- ผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายหลายประการ ที่อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะฉุกเฉินบางอย่างมากขึ้น เช่น ผนังทรวงอกแข็ง ไม่ยืดหยุ่น และมีปริมาณกล้ามเนื้อทรวงอกลดลง ทำให้เหนื่อยง่ายขึ้น เสี่ยงต่อการสําลักอาหารในผู้สูงอายุ และการติดเชื้อในปอดมากขึ้น
- ผู้สูงอายุมักมีความไวในการตอบสนองของปลายประสาทรับแรงดันลดลง รวมทั้ง ความยืดหยุ่นของผนังหลอดเลือดลดลง เสี่ยงต่อภาวะความดันเลือดตกเมื่อเปลี่ยนท่าทาง ทำให้ผู้สูงอายุเป็นลมได้ง่าย
- ภาวะสมองฝ่อ ทำให้เลือดออกในสมองง่ายขึ้น เมื่อเนื้อสมองน้อยลง หากแม้ได้รับอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย ก็เกิดการฉีกขาดของหลอดเลือดดำระหว่างผิวสมองกับเยื่อหุ้มสมองได้ง่าย
- หากเกิดเหตุฉุกเฉินในผู้สูงอายุ โทร 1669 หรือโทร 02-022-2222 กด 5 ศูนย์ฉุกเฉินและภาวะวิกฤติผู้สูงอายุ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์
ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายในวัยสูงอายุที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะฉุกเฉิน
ผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายหลายประการ ที่อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะฉุกเฉินบางอย่างมากขึ้น หรือมีความแตกต่างในการดูแล ความเปลี่ยนแปลงตามระบบต่างๆ ของผู้สูงอายุ มีดังนี้
ระบบทางเดินหายใจ
- พื้นที่และความสามารถในการแลกเปลี่ยนก๊าซของปอดลดลง และเนื่องจากผู้สูงอายุมีผนังทรวงอกแข็ง ไม่ยืดหยุ่น และมีปริมาณกล้ามเนื้อทรวงอกลดลง ทำให้เหนื่อยง่ายขึ้น เสี่ยงต่อการสำลักและการติดเชื้อในปอดมากขึ้น หรือหากได้รับการบาดเจ็บบริเวณทรวงอก จะทำให้เกิดภาวะปอดช้ำได้ง่าย
- ผู้สูงอายุมีความสามารถในการตอบสนองต่อภาวะขาดออกซิเจน หรือภาวะคาร์บอนไดออกไซด์คั่งลดลง ทำให้เกิดภาวะหายใจล้มเหลวได้ง่ายและรวดเร็ว
...
ระบบหัวใจและหลอดเลือด
- หลอดเลือดแดงของผู้สูงอายุจะแข็งตัวขึ้น ไม่ยืดหยุ่น ผนังหนาตัวขึ้น ทำให้เสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูงและหลอดเลือดอุดตันได้ง่ายขึ้น
- ความไวในการตอบสนองของปลายประสาทรับแรงดันลดลง รวมทั้งความยืดหยุ่นของผนังหลอดเลือดลดลง เสี่ยงต่อภาวะความดันเลือดตกเมื่อเปลี่ยนท่าทาง ทำให้ผู้สูงอายุเป็นลมได้ง่าย
- เซลล์สร้างไฟฟ้าและเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจมีความเสื่อมลง เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจตอบสนองต่อภาวะขาดน้ำ ขาดเลือดได้น้อยลง และเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวได้ง่ายขึ้น
ระบบทางเดินอาหาร
- ความอยากอาหารลดลง การรับรสลดลง ทำให้เบื่ออาหาร
- มีฟันผุ ฟันหลุดร่วง การผลิตน้ำลายลดลง ทำให้ยากต่อการเคี้ยวและกลืน กลืนลำบาก สำลักได้ง่าย
- น้ำย่อยและการบีบตัวของลำไส้ลดลง ทำให้ใช้เวลาในการย่อยอาหารนาน ท้องอืดง่ายขึ้น
- มีภาวะท้องผูก จากการลดลงของเซลล์ประสาท ทำให้อุจจาระเคลื่อนที่ผ่านลำไส้ใหญ่ได้ช้าลง
ระบบทางเดินปัสสาวะ
- กระเพาะปัสสาวะมีขนาดเล็กลง กล้ามเนื้อหูรูดทางเดินปัสสาวะทำงานได้ไม่ดี มีปัญหาทำให้ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ปัสสาวะเล็ด
- ผู้สูงอายุชาย อาจมีภาวะต่อมลูกหมากโต ต้องปัสสาวะบ่อยขึ้น เบ่งปัสสาวะนาน
- ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะขาดน้ำ จากการทำงานที่ลดลงของศูนย์กระตุ้นความกระหายน้ำ
ระบบประสาท
- ระบบประสาทและสมองทำงานได้ลดลง ความคิดช้าลง ความจำลดลง
- การตอบสนองต่อสิ่งเร้าลดลง การทรงตัวไม่ดี ทำให้เสี่ยงต่ออุบัติเหตุได้ง่ายขึ้น
- เสี่ยงต่อภาวะความจำเสื่อม (dementia) และภาวะหลง (delirium) มากขึ้น
- เลือดออกในสมองง่ายขึ้นจากการที่มีสมองฝ่อ เนื้อสมองน้อยลง ทำให้แม้ได้รับอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย ก็เกิดการฉีกขาดของหลอดเลือดดำระหว่างผิวสมองกับเยื่อหุ้มสมองได้ง่าย
- หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม ทำให้เกิดการแตกหักของกระดูกสันหลังง่ายขึ้น
ระบบผิวหนัง กระดูกและกล้ามเนื้อ
- มวลกล้ามเนื้อลดลง กล้ามเนื้อลีบลง กระดูกเปราะและหักง่าย
- ไขมันในชั้นผิวหนังลดลง ทำให้ประสบปัญหาในการควบคุมอุณหภูมิร่างกาย
- อุณหภูมิร่างกายต่ำหรือสูงเกินไปได้ง่าย รวมทั้งเกิดบาดแผลฉีกขาดที่ผิวหนังได้ง่ายมากขึ้น
- การรับสัมผัสลดลง อาจเกิดอุบัติเหตุ เช่น การพลัดตกหกล้ม หรือภาวะแทรกซ้อนจากอุณหภูมิที่สูงหรือต่ำเกินไปได้ง่ายขึ้น
...
ระบบต่อมไร้ท่อ
- การทำงานของฮอร์โมนต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงไป เกิดภาวะวัยทอง เสี่ยงต่อโรคต่างๆ ได้ง่ายขึ้น เช่น เบาหวาน ไทรอยด์ เป็นต้น
ระบบภูมิคุ้มกัน
- ภูมิคุ้มกันทำงานลดลง ทำให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
ลักษณะพิเศษของผู้สูงอายุที่ต่างจากวัยอื่น
การเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย ทำให้ผู้สูงอายุมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากวัยอื่น หรือที่เรียกว่า “RAMPS”
- R: Reduced body reserve สมรรถภาพทางกายเสื่อมถอย
เช่น ระบบต่างๆ ของร่างกาย ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว - A: Atypical presentation อาการแสดงที่ไม่ตรงไปตรงมา
เมื่อผู้สูงอายุมีการเจ็บป่วย จะมีอาการแสดงที่ไม่ตรงไปตรงมาเหมือนในกลุ่มผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า เช่น การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ อาจไม่มีไข้ ไม่มีอาการปัสสาวะขุ่นแสบขัด หรือในกรณีภาวะหัวใจขาดเลือด อาจไม่มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก มีเพียงอาการเหนื่อย หายใจไม่อิ่ม อ่อนแรง ทำให้ยากต่อการวินิจฉัยและรักษา ต้องมีการส่งตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการมากขึ้น อาจทำให้การวินิจฉัยล่าช้าและคลาดเคลื่อน ส่งผลต่อผลการรักษาได้ - M: Multiple pathology การมีโรคร่วมหลายโรค
ผู้สูงอายุมักมีโรคประจำตัวหลายอย่าง ซึ่งการมีโรคร่วมอาจเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดโรคอื่นๆ หรือทำให้โรคอื่นๆ กำเริบมากขึ้นได้ เช่น ผู้ป่วยที่มีภาวะเบาหวาน เมื่อมีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะและมีไตวายเฉียบพลัน แต่หากควบคุมภาวะเบาหวานได้ไม่ดี มีภาวะไตเสื่อมอยู่เดิม แม้เมื่อหายจากการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะแล้ว การทำงานของไตก็อาจกลับมาทำงานได้ไม่เท่าปกติเหมือนในผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่าและไม่มีโรคร่วมอยู่เดิม เป็นต้น - P: Polypharmacy การใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน
จากการที่ผู้สูงอายุมักมีโรคประจำตัวหลายโรคและการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาที่ทำให้เจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น จึงทำให้มีโอกาสในการใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน โดยยาเหล่านี้รวมถึงยาที่แพทย์สั่งเพื่อรักษาหรือบรรเทาอาการ ยาสามัญประจำบ้านหรือที่ซื้อเองจากร้านขายยา สมุนไพร และอาหารเสริมต่างๆ ที่ใช้ป้องกันโรค ซึ่งในบางครั้งการใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน ก็อาจทำให้ผลข้างเคียงของยาเพิ่มขึ้น หรือทำให้ยาบางชนิดออกฤทธิ์ได้ไม่ดีเท่าที่ควร อาจทำให้หลงลืมในการรับประทานยา รับประทานยาไม่ครบหรือเกินขนาดได้ - S: Social adversity การที่ต้องพึ่งพิงผู้อื่นมากขึ้น
เมื่อมีความเสื่อมตามอายุหรือเกิดการเจ็บป่วยต่างๆ ขึ้น ทำให้ผู้สูงอายุไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันด้วยตัวเองได้ ต้องพึ่งพิงลูกหลาน ครอบครัว หรือชุมชน ในการดูแลมากขึ้น หากมีครอบครัวและสังคมที่พร้อมสนับสนุน ก็จะทำให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข ในทางกลับกันหากถูกปล่อยปละละเลย ก็อาจเกิดปัญหาทั้งในด้านสุขภาพ จิตใจ และสังคมได้
...
ภาวะฉุกเฉินที่พบบ่อยในผู้สูงอายุและการดูแล
ภาวะฉุกเฉินคือภาวะที่ผู้สูงอายุได้รับการบาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยอย่างกะทันหัน ต้องการการดูแลรักษาอย่างเร่งด่วน โดยภาวะฉุกเฉินที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ มีดังนี้
- ภาวะหยุดหายใจ หัวใจหยุดเต้น
ภาวะหยุดหายใจ หัวใจหยุดเต้น พบได้มากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น นับเป็นภาวะฉุกเฉินที่แท้จริง เกิดจากการทำงานผิดปกติของร่างกาย ทำให้หัวใจไม่สามารถทำงาน หรือร่างกายไม่สามารถหายใจนำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยอาจเกิดจากหัวใจทำงานผิดปกติ ทางเดินหายใจอุดกั้น อุบัติเหตุ เช่น จมน้ำ ไฟดูด การได้รับสารพิษ จะมีอาการ เช่น หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ หรือหายใจเฮือก
การช่วยเหลือ เมื่อผู้สูงอายุหมดสติ
1. การดูแลเบื้องต้น ควรโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือ โทร 1669 หรือโทร 02-022-2222 กด 5 ศูนย์ฉุกเฉินและภาวะวิกฤติผู้สูงอายุ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์
2. ตรวจสอบการมีสติของผู้สูงอายุโดยการเรียกและตบไหล่ หากไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจให้ทำการช่วยเหลือโดยการกดหน้าอกและช่วยหายใจ การกดหน้าอกทำได้โดยการกดลงที่ตำแหน่งกึ่งกลางของหน้าอกระหว่างราวนมทั้ง 2 ข้าง ด้วยความเร็ว 100-120 ครั้งต่อนาที นาน 30 ครั้ง สลับกับการช่วยหายใจโดยการเป่าปาก 2 ครั้ง ทำซ้ำ 5 รอบ แล้วประเมินผู้ป่วยซ้ำ
3. หากไม่สะดวกช่วยหายใจ ให้ทำการกดหน้าอกเพียงอย่างเดียวระหว่างที่รอความช่วยเหลือจากบุคลากรทางการแพทย์
...
- ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เกิดจากการที่เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจมีการตีบหรือตัน ทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่ได้ หัวใจมีการขาดเลือด หากทิ้งไว้เป็นเวลานานจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย และเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก เหมือนมีอะไรมาทับ อาจมีปวดร้าวไปที่กรามหรือแขน หายใจไม่สะดวก เหงื่อแตก ใจสั่น บางคนมีอาการขณะออกแรง เมื่อพักแล้วดีขึ้น
การดูแลเบื้องต้น หากผู้ป่วยมีอาการขณะออกแรง ให้นั่งพัก งดการออกแรงหรือกิจกรรมต่างๆ ทันที หากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวเป็นโรคหัวใจ และแพทย์แนะนำให้ยาอมใต้ลิ้นเมื่อมีอาการ ให้อมยาอมใต้ลิ้น และนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยด่วน
- การพลัดตกหกล้ม
การพลัดตกหกล้ม เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ อาจเกิดจากปัจจัยภายใน เช่น ความแข็งแรงของผู้สูงอายุ การมองเห็นที่ผิดปกติ การทรงตัวไม่ดี วูบ หน้ามืดจากความดันโลหิตต่ำ กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือปัจจัยภายนอก เช่น การวางของระเกะระกะ พื้นลื่น ไม่มีราวจับ แสงไฟที่ไม่สว่างเพียงพอ เป็นต้น
การดูแลเบื้องต้น ระวังอย่าเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเองหากไม่แน่ใจว่ามีการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังหรือไม่ ให้โทรขอความช่วยเหลือ และรอรถพยาบาลไปรับ หากไม่มีการบาดเจ็บบริเวณกระดูกสันหลัง แต่สงสัยว่ามีกระดูกหักหรือเคลื่อน ให้ดามบริเวณที่ปวดและนำส่งโรงพยาบาล หากมีแผลให้ล้างแผลหรือใช้ผ้าสะอาดปิดแผลไว้ก่อนนำส่งโรงพยาบาล
- ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
คือภาวะที่มีระดับน้ำตาลในเลือดน้อยกว่า 70 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ มักพบในผู้ป่วยเบาหวาน หรือผู้ป่วยที่มีภาวะถ่ายเหลวท้องเสีย และไม่สามารถรับประทานอาหารได้ จะมีอาการมือสั่น ตัวสั่น ใจสั่น มึนงง เวียนศีรษะ หน้ามืด หากเป็นรุนแรงจะหมดสติ ซึม
การดูแลเบื้องต้น หากผู้ป่วยยังสามารถรับประทานได้ ให้ดื่มน้ำหวานหรืออาหารที่มีรสหวาน หากผู้ป่วยเริ่มซึม ห้ามให้รับประทานสิ่งใด เพราะอาจสำลักได้ ให้เรียกรถพยาบาลหรือนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว
- ภาวะท้องเสีย อาหารเป็นพิษ
ผู้สูงอายุมีภูมิคุ้มกันต่ำ สามารถเกิดภาวะท้องเสียและอาหารเป็นพิษได้ง่าย โดยเกิดจากการรับประทานอาหารที่ไม่สะอาด มีการปนเปื้อนเชื้อโรค โดยจะมีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลว ในบางรายอาจมีมูกหรือเลือดปน คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย อาจมีไข้ ปวดท้อง
การดูแลเบื้องต้น หากผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง ให้จิบน้ำและน้ำเกลือแร่ และรับประทานอาหารอ่อนจนกว่าอาการจะดีขึ้น ไม่ควรรับประทานยาหยุดถ่าย ยกเว้นได้รับคำแนะนำจากแพทย์ หากมีอาการรุนแรง เช่น เหนื่อยเพลียมาก กินไม่ได้ ซึมลง มีไข้สูง คลื่นไส้อาเจียนมาก ปวดท้องมาก ควรนำส่งโรงพยาบาล
หากเกิดเหตุฉุกเฉินในผู้สูงอายุ โทร 1669 หรือโทร 02-022-2222 กด 5 ศูนย์ฉุกเฉินและภาวะวิกฤติผู้สูงอายุ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์
ขอบคุณข้อมูล : พญ.เพ็ญศิริ บุรินทร์กุล แพทย์ด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์