อาการ

อาการและอาการแสดงที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนและตำแหน่งของก้อนมะเร็ง

อาการที่พบบ่อย คือ แน่นท้อง ท้องอืด ปวดท้อง อาเจียน อ่อนเพลีย หรือคลำได้ก้อนบริเวณท้องน้อยด้านขวา ซีด เบื่ออาหาร น้ำหนักลดผิดปกติ อุจจาระมีสีคล้ำ อาจมีมูกเลือดปะปนมากับอุจจาระ การขับถ่ายอุจจาระผิดปกติ เช่น ขับถ่ายลำบาก มีอาการท้องผูกสลับกับท้องเสีย ขนาดอุจจาระลดลงผิดปกติ หรือมีอาการถ่ายอุจจาระไม่สุด

การวินิจฉัย

ผู้ที่สำคัญที่สุดในการตรวจพบความผิดปกติของการขับถ่ายคือ ตัวผู้ป่วย เพราะเป็นผู้ที่รู้ว่าตนเองมีอุปนิสัยในการขับถ่ายอย่างไร

ดังนั้น จึงควรฝึกการสังเกตความผิดปกติที่เกิดอาการตั้งแต่เริ่มแรก อย่างไรก็ตาม อาการผิดปกติ อาจสังเกตยาก ทำให้ผู้ป่วยไม่ไปพบแพทย์ตั้งแต่ระยะแรกๆ ปล่อยทิ้งไว้จนอาการรุนแรง ซึ่งการมาพบแพทย์เพื่อตรวจค้นหามะเร็งในระยะเริ่มต้น จะทำให้ผลการรักษาดี

การตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์มีหลายวิธี ดังนี้

1. การซักประวัติและตรวจร่างกายทุกระบบ
2. การถ่ายภาพเอกซเรย์ การสวนแป้ง หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อดูความผิดปกติของอวัยวะต่างๆ ภายในช่องท้อง และการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลือง
3. ส่องกล้องลำไส้และตัดชิ้นเนื้องอก นำชิ้นเนื้อตรวจทางพยาธิ เพื่อยืนยันการเป็นมะเร็งลำไส้ และชนิดของเซลล์มะเร็ง
4. การเจาะเลือดดูค่า CEA พบว่าค่า CEA ไม่ใช่ค่าจำเพาะในผู้ป่วยมะเร็งทุกคน ผู้ป่วยบางคนค่า CEA อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่โรคมะเร็งลุกลาม อย่างไรก็ตาม การตรวจ CEA ในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งลำไส้ มีความจำเป็น เพื่อใช้ในการติดตามความเปลี่ยนแปลงของโรค และประเมินผลของการรักษา กล่าวคือ ถ้าค่า CEA มีแนวโน้มสูงขึ้น แสดงว่า อาจมีการดื้อต่อยาที่รักษา และอาจมีการกลับมาของโรคมะเร็ง
5. การตรวจพิเศษ โดยตรวจชิ้นเนื้อที่เป็นมะเร็งลำไส้ เพื่อหาความผิดปกติของยีนจำเพาะ K-ras mutation ถ้าผลการตรวจพบว่าเป็น KRAS wild type สามารถใช้ยาเฉพาะได้ผลดี

...

ระยะของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้

ระยะ 0 โรคมะเร็งในระยะเริ่มต้น มะเร็งอยู่เฉพาะผิวของลำไส้
ระยะ 1 มะเร็งอยู่เฉพาะผนังลำไส้ ยังไม่แพร่กระจายออกนอกลำไส้
ระยะ 2 มะเร็งแพร่กระจายออกนอกลำไส้ แต่ยังแพร่กระจายไม่ถึงต่อมน้ำเหลือง
ระยะ 3 มะเร็งแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง แต่ยังไม่แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น
ระยะ 4 มะเร็งแพร่กระจายไปอวัยวะอื่น โดยมากไปยังตับและปอด

การแพร่กระจายมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มีการแพร่กระจายได้หลายทาง ดังนี้

1. มะเร็งแพร่กระจายภายในชั้นของผนังลำไส้
2. มะเร็งแพร่กระจายไปตามระบบไหลเวียนน้ำเหลือง
3. มะเร็งแพร่กระจายไปตามระบบไหลเวียนเลือด บริเวณลำไส้และแพร่เข้าสู่อวัยวะอื่นๆ ได้ อวัยวะที่เซลล์มะเร็งส่วนใหญ่แพร่กระจายไปคือ ตับ รองลงมาคือ ปอด ส่วนอวัยวะอื่นที่เซลล์มะเร็งสามารถแพร่กระจายไปคือ ต่อมหมวกไต ผิวหนัง กระดูกและสมอง
4. มะเร็งแพร่กระจายไปที่เยื่อบุช่องท้อง จากการผ่าตัดก้อนเนื้องอกออก เซลล์มะเร็งอาจหลุดออกจากก้อนเนื้องอก ตกหล่นเข้าไปในช่องเยื่อบุช่องท้อง

สัปดาห์หน้ายังมีความน่าสนใจของ “การรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่” รอติดตามกันต่อนะคะ

แหล่งข้อมูล

คุณประไพ เชิงทวี พยาบาลเฉพาะทางโรคมะเร็ง (ผู้ชำนาญการพิเศษ) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล