ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไร เชื่อว่าใครหลายคนคงเคยมี “อาการปวดหลัง” กันมาบ้างไม่มากก็น้อย เพราะอาการปวดหลังเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับคนอายุตั้งแต่ประมาณ 30 ปีขึ้นไป ซึ่งอาจจะเป็นอาการปวดหลังจากการทำงาน กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นไม่ได้ขยับเป็นเวลานาน ซึ่งอาการปวดที่เกิดจากออฟฟิศซินโดรมนี้เป็นอาการปวดหลังที่ไม่อันตราย อาการปวดหลังยังเกิดจากสาเหตุอื่นๆ อีก ดังนี้
1. เกิดจากภาวะความเสื่อมของข้อกระดูกสันหลัง เริ่มพบได้ตั้งแต่อายุไม่มาก ประมาณ 30-40 ปี ที่พบบ่อยได้แก่ หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนเบียดทับเส้นประสาท และอีกกลุ่มที่พบในผู้สูงอายุ ประมาณ 60-70 ปีขึ้นไป คือ โพรงเส้นประสาทข้อกระดูกสันหลังตีบแคบเบียดทับเส้นประสาท
2. ภาวะการติดเชื้อของกระดูกสันหลัง
3. โรคมะเร็งกระจายมาที่กระดูกสันหลัง ส่งผลให้มีอาการปวดหลัง
4. อาการปวดหลังที่เกิดจากโรคข้ออักเสบรูมาติซึม เช่น โรคเอสแอลอี โรคข้ออักเสบติดแข็ง
อาการปวดหลัง ตำแหน่งที่พบบ่อย 2 ตำแหน่ง ได้แก่ บริเวณกระดูกต้นคอ และบริเวณหลังส่วนเอว เนื่องจากตามธรรมชาติคนเราใช้งาน ก็จะขยับ 2 บริเวณนี้เป็นหลัก ส่งผลให้มีอาการปวดได้บ่อย แต่ถ้าเป็นกระดูกสันหลังระดับอก เวลาขยับร่างกาย จะไม่ส่งผลเท่าไรนัก เนื่องจากมีซี่โครงยึดไว้
ส่วนอาการปวดหลังที่เกิดจากโรคติดเชื้อกระดูกสันหลัง หรือมะเร็งกระจายมาที่กระดูกสันหลัง อาการปวดก็จะมีความจำเพาะ กล่าวคือ จะปวดรุนแรง อาจปวดเวลากลางคืนจนทำให้นอนไม่หลับ ส่วนอาการปวดหลังที่เกิดจากโรคข้ออักเสบ มักจะมีอาการปวดในช่วงเช้า และมีอาการหลังแข็งร่วมด้วย
...
หากเป็นอาการปวดหลังที่สาเหตุมาจากออฟฟิศซินโดรม ก็จะไม่ได้มีอันตราย แต่ถ้าใครที่มีอาการปวดจากเอวและร้าวลงไปที่ต้นขา, น่อง หรือตาตุ่ม หรือมีอาการชาร้าวลงขา หรืออาการปวดที่มีความรุนแรง ปวดตอนกลางคืน ร่วมกับการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด มีไข้ ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและเข้ารับการรักษา เพราะอาจมีสาเหตุอื่นแอบแฝงอยู่ก็เป็นได้
แพทย์สามารถวินิจฉัยอาการปวดหลังได้จากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย เพื่อเช็กดูว่าเกิดจากสาเหตุใดดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น หากเกิดจากกระดูกทับเส้นประสาท ก็จะต้องส่งตรวจเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ เอ็มอาร์ไอ เพื่อให้การวินิจฉัยที่แม่นยำมากยิ่งขึ้น
การรักษา จะรักษาตามสาเหตุ ดังนี้
1. ปวดหลังจากออฟฟิศ ซินโดรม ก็จะรักษาโดยการปรับพฤติกรรม ดังนี้
1.1 นั่งทำงานให้ถูกต้อง นั่งหลังตรง มีพนักพิง
1.2 คอมพิวเตอร์ต้องอยู่ในระดับพอดี ไม่สูงหรือต่ำเกินไป เพราะถ้าตั้งอยู่สูงไปแหงนคอนานๆ ก็ปวดคอได้
1.3 เปลี่ยนอิริยาบถทุกๆ 1 ชม. โดยการลุกจากเก้าอี้ เดินไปกินน้ำ เข้าห้องน้ำ เพื่อให้กล้ามเนื้อได้เคลื่อนไหว
1.4 ไม่ควรก้มยกของโดยการเอื้อม และไม่ยกของหนักเกินไป
1.5 หลีกเลี่ยงการนั่งกับพื้น ทำให้หลังงอ เพิ่มความเสี่ยงในความเสื่อมได้ง่ายขึ้น
1.6 ออกกำลังกายที่ได้ใช้กล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกาย เช่น ว่ายน้ำ แอโรบิก พิลาทิส เนื่องจากช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กล้ามเนื้อยืด ช่วยให้เอ็นกล้ามเนื้อผ่อนคลาย แต่กีฬาบางอย่างคนปวดหลังก็อาจจะไม่เหมาะ เช่น เทนนิส แบดมินตัน
ในรายที่มีอาการปวดรุนแรง ก็มีการใช้ยาในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เนื่องจากมีการอักเสบเกิดขึ้นได้ อาจจะใช้ยาลดการอักเสบเป็นยากลุ่ม NSAID ในระยะเวลาสั้นๆ เมื่อการอักเสบลดลงก็ไปเน้นเรื่องการปฏิบัติตัวดังที่กล่าวไปข้างต้น
2. การรักษาอาการปวดหลังที่เกิดจากหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท หรือผู้สูงอายุที่มีโพรงเส้นประสาทข้อกระดูกสันหลังตีบแคบทับเส้นประสาท การรักษาเริ่มต้นก็จะเป็นการใช้ยา การทำกายภาพบำบัด ถ้าไม่ดีขึ้นก็จะส่งเอ็มอาร์ไอ ถ้าผลออกมาว่ามีการกดทับชัดเจน ก็จะพิจารณาเป็นการผ่าตัดกระดูกสันหลัง เพื่อขยายการกดทับให้เส้นประสาทกลับมาโล่งขึ้น คนไข้ก็จะหายจากอาการปวดหลังร้าวลงขา และกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
3. การรักษาการติดเชื้อกระดูกสันหลัง ต้องดูว่าติดเชื้อจากแบคทีเรียหรือวัณโรค รักษาโดยการให้ยาฆ่าเชื้อ หรือยาต้านวัณโรค ส่วนใหญ่ก็จะดีขึ้นได้ มีส่วนน้อยที่เชื้อกินเข้าไปเบียดเส้นประสาท จนทำให้เกิดหนอง ถ้าเป็นกรณีนี้ก็จะต้องรักษาโดยการผ่าตัด
4. การรักษาอาการปวดหลังที่เกิดจากโรคข้ออักเสบรูมาติซึม จะรักษาโดยการใช้ยาเป็นหลัก เนื่องจากเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
หากเราหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังดังที่กล่าวไปข้างต้น ก็จะทำให้มีโอกาสปวดหลังได้น้อยลง แต่หากมีอาการอื่นๆ ที่ผิดปกติเพิ่มเติม ก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษา
@@@@@@
แหล่งข้อมูล
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์กันต์ แก้วโรจน์ สาขากระดูกสันหลัง ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล