การศึกษาฉบับใหม่ของสมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกา ได้ท้าทายต่อการวางแผนรักษาสุขภาพด้วยวิธีการ IF หรือ Intermittent Fasting โดยมีความเสี่ยงที่อาจเสียชีวิตจากโรคหัวใจเพิ่ม 91 เปอร์เซ็นต์
สมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกา หรือ American Heart Association เปิดเผยงานวิจัยฉบับใหม่ ระบุว่า การทำ Intermittent Fasting หรือการรับประทานอาหารแบบเว้นช่วงการอดอาหารด้วยแผน 16-8 แบ่งเป็นการอดอาหาร 16 ชั่วโมง และรับประทานอาหาร 8 ชั่วโมง มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 91 เปอร์เซ็นต์
การวิจัยครั้งนี้ จัดทำโดย ดร.วิคเตอร์ จง จากมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวทง ได้วิเคราะห์ผู้ใหญ่ในสหรัฐอเมริกาจำนวน 2 หมื่นคน ที่มีอายุเฉลี่ย 49 ปี และทำ IF ด้วยแผน 16-8
จากการศึกษาซึ่งนำเสนอในที่ประชุมสัมมนาวิชาการ AHA’s Epidemiology and Prevention ในชิคาโก อิลลินอยส์ พบว่าผู้ที่จำกัดการรับประทานอาหารเพียง 8 ชั่วโมงต่อวัน มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่าผู้ที่รับประทานอาหาร 12-16 ชั่วโมง ในบรรดาผู้เข้าร่วมวิจัยที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ถ้ามีระยะเวลารับประทานอาหาร 8-10 ชั่วโมงต่อวัน มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นประมาณ 66 เปอร์เซ็นต์
ขณะเดียวกัน ผู้เข้าร่วมการวิจัยที่เป็นโรคมะเร็ง แต่มีการรับประทานอาหารมากกว่า 16 ชั่วโมงต่อวัน กลับพบว่ามีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจน้อยกว่า อีกทั้งนักวิจัยยังพบว่าการรับประทานอาหารด้วยความเข้มงวดด้านเวลาการกิน ไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตจากสาเหตุใดก็ตาม
เป็นที่ทราบกันดีว่า การทำ IF เป็นที่นิยมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ในระยะยาวแล้วยังไม่มีความชัดเจนแน่ชัดว่าการจำกัดชั่วโมงการรับประทานอาหาร มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือไม่ อีกทั้งการรับประทานอาหารด้วยชั่วโมงที่น้อยกว่า 12-16 ชั่วโมง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำให้มีอายุที่ยืนยาวขึ้น
...
การศึกษาทั้งหมดนี้ เก็บข้อมูลจาก National Health and Nutrition Examination Surveys จากปี 2003-2018 แล้วเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของ Centers for Disease Control and Prevention’s National Death Index ในสหรัฐอเมริกาจากปี 2003 จนถึงธันวาคม 2019
นักวิจัยยอมรับว่าการศึกษาครั้งนี้ยังมีข้อจำกัด เนื่องจากเป็นการอาศัยข้อมูลการบริโภคอาหารด้วยตัวเอง และยังขาดปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้เข้าร่วมการวิจัย
ดร.วิคเตอร์ จง กล่าวเสริมว่า การทำ IF ในช่วงเวลาสั้นๆ ประมาณ 3 เดือน อาจส่งผลดีในด้านการลดน้ำหนัก และการพัฒนาระบบเมแทบอลิซึมในร่างกายให้ดีขึ้น แต่การทำ IF ต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี ก็อาจเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังเช่นกัน
สำหรับการลดน้ำหนักแบบ IF เคยมีงานวิจัยในอดีต ระบุว่า สามารถช่วยลดปัญหาความดันโลหิต และช่วยลดน้ำหนักลงได้ในลักษณะเดียวกับการนับการบริโภคแคลอรี และการรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ