไปพบแพทย์ เนื่องจาก

- โดยมากเชื้อราที่เล็บเกิดขึ้นที่เล็บเท้ามากกว่าเล็บมือ
- ยาที่ใช้รักษาเชื้อรามีหลายชนิด ยารักษาเชื้อราบางชนิดมีผลข้างเคียงต่อตับ
- ยารักษาเชื้อราบางชนิด ทำให้ยาบางชนิดที่ผู้ป่วยรับประทานอยู่เป็นประจำมีผลลดลง
- ยาบางชนิดที่ผู้ป่วยรับประทานอยู่เป็นประจำทำให้ยารักษาเชื้อรามีผลลดลง
- การรักษาเชื้อราที่เล็บใช้ระยะเวลาในการรับประทานยาเป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน

7) ผู้ที่มีเท้าผิดรูป มีแง่งกระดูก นิ้วเท้าผิดรูป ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา

...

8) หมั่นตรวจดูความผิดปกติของเท้า เพื่อการรักษาที่ทันท่วงที

2. การใส่รองเท้า

● ไม่ใส่รองเท้าที่คับกัดส่วนใดส่วนหนึ่งของเท้าไม่ใส่รองเท้าที่มีพื้นรองเท้าแข็งรองเท้าที่นุ่มเดินสบายมีความสำคัญมากไม่เฉพาะผู้ป่วยเบาหวานเท่านั้น เพราะการสวมรองเท้ามีผลต่อระบบกระดูกสันหลังด้วย
● ผู้ป่วยเบาหวานควรใส่รองเท้าเสมอ หรือใส่รองเท้าผ้าเมื่ออยู่ในบ้าน
● การใส่รองเท้าตัดเฉพาะตามลักษณะของเท้าผู้ป่วยเบาหวานแต่ละราย

โรงพยาบาลหลายแห่งมีบริการประยุกต์รองเท้าตามลักษณะเท้าผู้ป่วยแต่ละรายเพื่อลดแรงกดในส่วนที่มีแรงกดมากที่อาจก่อให้เกิดแผล (หรือในส่วนที่เกิดแผล)

3. ความสะอาดของที่อยู่อาศัย และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ

● รักษาความสะอาดของบ้านพื้นบ้าน
● จัดวางข้าวของให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเพื่อลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุ
● รักษาความสะอาดของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน และผ้าห่ม ควรซักอย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 ครั้ง และตากให้แห้งสนิทเพื่อลดเชื้อโรค
● พื้นที่ภายในบ้านควรมีพื้นที่ในการเดินอย่างเพียงพอ

4. การปรับเปลี่ยนการปฏิบัติตัวบางประการ เพื่อช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุ เช่น

● รักษาสุขภาพลดโอกาสการเกิดโรคที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด
●การวางแจกันแก้วน้ำถ้วยกาแฟที่ร้อน ควรวางให้อยู่ภายในโต๊ะมากขึ้น
● เมื่อต้องใช้มีดเพื่อทำกับข้าว ควรใช้ด้วยความระมัดระวังไม่รีบร้อนไม่เหม่อลอย
● ขับรถระวังมากขึ้น

อย่าลืมว่าหากผู้ป่วยเบาหวานเกิดแผล แผลจะหายยาก เนื่องจากแผลสามารถเกิดได้ทุกที่ ศีรษะ มือ แขน ไม่เฉพาะที่ขา เท้า หรือนิ้วเท้าเท่านั้น

แหล่งข้อมูล

ศ. นพ.จุมพล วิลาศรัศมี ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล