ปัจจุบันวิตามินหรืออาหารเสริมนั้นสามารถหาซื้อมากินเองได้ง่ายเหมือนการซื้อขนม แต่รู้หรือไม่ว่า! การที่ร่างกายได้รับสารอาหารบางอย่างมากเกินไปอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ วันนี้ พญ.อรกมล อินกองงาม แพทย์ผู้ชำนาญการด้าน ‘เวชศาสตร์ชะลอวัย’ โรงพยาบาลพญาไท 3 มีข้อมูลดีๆ มาฝากว่า หากเราต้องการที่จะปรับระดับวิตามินในร่างกายให้สมดุลและเพียงพอนั้นจะต้องทำอย่างไร? และทำไมวิตามินจึงมีผลต่อความแข็งแรงและช่วยให้ดูอ่อนวัยกว่าอายุจริงได้

วิตามินคืออะไร?

พญ.อรกมล อธิบายว่า วิตามินเป็นกลุ่มสารประกอบอินทรีย์ที่มีความจำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย ซึ่งเราจะต้องได้รับจากการกินอาหารประเภทต่างๆ เพราะร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์ได้เอง (ยกเว้นวิตามินดี ที่จะมีการสังเคราะห์ที่ผิวเมื่อได้รับแสงแดด) โดยวิตามินแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ

  • วิตามินที่ละลายในน้ำ เช่น วิตามินบี และวิตามินซี
  • วิตามินที่ละลายในไขมัน เช่น วิตามินเอ, ดี, อี และวิตามินเค

วิตามินแต่ละชนิด มีหน้าที่และประโยชน์ต่อร่างกายต่างกันอย่างไร?

  • วิตามินเอ เกี่ยวกับสายตาและการเจริญเติบโต
  • วิตามินบี เกี่ยวกับระบบประสาท การสร้างพลังงานและเม็ดเลือด
  • วิตามินซี เกี่ยวกับการสร้างคอลลาเจน และเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ
  • วิตามินดี เกี่ยวกับกระดูก
  • วิตามินอี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ
  • วิตามินเค เกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือดและกระดูก

...

ชะลอวัยได้ ด้วยวิตามิน

เหตุผลที่วิตามินช่วยชะลอวัยนั้น พญ.อรกมล บอกว่า เพราะวิตามินจะช่วยให้ร่างกายทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทั้งการสร้างพลังงาน การสร้างภูมิคุ้มกันโรค การซ่อมแซมร่างกาย รวมถึงการต้านอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะวิตามินกลุ่มที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ คือ วิตามินเอ วิตามินซี และวิตามินอี

ทั้งนี้ ในประเทศไทยมีคำแนะนำถึงขนาดของวิตามินที่ควรได้รับในแต่ละวัน เรียกว่า Thai recommended daily intakes หรือ Thai RDI เพื่อให้การทำงานของร่างกายเป็นปกติ และไม่เกิดโรคขาดวิตามินที่รุนแรง

ใครบ้าง เสี่ยงขาดวิตามิน?

เพราะอาหาร คือแหล่งที่มาของวิตามินที่ดีที่สุด ซึ่ง พญ.อรกมล ได้บอกว่า การรับประทานอาหารที่หลากหลายตามหลักโภชนาการจะช่วยให้เราได้รับวิตามินอย่างครบถ้วนและเพียงพอ ซึ่งในปัจจุบันไม่ค่อยพบการขาดวิตามินในคนไทยเหมือนในอดีต แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องระวังถึงปัจจัยเหล่านี้เพราะเป็นสาเหตุที่ทำให้ร่างกายมีวิตามินไม่เพียงพอ

  • การเป็นผู้สูงอายุ
  • การงดรับประทานเนื้อสัตว์
  • การผ่าตัดกระเพาะหรือลำไส้
  • การกินยาบางอย่างที่ทำให้ร่างกายดูดซึมวิตามินบางชนิดลดลง
  • การได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ
  • การมีพฤติกรรมที่ทำให้ร่างกายสูญเสียวิตามินอย่างรวดเร็ว เช่น ดื่มสุรา สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน

อาการแบบนี้ อาจเพราะ “ขาดวิตามิน”

การขาดวิตามินแบ่งเป็น 2 กรณี คือ

  • ขาดวิตามินแบบชัดเจน จนเกิดโรคหรืออาการแสดง เช่น การขาดวิตามินบี 12 และโฟเลต ทำให้เกิดความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง หรือการขาดวิตามินซี ทำให้เหงือกบวม เลือดออกตามไรฟัน เป็นต้น
  • ขาดวิตามินแบบไม่พอเพียง (suboptimal vitamin intake) เช่น ขาดวิตามินบี 12 จากการกินมังสวิรัติ ทำให้มีอาการไม่สบายทางกายอย่างการอ่อนเพลีย ไม่สดชื่น การเผาผลาญพลังงานไม่ดี นอนไม่หลับ ผิวพรรณไม่สดใส เป็นต้น ซึ่งแพทย์มักจะซักประวัติและตรวจร่างกาย เพื่อให้ทราบถึงการใช้ชีวิตประจำวัน การรับประทานอาหาร อันเป็นสาเหตุใหญ่ๆ ของการขาดวิตามิน

เช็กได้ไม่ยาก เราขาดวิตามินอะไร?

พญ.อรกมล บอกว่า ปัจจุบันเราสามารถตรวจวิตามินหลักๆ และสารต้านอนุมูลอิสระได้อย่างครบถ้วน เช่น วิตามินเอ (เบต้า อัลฟาแคโรทีน และไลโคปีน) วิตามินบี วิตามินซี วิตามินดี วิตามินอี (อัลฟาและแกมม่าโทโคฟีรอล) โคเอนไซม์คิวเทน รวมทั้งสามารถตรวจแร่ธาตุต่างๆ ที่ร่างกายต้องใช้ร่วมกันในการทำงานของวิตามินต่างๆ ด้วย

โดยแพทย์ด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยจะพูดคุย เพื่อซักประวัติและวิเคราะห์ปัญหาของแต่ละคน ว่าการใช้ชีวิตประจำวันมีผลต่อสุขภาพอย่างไร แพทย์จะแนะนำให้ตรวจเลือดเพื่อดูระดับของวิตามินที่สงสัยว่าไม่เพียงพอ เมื่อได้ผลเลือดแล้วจะแนะนำการปรับวิตามินให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสม ไม่สูงหรือต่ำเกินไป แนะนำอาหารที่เป็นแหล่งของวิตามิน และขนาดของวิตามินที่ควรรับประทานเสริม ซึ่งสามารถจัดทำวิตามินเฉพาะบุคคลเพื่อแก้ปัญหาเป็นรายกรณีได้

ซื้อวิตามินกินเอง ยังไง… ไม่ให้เสี่ยง

พญ.อรกมล บอกว่า การซื้อวิตามินกินเองในช่วงที่ร่างกายมีความเครียดหรือรับประทานอาหารไม่ครบถ้วน หากเป็นวิตามินจากแหล่งผลิตที่ได้มาตรฐาน กินในปริมาณไม่เกินที่ RDI ระบุไว้ จะถือว่าค่อนข้างปลอดภัย แต่เราต้องรู้ว่าร่างกายเราขาดวิตามินตัวนั้นๆ จริง หรืออยู่ในภาวะที่ร่างกายต้องใช้วิตามินตัวนั้นสูงกว่าปกติแค่ไหน

...

กินวิตามินมากเกินไปก็ไม่ดี

ในทางตรงกันข้าม การรับวิตามินมากเกินไปก็ให้โทษกับร่างกาย โดยเฉพาะวิตามินกลุ่มที่ละลายในไขมัน ดังนี้

  • วิตามินเอ ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ไม่ควรรับวิตามินเอมากเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดความผิดปกติของทารกในครภ์
  • เบต้าแคโรทีน คนที่สูบบุหรี่หรือต้องสัมผัสแร่ใยหิน จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดมากขึ้น
  • วิตามินดี ควรมีการเจาะเลือดเพื่อดูไม่ให้ระดับวิตามินดีในเลือดสูงเกินไป เพราะอาจส่งผลให้ระดับแคลเซียมในเลือดผิดปกติ

แข็งแรงและอ่อนกว่าวัย ไม่ใช่เรื่องยาก… แค่ทำสิ่งนี้

สิ่งจำเป็นของการดูแลตัวเองนั้นคือการใช้ชีวิตให้สมดุล ลดความเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอและเหมาะสม รับประทานอาหารที่ปรุงด้วยความร้อนไม่สูง เลี่ยงอาหารแปรรูป กินอาหารให้หลากหลาย เพื่อให้ได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนทั้งชนิดและปริมาณ

หากต้องการรับประทานวิตามินเสริม หรืออาหารเสริมควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวหรือแพทย์เวชศาสตร์ชะลอวัย เพื่อจะได้รับข้อมูลและคำแนะนำในการเลือกวิตามินหรืออาหารเสริมที่ถูกต้องและตรงกับความต้องการของร่างกาย เพื่อสุขภาพที่ดีอย่างยืนยาว

...

ขอบคุณข้อมูล : พญ.อรกมล อินกองงาม แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลพญาไท 3