ไม่ว่าคุณจะเป็นคนสายไหน สายนั่งนาน สายยืนนาน สายเดินนาน คุณก็มีโอกาสเสี่ยง “ภาวะเส้นเลือดขอด” ได้! และหลายๆ คนอาจจะสงสัยว่าเส้นเลือดขอดเกิดจากอะไร แล้วอันตรายแค่ไหน? วันนี้เราจะมาเจาะลึกกัน กับ นพ.พงษ์ตะวัน กัลยพฤกษ์ ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านหลอดเลือด ศูนย์ศัลยกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง โรงพยาบาลพญาไท 3 ซึ่งจะมาอธิบายกันแบบชัดๆ ในทุกๆ มุม

เส้นเลือดขอด คืออะไร?

เส้นเลือดขอด คือ ภาวะที่หลอดเลือดดำขนาดเล็กบริเวณผิวหนังมีการขยายตัวใหญ่ขึ้น เนื่องจากการเสื่อมสภาพของระบบการทำงานของหลอดเลือด ทำให้แรงดันเลือดในระบบหลอดเลือดดำเพิ่มสูงขึ้น ส่วนใหญ่จะพบที่ขา เนื่องจากขาเป็นอวัยวะที่ถูกใช้งานต่อเนื่อง ไม่ว่าจะด้วยการนั่ง ยืน เดิน ทำให้เลือดมีการไหลเวียนไปยังบริเวณขามาก เส้นเลือดจึงทำงานหนักจนเกิดการเสื่อมสภาพได้ง่าย 

การสังเกตที่เห็นได้ชัดมากที่สุดก็คือ จะพบเส้นเลือดดำหรือเส้นเลือดสีเขียวเข้มปรากฏที่บริเวณขาในจุดที่ไม่เคยมีมาก่อน และเห็นการคดเคี้ยวของเส้นเลือดบริเวณผิวหนังอย่างชัดเจน

โดยปกติแล้ว ธรรมชาติในการทำงานของร่างกายนั้น หลอดเลือดดำจะคอยทำหน้าที่ส่งเลือดจากอวัยวะส่วนล่างกลับขึ้นไปยังหัวใจ แต่เมื่อระบบการทำงานของหลอดเลือดดำบกพร่อง ก็จะเกิดการไหลย้อนของเลือดดำลงไปยังอวัยวะส่วนล่าง ทำให้แรงดันของเลือดในบริเวณนั้นสูงขึ้น เส้นเลือดฝอยบริเวณผิวหนังจึงขยายตัวใหญ่ขึ้นตามไปด้วย และส่งผลให้เกิดเป็นเส้นเลือดขอดนั่นเอง

อาการของเส้นเลือดขอด

อาการของเส้นเลือดขอดแบ่งได้เป็น 6 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 จะไม่เห็นเส้นเลือดขอดชัดเจน แต่จะเริ่มมีอาการหนักๆ หน่วงๆ ที่ขา เวลานั่ง ยืน หรือเดินอย่างต่อเนื่องนานๆ

...

ระยะที่ 2  เส้นเลือดฝอยที่ขาเริ่มขยายขนาดใหญ่ขึ้น อาจเริ่มปรากฏเป็นรอยเส้นเลือดแดงๆ คล้ายร่างแหใยแมงมุม

ระยะที่ 3  ปรากฏรอยเส้นเลือดขอดบนผิวหนังใหญ่ขึ้น เริ่มเห็นชัดเจนขึ้น และคดเคี้ยวมากขึ้น

ระยะที่ 4  มีอาการปวดเมื่อยขามากขึ้น เมื่อต้องยืนหรือเดินนานๆ

ระยะที่ 5  สีผิวบริเวณขาท่อนล่างใกล้บริเวณข้อเท้าเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล หรือคล้ำขึ้น

ระยะที่ 6  เกิดแผลบริเวณขาหรือเท้า เนื่องจากระบบภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง

ใครบ้าง? ที่เสี่ยงเป็นเส้นเลือดขอด

  • ผู้ที่ยืนหรือเดินนานๆ
  • ผู้ที่นั่งนานๆ หรือไม่ค่อยเปลี่ยนอิริยาบถ
  • ผู้ที่ใส่รองเท้าส้นสูงเป็นประจำ
  • ผู้ต้องยกของหนักเป็นประจำ
  • ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน

อย่ารอให้เส้นเลือดขอดเรื้อรัง พบแพทย์ตั้งแต่เริ่มมีอาการ

เพราะการพบแพทย์ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกเมื่อมีอาการเสี่ยงเป็นเส้นเลือดขอด คือตั้งแต่เริ่มรู้สึกปวดตึงๆ ที่ขาบริเวณน่อง รู้สึกขาบวมเมื่อเดินหรือยืนนานๆ จะช่วยลดความเสี่ยงเส้นเลือดดำเสียหายเรื้อรัง และการจับตัวเป็นลิ่มเลือดภายในเส้นเลือดขอด ทั้งยังลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ตามมาได้

เส้นเลือดขอดรักษาได้ด้วยวิธีใดบ้าง?

วิธีรักษาเส้นเลือดขอดจะแตกต่างกันไปตามระยะที่พบ ดังนี้

  • รักษาด้วยการใช้ยา มักใช้ในกรณีที่พบเส้นเลือดขอดระยะเริ่มต้น โดยยาจะเข้าไปช่วยกระตุ้นการทำงานของเส้นเลือดฝอยให้ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ สามารถบีบตัว ส่งเลือดได้ดีขึ้น ลดความดันเลือดในบริเวณที่เป็น ทั้งยังช่วยบรรเทาอาการปวดหน่วงที่ขาให้ลดลงได้
  • รักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ การผ่าตัดแบบเปิดแผล โดยการผูกตัดเส้นเลือดที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเส้นเลือดขอด และการผ่าตัดโดยใช้คลื่นวิทยุความถี่สูง ซึ่งเป็นการผ่าตัดโดยการใช้เข็มขนาดเล็กเจาะผ่านเส้นเลือดที่เป็นสาเหตุ ใส่สายสวนเข้าไปในหลอดเลือดดำ แล้วทำให้เส้นเลือดนั้นฝ่อเล็กลง เพื่อไม่ให้เลือดไหลผ่านมายังบริเวณดังกล่าว

การผ่าตัดโดยใช้คลื่นวิทยุความถี่สูง แผลเล็ก

เทคโนโลยีการผ่าตัดเส้นเลือดขอดโดยการใช้คลื่นวิทยุความถี่สูง เป็นการรักษาที่ได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะให้ผลที่ดีกว่า เช่น

  • แผลเล็กลง ลดโอกาสเกิดรอยแผลเป็น
  • ความเจ็บปวดหลังการผ่าตัดลดลง
  • ฟื้นตัวได้เร็วกว่า
  • ระยะเวลาในการพักฟื้นที่โรงพยาบาลสั้นกว่า โดยนอนโรงพยาบาลเพียง 1 คืน
  • สามารถเคลื่อนไหวและใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติหลังการผ่าตัดเพียง 1 วัน

สายนั่งนาน สายยืนนาน สายเดินนาน ทำตามนี้เพื่อลดความเสี่ยงเส้นเลือดขอด

...

ในผู้ที่มีความจำเป็นต้องยืนหรือเดินนานๆ แพทย์จะแนะนำให้ทำดังนี้

  • สวมถุงเท้ากระชับหลอดเลือดดำเป็นประจำ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหลอดเลือดดำ ป้องกันการเสื่อมสภาพของระบบหลอดเลือดดำ ซึ่งจะช่วยลดโอกาสเสี่ยงภาวะเส้นเลือดขอดได้
  • เปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ เพื่อกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อ เพิ่มการไหลเวียนเลือด ก็จะลดความเสี่ยงได้

สังเกตอาการเส้นเลือดขอดให้ดี อย่ารอรี รู้แล้วควรรีบรักษา เพราะถ้าหากยิ่งปล่อยไว้ก็ยิ่งหายยากยิ่งใช้เวลา อย่าชะล่าใจ ให้รอยเล็กๆ ที่ขานำพาชีวิตให้พังทลาย

ขอบคุณข้อมูล : นพ.พงษ์ตะวัน กัลยพฤกษ์ ศัลยแพทย์ทั่วไปและศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านหลอดเลือด ศูนย์ศัลยกรรมชั้นสูง โรงพยาบาลพญาไท 3

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

...