• เตรียมตั้งครรภ์ ด้วยการตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ และการตรวจยีนก่อนตั้งครรภ์ มีความสำคัญในการวางแผนครอบครัว โดยเฉพาะในคู่แต่งงานที่อายุมากขึ้น เพราะนอกจากช่วยป้องกันโรคที่สามารถแพร่ไปสู่ลูก ยังสามารถค้นหาโรคแอบแฝงที่ส่งผ่านยีนโดยพ่อแม่ไม่รู้ตัว
  • การตรวจยีนก่อนตั้งครรภ์เป็นการตรวจความพร้อมของพ่อและแม่ และคัดกรองพาหะโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ที่มีโอกาสก่อให้เกิดความพิการและทุพพลภาพของลูก โดยสามารถคัดกรองและวินิจฉัยความผิดปกติของยีนด้อยได้มากกว่า 500 ยีน ลดอัตราเสี่ยงต่อการเป็นเกิดโรคทางพันธุกรรมได้กว่า 500 โรค
  • กรณีตรวจพบคู่สมรสเป็นพาหะของโรคทางพันธุกรรมและยังต้องการมีบุตร แพทย์จะทำการคัดกรองตัวอ่อนที่มียีนสมบูรณ์ไว้ จากนั้นจึงนำเอาตัวอ่อนที่แข็งแรงใส่กลับเข้าไปยังมดลูก ทั้งนี้ยังช่วยให้คู่สมรสที่มีบุตรยาก มีโอกาสตั้งครรภ์สูงขึ้นอีกด้วย

ด้วยสภาพแวดล้อมปัจจุบัน ทัศนคติเรื่องการมีลูกเมื่อพร้อม รวมถึงการรอคอยการตั้งครรภ์ในปีนักษัตรที่เป็นมงคล อย่างปีมังกร ส่งผลให้บ่าวสาวชะลอการมีลูกออกไป 

การตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ และการตรวจยีนก่อนตั้งครรภ์ จึงมีความสำคัญในการวางแผนครอบครัว โดยเฉพาะในคู่แต่งงานที่อายุมากขึ้น เพราะนอกจากช่วยป้องกันโรคที่สามารถแพร่ไปสู่ลูก ยังสามารถค้นหาโรคแอบแฝงที่ส่งผ่านยีนโดยพ่อแม่ไม่รู้ตัว ซึ่งมีข้อมูลบ่งชี้ว่ามีทารกมากถึง 80% ที่เกิดมาพร้อมกับโรคทางพันธุกรรม ทั้งๆ ที่ไม่มีประวัติครอบครัวมาก่อน

เตรียมตั้งครรภ์ ด้วยการตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ ป้องกันโรคร้ายที่อาจถ่ายทอดสู่ลูก

การตรวจสุขภาพพื้นฐานของผู้ที่จะเป็นพ่อและแม่ไม่แตกต่างกันมากนัก แต่อาจมีการตรวจเพิ่มเติมในรายละเอียดบางอย่าง ดังนี้

...

  • ตรวจเลือด
  • ตรวจกรุ๊ปเลือด เพื่อกรณีที่ต้องการเลือดฉุกเฉิน
  • ตรวจชนิดของเลือด (Rh Factor) โดยทั่วไปคนไทยจะเป็นชนิด Rh+ กรณีตรวจพบคุณแม่มีเลือด Rh- ร่างกายแม่มีโอกาสสร้างภูมิต้านทานเลือด Rh+ ของลูก และทำลายเม็ดเลือดแดงของลูก จนเสี่ยงต่อการแท้งได้
  • ตรวจหาความผิดปกติของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง เพื่อตรวจความผิดปกติของโรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia)
  • ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด
  • ตรวจหาภูมิคุ้มกันและเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งสามารถติดต่อทางเพศสัมพันธ์และสายเลือด
  • ตรวจหาภูมิคุ้มกันหัดเยอรมัน หากติดเชื้อในระหว่างตั้งครรภ์อาจทำให้ทารกพิการหรือแท้งได้
  • ตรวจหาเชื้อไวรัสเอดส์
  • ตรวจหาเชื้อซิฟิลิส
  • ตรวจหาเชื้ออื่นตามความเสี่ยง เช่น เชื้อเริม เป็นต้น

การตรวจเพิ่มเติมในผู้หญิง

  • ตรวจมะเร็งปากมดลูก (HPV+Thin Prep)
  • ตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้องส่วนล่าง เพื่อประเมินมดลูกและรังไข่ (TVS - Transvaginal Ultrasound)
  • ตรวจเลือดเพื่อวัดระดับฮอร์โมน ความสามารถการทำงานของรังไข่ AMH - Anti-Mullerian Hormone
  • ตรวจปีกมดลูกตามที่แพทย์เห็นสมควร

การตรวจเพิ่มเติมในผู้ชาย

  • ตรวจดูความสมบูรณ์ของเชื้ออสุจิ (Semen Analysis)
  • ตรวจฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone)
  • ตรวจค่า PSA วิเคราะห์มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate cancer)
  • ตรวจฮอร์โมนภายในต่อมหมวกไต (DHEA-S)

เตรียมตั้งครรภ์ ด้วยการตรวจยีนก่อนการตั้งครรภ์

นอกจากการตรวจสุขภาพพื้นฐานก่อนตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันโรคหากตรวจพบล่วงหน้าแล้ว ยังมีกลุ่มโรคบางชนิดที่เกิดจากความผิดปกติของยีนด้อยจากพ่อหรือแม่ที่ส่งผลไปยังลูก   

การทดสอบทางพันธุกรรมมีบทบาทสำคัญในการพิจารณาความเสี่ยงในการเกิดโรคบางชนิด เช่นเดียวกับการตรวจคัดกรองและการรักษาทางการแพทย์ เป็นการตรวจความพร้อมของพ่อและแม่ และคัดกรองพาหะโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ที่มีโอกาสก่อให้เกิดความพิการและทุพพลภาพในอวัยวะต่างๆ ของลูก โดยสามารถคัดกรองและวินิจฉัยความผิดปกติของยีนด้อยได้มากกว่า 500 ยีน ลดอัตราเสี่ยงต่อการเป็นเกิดโรคทางพันธุกรรมได้กว่า 500 โรค และมีความแม่นยำสูงถึง 95% และยังพบด้วยว่าหญิงตั้งครรภ์ 1 ใน 550 คน มีความเสี่ยงที่จะมีลูกเป็นโรคทางพันธุกรรมแบบลักษณะด้อยชนิดรุนแรง  จึงได้มีการศึกษาค้นคว้าและพัฒนาการตรวจยีนก่อนตั้งครรภ์ ซึ่งสามารถตรวจคัดกรองและวินิจฉัยลึกระดับยีน ซึ่งช่วยให้เด็กที่จะเกิดมามีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคลดลง

การตรวจยีนก่อนการตั้งครรภ์ จึงเป็นตัวช่วยที่สำคัญให้คุณพ่อคุณแม่ตัดสินใจชะลอการมีบุตรออกไป หรือปรึกษาแพทย์เพื่อทำการป้องกันก่อนการตั้งครรภ์

กรณีตรวจพบคู่สมรสเป็นพาหะของโรคทางพันธุกรรม และยังต้องการมีบุตร แพทย์จะทำการคัดกรองตัวอ่อนที่มียีนสมบูรณ์ไว้ จากนั้นจึงนำเอาตัวอ่อนที่แข็งแรงใส่กลับเข้าไปยังมดลูก ทั้งนี้ยังช่วยให้คู่สมรสที่มีบุตรยาก มีโอกาสตั้งครรภ์สูงขึ้นอีกด้วย 

...

ตรวจยีนก่อนการตั้งครรภ์เหมาะกับใคร

  • คู่สมรสที่ต้องการมีบุตรแข็งแรงสมบูรณ์
  • คู่สมรสที่เป็นโรคทางพันธุกรรม หรือมีครอบครัวที่มีประวัติเป็นโรคทางพันธุกรรม
  • คู่สมรสที่มีภาวะมีบุตรยาก

การเตรียมตัวเพื่อตรวจยีนก่อนการตั้งครรภ์

การตรวจยีนก่อนตั้งครรภ์ไม่ได้เป็นแค่เพียงการเตรียมความพร้อมสำหรับคุณพ่อคุณแม่เท่านั้น แต่รวมถึงความแข็งแรงสมบูรณ์ของลูกน้อยที่จะเกิดมาด้วย โดยผู้ที่ต้องการตรวจยีนก่อนการตั้งครรภ์ สามารถขอคำปรึกษาได้จากสูตินรีแพทย์ ซึ่งมีวิธีการตรวจ ดังนี้

  • รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประวัติทางการแพทย์ของครอบครัว
  • พูดคุยกับแพทย์ทางพันธุกรรมเกี่ยวกับประวัติการรักษาส่วนตัวและครอบครัว เพื่อทำความเข้าใจความเสี่ยง สอบถามและหารือเกี่ยวกับข้อกังวลต่าง ๆ ของการทดสอบทางพันธุกรรม
  • ปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง กรณีผลการทดสอบพบความผิดปกติทางพันธุกรรม
  • ในวันตรวจ แพทย์จะทำการตรวจจากเลือดของฝ่ายแม่ โดยไม่จำเป็นต้องงดน้ำ งดอาหาร
  • หลังจากส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการแล้ว รอประมาณ 3 สัปดาห์ จึงทราบผล

ฝากครรภ์ทันทีเมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ 

เมื่อคุณแม่ทราบว่าตั้งครรภ์ ควรรีบไปฝากครรภ์ทันที  โดยการตรวจครรภ์ครั้งแรกไม่ควรเกินอายุครรภ์ 12 สัปดาห์  และตรวจทุก ๆ 1-2 เดือน จนกว่าจะคลอดหรือตามแพทย์พิจารณา  

วางแผนการดูแลครรภ์แบบเฉพาะบุคคล

เนื่องจากการรักษาทางการแพทย์แต่เดิมออกแบบมาสำหรับผู้ป่วยทั่วไป ซึ่งอาจไม่เหมาะสำหรับทุกคน ด้วยความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์อันทันสมัย พัฒนาการแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) หรือการรักษาแบบเฉพาะบุคคลขึ้น เป็นแนวทางการดูแลสุขภาพ ป้องกัน และรักษาโรค โดยคำนึงถึงความแตกต่างในยีน สภาพแวดล้อม และวิถีชีวิตของแต่ละคน 

...

เช่นเดียวกับการวางแผนครอบครัวและการฝากครรภ์แบบเฉพาะบุคคล (Precision Obstetrics) ที่มุ่งเน้นดูแลครรภ์ตั้งแต่เริ่มวางแผนการตั้งครรภ์ การป้องกันภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ จนถึงการคลอดบุตรที่แข็งแรงสมบูรณ์

การฝากครรภ์แบบเฉพาะบุคคล สามารถลดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะคลอดก่อนกำหนด เหลือเพียง 5%  และเพียง 0.2% ในอัตราการคลอดก่อนกำหนดในอายุครรภ์น้อยกว่า 34 สัปดาห์ ซึ่งถือว่าต่ำมาก รวมถึงลดภาวะความดันสูง ครรภ์เป็นพิษรุนแรง และภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ลงได้เช่นกัน  ซึ่งสามารถทำได้ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ ด้วยการเข้าฝากครรภ์ในโรงพยาบาล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะทำการตรวจโดยละเอียด (อ่านข้อมูลเพิ่มเติม คลิก)

การฝากครรภ์แบบเฉพาะบุคคลเหมาะกับใคร

  • คุณแม่ตั้งครรภ์อายุมากกว่า 35 ปี
  • คุณแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นกังวลภาวะดาวน์ซินโดรม ซึ่งพบสูงถึง 1 ใน 250 ในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่อายุมาก สามารถทำการเจาะเลือดตรวจ DNA ของทารกในครรภ์ ซึ่งใช้เวลา 5-7 วัน ได้ผลแม่นยำ สูงถึง 99.7%

...

เตรียมตั้งครรภ์ ดูแลเรื่องโภชนาการอาหารให้ลูกแข็งแรง

การดูแลตนเองและลูกน้อยในครรภ์ให้แข็งแรงสมบูรณ์จนกว่าจะครบกำหนดคลอด นอกจากการตรวจสุขภาพ วางแผนครอบครัว และการฝากครรภ์ตามระยะเวลาแล้ว การรับประทานอาหารที่ดี ก็เป็นอีกปัจจัย โดยอาหารสำคัญที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรเน้นเป็นพิเศษ ได้แก่

  • โปรตีน สารอาหารสำคัญ ช่วยในการเจริญเติบโตและพัฒนาการทางสมองของทารกในครรภ์ อาหารอุดมด้วยโปรตีน เช่น นม ไข่ เนื้อปลา เนื้อไก่ เนื้อหมู อย่างไรก็ตาม คุณแม่ควรรับประทานเนื้อแดงที่มีไขมันสูงน้อยลง
  • ไอโอดีน ช่วยในการพัฒนาการทางสมองของทารก ซึ่งทารกในครรภ์มารดาที่มีภาวะขาดไอโอดีนอาจแท้งได้ กรณีที่คลอดได้อาจมีผลต่อการเจริญเติบโตและมีภาวะการพัฒนาด้านระบบประสาทบกพร่อง (Neurologic cretinism) อาหารอุดมด้วยไอโอดีน เช่น อาหารทะเล หรือเกลือเสริมไอโอดีน
  • ธาตุเหล็ก หากคุณแม่ขาดธาตุเหล็กอาจทำให้เป็นโรคโลหิตจาง ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาด้านสมองของทารก อาหารที่มีธาตุเหล็ก เช่น ผักใบเขียว งาดำ งาขาว ตับ
  • แคลเซียม นอกจากบำรุงกระดูก ยังมีส่วนช่วยให้ทารกในครรภ์เจริญเติบโต อาหารอุดมด้วยแคลเซียม เช่น นม ปลาเล็กปลาน้อย
  • โฟเลต สารอาหารที่คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องการอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงแรกของการตั้งครรภ์ เพื่อช่วยสร้างเซลล์สมองให้กับทารก อาหารที่มีโฟเลต เช่น ตับ ผักใบเขียว

เพื่อต้อนรับปีมังกรอันเป็นมงคลสำหรับลูกที่จะเกิดมา คุณแม่ตั้งครรภ์ควรพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ รวมถึงคุณพ่อที่ต้องเป็นกำลังหนุน ควรวางแผนครอบครัวและการมีบุตรไปพร้อมๆ กัน ด้วยการตรวจสุขภาพ ทั้งแบบพื้นฐานและการตรวจยีน อีกทั้งการฝากท้องแต่เนิ่นๆ ด้วยตัวเลือกแบบเฉพาะเจาะจง ซึ่งเหมาะกับแต่ละบุคคล เพื่อลูกที่แข็งแรงสมบูรณ์