“มะเร็งช่องปาก” เป็นหนึ่งในกลุ่มมะเร็งศีรษะและลำคอ ซึ่งเป็นมะเร็งที่เกิดบริเวณส่วนใดก็ตามในช่องปาก ได้แก่ ลิ้น กระพุ้งแก้ม ริมฝีปาก เหงือก เพดานปาก และพื้นใต้ลิ้น มักเกิดในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และจะพบมากในกลุ่มคนที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของการเป็นมะเร็งช่องปาก เกิดจากหลายสาเหตุ เริ่มตั้งแต่อาหารการกิน การเคี้ยวหมากพลู การสูบบุหรี่ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงมากถึง 3 เท่า การดื่มแอลกอฮอล์จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งในช่องปาก ถ้าสูบบุหรี่ร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์ ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากกว่า 10 เท่า การมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ นอกจากนี้การใช้อุปกรณ์ในช่องปาก เช่น การใส่ฟันปลอมที่หลวมเกินไป ทำให้เกิดแผลเรื้อรัง ก็ทำให้เป็นมะเร็งในช่องปากได้เช่นกัน

อาการ

สามารถเกิดได้ทุกตำแหน่งในช่องปาก โดยมีลักษณะเริ่มต้นเป็นโรคที่เป็นรอยแดง สีขาว หรือสีขาวปนแดง เกิดได้ทุกบริเวณ หรือเป็นกลุ่มแผลเรื้อรัง คล้ายกับแผลร้อนใน ต่างตรงที่แผลร้อนในจะหายเองใน 1-2 สัปดาห์ แต่แผลมะเร็งมักจะเป็นนานมากกว่า 1 เดือน และไม่หาย บางครั้งแผลจะเป็นเรื้อรัง และลึกลงไป หรือเป็นแผลนูนขึ้นมาคล้ายหงอนไก่ หรือดอกกะหล่ำ

นอกจากนี้ยังอาจมีอาการร่วมอย่างอื่น เช่น อาการชา เลือดออกไม่ทราบสาเหตุ เคี้ยวอาหารแล้วเจ็บ กลืนติด กลืนลำบาก คลำได้ก้อนต่อมน้ำเหลือง

...

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยโรคมะเร็งช่องปากอาจตรวจพบจากทันตแพทย์ เช่น เหงือกบวมโต หรือมีลักษณะของเนื้อเยื่อที่ผิดปกติไป หรือเป็นลักษณะแผลในช่องปาก

หากมีอาการที่สงสัยควรไปพบแพทย์หูคอจมูกเพื่อตรวจประเมิน ซึ่งอาจมีการใช้อุปกรณ์เพิ่มเติม เช่น อุปกรณ์ส่องกล้องทางจมูก ส่องกล้องลำคอ เมื่อพบจุดที่สงสัย เช่น พบรอยจุด ก้อนหรือรอยนูน อาจจะต้องมีการเจาะชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจยืนยันผลด้วย โดยการตัดชิ้นเนื้อสามารถทำได้ที่ OPD ถ้าเนื้องอกเหล่านี้อยู่ในตำแหน่งตื้นๆ หรืออยู่ในตำแหน่งที่ไม่มีผลต่อทางเดินหายใจ หรือไม่ทำให้มีอาการเลือดออกมาก แต่ถ้าตำแหน่งที่ค่อนข้างมีความเสี่ยงสูง ก็จะต้องทำในห้องผ่าตัด

เมื่อได้ผลชิ้นเนื้อออกมายืนยันว่าเป็นมะเร็งแล้ว ต่อมาก็อาจจะต้องไปถ่ายภาพรังสีเพิ่มเติม เพื่อหาการกระจาย เพื่อยืนยันระยะของโรค และวางแผนการรักษาต่อไป

การรักษา

การรักษาหลักคือ การผ่าตัด หลังจากนั้นจะเป็นการฉายรังสี หรือการให้เคมีบำบัดเพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับขนาด ตำแหน่งและชนิดของมะเร็ง และสุขภาพพื้นฐานของผู้ป่วยด้วย แต่ถ้าเป็นระยะลุกลามแล้ว การรักษาจะเป็นการรักษาแบบประคับประคอง หรือให้เคมีแบบประคับประคอง

การป้องกัน

สามารถทำได้โดยการดูแลสุขภาพทั่วไป ดังนี้

1. รับประทานอาหารที่ดี มีประโยชน์ ให้ครบ 5 หมู่
2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
3. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
4. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการเคี้ยวหมาก
5. ดูแลตนเองอย่างสม่ำเสมอ โดยการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี

หากช่องปากมีความผิดปกติ หรือเป็นแผลร้อนในนานเกิน 2 สัปดาห์ ควรรีบไปพบแพทย์หู คอ จมูก เพื่อหาสาเหตุ และแนวทางการรักษา เนื่องจากการตรวจพบมะเร็งในช่องปากในระยะเริ่มต้นสามารถรักษาให้หายได้

แหล่งข้อมูล

อ.พญ.โยษิตา หมื่นแก้ว ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล