ปัจจุบันคงได้เห็นโฆษณาเกี่ยวกับเอ็กซ์โซโซม (exosome) มากมายจากคลินิกความงาม แต่หลายคนก็ยังสงสัยว่า exosome คืออะไรเพราะดูเป็นสิ่งแปลกใหม่มาก
Exosome คือสิ่งที่เซลล์ของร่างกายสร้างขึ้นมา สามารถสร้างได้จากเซลล์ทุกชนิดในร่างกาย จัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า extra cellular membrane vesicle (EMV) จุดประสงค์เพื่อใช้ในการสื่อสารระหว่างเซลล์ โครงสร้างของ exosome จะเป็นถุง (vesicle) ผนังของถุงก็จะเหมือนผนังเซลล์ที่สร้างมันขึ้นมา ภายในประกอบด้วยถุงเล็กๆอีกเป็นจำนวนมาก จึงถูกเรียกว่า multive sicular body (MVB) ในถุงเล็กๆเหล่านี้จะมีทั้งหน่วยพันธุกรรม (DNA, RNA) โปรตีนที่เซลล์สร้างขึ้น เป็นต้น เมื่อเซลล์ปล่อย exosome ออกมา exosome จะไปยังเซลล์ข้างเคียงเพื่อเป็นการติดต่อสื่อสารซึ่งกันและกัน ทำให้เซลล์มีการสร้างหรือยับยั้งการสร้างโปรตีนตามที่ต้องการ
ดังนั้น exosome จึงไม่ใช่เรื่องที่แปลกหรือมหัศจรรย์เป็นพิเศษแต่อย่างใดเพราะเป็นสิ่งที่เซลล์สร้างขึ้นมาตามปกติอยู่แล้ว ประเด็นที่น่าสนใจคือเนื่องจากเป็นสิ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นมาตามธรรมชาติ ไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมที่สร้างขึ้นมาใหม่ ดังนั้นจึงมีการศึกษาวิจัยเพื่อนำเอา exosome มาใช้ทั้งการวินิจฉัยโรค (diagnosis) ติดตามโรค (disease monitoring) และรักษาโรค (therapy)
เซลล์ในร่างกายไม่ว่าจะเป็นเซลล์ปกติหรือเซลล์ผิดปกติต่างก็สามารถสร้าง exosome แต่จะมีความแตกต่างขององค์ประกอบภายใน exosome เช่น เซลล์มะเร็ง เซลล์สมองที่เป็นอัลไซเมอร์ ก็จะสร้าง exosome ที่ต่างไปจากเซลล์ที่ปกติของอวัยวะนั้นๆ ดังนั้นจึงสามารถนำเอามาช่วยในการวินิจฉัยโรคได้ และสามารถช่วยติดตามผลในการรักษา ถ้าการรักษาได้ผลก็จะพบ exosome ที่ผิดปกติน้อยลง แต่ถ้าไม่ได้ผลหรือโรคกลับเป็นใหม่ (recurrent) ก็จะพบ exosome ที่ผิดปกติในปริมาณที่ไม่ต่างจากเดิมหรือมากขึ้น
...
ในแง่ของการรักษา มีงานวิจัยนำเอายาหรือสารที่สนใจใส่เข้าไปใน exosome โดยหวังให้ exosome เป็นพาหะ (vehicle) ในการนำพายาหรือสารนั้นไปถึงเซลล์เป้าหมาย exosome ประเภทนี้จะเรียกว่า engineered exosome ซึ่งต่างจาก natural exosome เนื่องจากเรามีการใส่สารอื่นที่ร่างกายไม่ได้สร้างเข้าไปใน
exosome นั้น รวมถึงมีการเปลี่ยนแปลงผิวของ exosome เพื่อให้จำเพาะกับเซลล์เป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นจึงเหนือกว่าพาหะประเภท nanoparticle ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เพราะมีความเหมือนกับเซลล์ร่างกายมากกว่า จึงมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงหรือแพ้ยาได้น้อยกว่า ยิ่งไปกว่านั้น exosome ยังสามารถผ่าน blood-brain barrier จึงสามารถใช้ในการวินิจฉัย ติดตามโรคและรักษาโรคทางสมองหรือไขสันหลังได้
โรคที่กำลังมีการวิจัยเพื่อนำเอามาใช้ในการวินิจฉัยและติดตามโรคได้แก่ โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน ส่วนในการรักษาเช่น โรคตับ โรคหัวใจ โรคทางระบบประสาท ใช้ซ่อมแซมกระดูกอ่อนและเนื้อเยื่อ ใช้ซ่อมแซมความเสื่อมของผิวหนังเพื่อช่วยชะลอวัย ใช้เพื่อเป็นตัวช่วยกระตุ้นภูมิต้านทานของร่างกายในวัคซีน (adjuvant) ที่ปลอดภัยกว่า nanoparticle ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ exosome ยังเป็นแค่ผลผลิตจากเซลล์แต่ไม่ใช่ตัวเซลล์จริง ดังนั้นจึงมีความปลอดภัยมากกว่าการใช้สเต็มเซลล์ (cell-free therapy)
ถึงแม้ว่า exosome ดูจะเป็นสิ่งที่น่าสนใจและเป็นความหวังทางการแพทย์ แต่ก็ยังมีปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขเพื่อที่จะสามารถนำเอา exosome มาใช้ในชีวิตจริง ได้แก่
1.การแยก exosome ที่บริสุทธิ์ออกมาเป็นเรื่องที่ยากมาก ต้องใช้เครื่องมือทางห้องปฏิบัติการที่มีความละเอียดยิ่งและต้นทุนสูง ซึ่งไม่ใช่ว่าเครื่องมือที่สามารถทำได้ถึงระดับนี้จะมีทุกบริษัทหรือทุกโรงงาน
2.ถึงแม้มีเครื่องมือตามข้อ 1 ในทุกที่ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะสามารถแยกหรือผลิต exosome ตามที่เราต้องการได้ปริมาณเพียงพอ เพื่อที่จะมาขายให้ทุกคลินิกได้ใช้กันดาษดื่นขนาดนี้ มันแยกได้ปริมาณน้อยมากๆ พอแค่ใช้ในงานวิจัยเท่านั้นเอง ไม่พอที่จะเอามาขายแน่นอน
3.exosome เสื่อมสภาพได้เร็วมาก ดังนั้นต้องหาการเก็บรักษาที่ดีถ้าจะนำมาใช้จริงๆ ตามทฤษฎีแนะนำให้เก็บไว้ในตู้แช่ -80 องศาเซลเซียสเหมือนพวก mRNA vaccine แต่ก็ไม่สะดวกในทางปฏิบัติ ดังนั้น ปัจจุบันจึงพยายามพัฒนาให้สามารถเก็บในรูป freeze-dried ซึ่งทำได้ไม่ง่ายเพราะกระบวนการในการทำให้ปลอดเชื้อก็จะทำให้ exosome เสียสภาพได้ และจะมั่นใจได้ไหมว่าการที่ฉีด buffer เข้าไปผสมใน freeze-dried vial นี้ ตามด้วยการหมุนหรือเขย่าให้มันเข้ากัน แล้วเอามาฉีดให้คนไข้จะได้ exosome ที่มันคงตัวจริงๆ เพราะมันบอบบางค่อนข้างมาก
4.ปัญหาการปนเปื้อนของ exosome มีมากมาย เพราะขนาดของมันใกล้เคียงกับไวรัส ซากเซลล์ที่ตาย และอะไรต่างๆที่เซลล์สร้างมา นอกจากเรื่องของขนาดอนุภาคแล้ว ยังมีเรื่องของส่วนประกอบภายในอีก
5.ต่อเนื่องจากข้อ 4 ถ้าเราไม่รู้ส่วนประกอบภายในของสิ่งที่เราแยกออกมา ถ้ามันโดนปนเปื้อนด้วย pathogenic miRNA, oncogene, viral-integrated RNA, ส่วนของเชื้อโรคหรือสารพันธุกรรมก่อมะเร็งต่างๆ ก็เท่ากับว่าเราเอายาพิษไปฉีดให้ผู้รับ
6.การที่เราจะรู้ตามข้อ 5 ว่าสิ่งที่เราเอามาฉีดนั้น เป็น exosome ที่ปลอดภัยแค่ไหน ก็ต้องมาดูที่ COA (certificate of analysis) ซึ่งจะเป็นตัวบอกว่า exosome ที่เราใช้มีอะไรอยู่ในนั้นบ้าง ความเข้มข้นหรือจำนวนอนุภาคเท่าไหร่ เสถียรแค่ไหน ฯลฯ ซึ่งในทุกวันนี้แทบไม่มีบริษัทใดที่แสดง COA และถ้ามีเอกสารให้อ่านก็มีข้อมูลน้อยมาก แทบไม่ได้บอกอะไรเลย ส่วนใหญ่ทุกวันนี้ที่เอามาฉีดๆกันก็เพราะเชื่อบริษัท เชื่อคำโฆษณาทั้งนั้น
...
ขอทิ้งท้ายว่า exosome ที่ดี มีให้เราใช้จริงๆ น่าจะมาแน่ใน 2–3 ปีนี้ แต่เป็นในแง่เอา natural exosome มาใช้ในการวินิจฉัยโรคและติดตามการรักษา เพราะเป็นขั้นตอนที่ง่ายกว่า ส่วน exosome ที่เราใส่ยาหรือสารอะไรเข้าไปเพื่อใช้ในการรักษาโรคซึ่งเป็น engineered exosome นั้นยากกว่าเยอะ ต้องรออีก 4–5 ปี เพราะเราต้องไปจัดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง exosome มากมายโดยการทำให้มันรับยาเข้าไปจริงๆ มีความคงตัวสูง ไม่มีสารอื่นปนเปื้อน ไปยังเป้าหมายได้แม่นยำ ผลิตได้ปริมาณมากพอเอามาใช้ในอุตสาหกรรมยา ฯลฯ
บทความจากนายแพทย์ ดร.ชลธวัช สุวรรณปิยะศิริ.
หมอดื้อ