โด่งดังในฐานะคุณหมอผู้หลงใหลการเดินทางและการถ่ายภาพเพื่อบอกเล่าประสบการณ์มุมมองชีวิต ล่าสุด “หมอเปียง–นพ.กันตพงศ์ ทองรงค์” เปิดโลกใหม่สู่สายเวชศาสตร์ฟื้นฟู (Rehabilitation Medicine) โดยก่อตั้งคลินิกเป็นของตัวเอง ภายใต้ชื่อ “PYONG Rehabilitation Clinic” (เปียง รีแฮบบิลิเทชั่น คลินิก) ที่ชั้น L เกษรวิลเลจ มุ่งเน้นการดูแลรักษาเป็นองค์รวมสําหรับอาการปวดทุกระยะโรค เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“ผมเป็นหมอท่องเที่ยวที่พาไปเก็บคอนเทนต์เล่าเรื่องต่างๆ ซึ่งระหว่างที่ทำเพจของตัวเองคือ “Pyong Traveller X Doctor” ได้ไปศึกษาต่อเฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟู ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และตอนนี้มาเปิดคลินิกของตัวเอง ชื่อว่า “PYONG Rehabili tation Clinic” ถามว่าทำไมสนใจด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู เพราะเป็นสาขาที่ให้ความสำคัญกับไลฟ์สไตล์และคุณภาพชีวิต หลายโรคที่เกี่ยวข้องกับสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟูเป็นโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ, กระดูก และเส้นเอ็น ซึ่งจำนวนมากมาจากพฤติกรรมของเราเอง สามารถรักษาได้ด้วยการออกกำลังกายอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ”

...

“เวชศาสตร์ฟื้นฟู” เป็นสาขาที่ใหญ่มาก ประกอบด้วยสหสาขาวิชาชีพ “เวชศาสตร์ฟื้นฟู” จะพูดถึงการทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นเท่าเดิมหรือดีขึ้นกว่าเดิม และป้องกันไม่ให้แย่ลง ผู้ป่วยในสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟูส่วนใหญ่เป็นคนที่อาจจะผ่านโรคต่างๆและการวินิจฉัยรักษามาแล้ว กำลังเข้าสู่ระยะของการฟื้นฟู ซึ่งการฟื้นฟูจะเป็นเหมือนเสาหลักหลังจากที่หายจากอาการของโรคนั้นๆ เพื่อทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้ปกติมากที่สุด

...

“เวชศาสตร์ฟื้นฟู” ยังรวมถึงโรคอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับคนทั่วไปด้วย เช่น อาการปวดทั่วไป และออฟฟิศซินโดรม ที่เป็นโรคฮิตของคนยุคปัจจุบัน คอนเซปต์ของการฟื้นฟูคือ การทำให้คุณภาพชีวิตกลับมาดีเท่าเดิมหรือดีขึ้นกว่าเดิม คือทำอย่างไรก็ได้ให้อาการปวดมันหายไป หน้าที่ของหมอฟื้นฟูจึงไม่ใช่หมอวินิจฉัยที่ให้ยาแล้วจบ แต่หมอฟื้นฟูจะต้องให้คำแนะนำเป็นยา และให้การออกกำลังกายเป็นยา เพื่อให้คนไข้ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์

...

“ผมแนะนำคนไข้เสมอว่าให้ทำเช้าเย็น ให้มองว่าการออกกำลังกายเป็นยาตัวหนึ่งที่หมอให้ มันก็จะมีท่าทางออกกำลังกายพิเศษ ที่ต้องทำสำหรับโรคนั้นๆ ฉะนั้นถ้าอยากหายคุณต้องทำทุกวัน แล้วเวลาออกกำลังกายเราก็ไม่ได้บอกแค่ว่าไปออกกำลังกายนะ แต่จะบอกถึงความถี่ จำนวนครั้ง ช่วงเวลาที่ต้องทำ ความหนักของมัน แล้วแต่ว่าเพื่อรักษาอะไร มันก็จะมีความเจาะจงที่เป็นเสน่ห์เฉพาะของเวชศาสตร์ฟื้นฟู ซึ่งเน้นการให้คำปรึกษาและการรักษาที่ไม่ใช้ยา”

...

เพราะเชื่อว่าการดูแลที่ปรับให้เหมาะสมเฉพาะบุคคล คือกุญแจสู่ผลการรักษาที่ดีขึ้น ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว “หมอเปียง” จึงผสมผสานวิทยาการสมัยใหม่หลากหลายแขนงเข้ากับเวชศาสตร์ฟื้นฟู เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้รับการรักษาที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการปักเข็มแผนตะวันตก (Dry Needling) เพื่อลดอาการปวดเรื้อรัง, การใช้แสงเลเซอร์กําลังสูง (High Power Laser Treatment) ลดการหลั่งสารที่ก่อให้เกิดอาการปวดและอาการอักเสบ และการกระตุ้นแม่เหล็กไฟฟ้า (Peripheral Magnetic Stimulation) ทำให้อาการปวดจากระบบเส้นประสาท และกล้ามเนื้อลดลง โดยกลุ่มโรคที่รักษาด้วยเครื่อง PMS และให้ผลการรักษาดีขึ้นชัดเจน ครอบคลุมตั้งแต่อาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง, อาการปวดจากความเสื่อมของกระดูกสันหลัง ส่วนคอและเอว, การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา และอาการชาจากปลาย ประสาทอักเสบ

สำหรับอาการที่พบบ่อยที่สุดในยุคปัจจุบัน “หมอเปียง” ยกให้ “ออฟฟิศซินโดรม” นำมาเป็นอันดับหนึ่ง ในทางการแพทย์มันคือ “Myofascial Pain” เป็นอาการปวดเรื้อรัง ที่เกิดจากกล้ามเนื้อและองค์ประกอบของกล้ามเนื้อต่างๆทำงานผิดปกติไป โดยอาการปวดมีหลากหลาย บางทีร้าวไปจุดอื่นๆด้วย ถามว่าปวดแค่ไหนถึงควรไปหาหมอ คือเริ่มส่งผลรบกวนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต, ทำให้ฟังก์ชันการใช้ชีวิตผิดปกติ, รบกวนการนอน หรือส่งผลต่อสภาพอารมณ์ แบบนี้จะไม่ใช่แค่การปวดเมื่อยธรรมดาๆแล้ว บางทีอาจมีสาเหตุมาจากความเสื่อมของกระดูกสันหลัง ส่วนคอ และเอว ปล่อยทิ้งไว้นานอาจลุกลามถึงขั้นวิกฤติ.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่