ต้องยอมรับว่าเวลานี้ค่าฝุ่น PM 2.5 ในเมืองไทยเข้าสู่ภาวะวิกฤติ และกลายเป็นภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดต่อสุขภาพอนามัยของคนไทย ที่ส่งผลกระทบทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ

องค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM 2.5 ในอากาศว่าหากมีเกินกว่า 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ขณะที่ประเทศไทยกำหนดอันตรายของฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่เกินกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งต่างจากเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกอยู่ประมาณครึ่งหนึ่ง

สาเหตุของการเกิดฝุ่น PM 2.5 มีแหล่งกำเนิดมาจาก 2 แหล่งคือ

แหล่งกำเนิดปฐมภูมิ เช่น การคมนาคมขนส่ง, การเผาในที่โล่งแจ้ง, โรงงานอุตสาหกรรม, โรงงานผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล

แหล่งกำเนิดทุติยภูมิ เช่น การปฏิกิริยาเคมีในอากาศโดยมีสารเคมีกลุ่มซัลเฟอร์ หรือกลุ่มไนโตรเจนและแอมโมเนียเป็นสารตั้งต้น รวมทั้งสารเคมีต่างๆที่เป็นอันตราย เช่น ปรอท, แคดเมียม, อาร์เซนิก, โพลีไซคลิกอะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน และสารก่อมะเร็งจำนวนมาก

ปัจจัยที่ทำให้ PM 2.5 ยังคงเป็นปัญหาในปัจจุบันคือ ยังคงมีแหล่งสร้างมลพิษทางอากาศซึ่งไม่สามารถควบคุมให้ปริมาณมลพิษทางอากาศจากแหล่งที่มาเหล่านี้ลดลงได้ รวมถึงสภาพความกดอากาศต่ำ ทำให้การเคลื่อนย้ายของฝุ่นมลภาวะทางอากาศไม่ถ่ายเทออกไปโดยง่าย

ฝุ่น PM 2.5 สามารถทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพทั่วไประยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะถ้ามีการสะสมในร่างกายเป็นระยะเวลานานๆ เช่น ระบบผิวหนัง ทำให้มีปัญหาผื่นคัน ผื่นแพ้, ลมพิษ, ผิวหน้าเหี่ยวแพ้ง่าย และเกิดริ้วรอยบริเวณร่องแก้มมากยิ่งขึ้นด้วย ระบบทางเดินหายใจ กระตุ้นภูมิแพ้, โรคหืด, โรคถุงลมโป่งพอง, ทำให้เกิดปัญหาโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, มะเร็งปอด ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจเรื้อรัง มีผลต่อการพัฒนาการ สติปัญญาของเด็ก และกระทบต่อการเจริญเติบโตของร่างกายในเด็ก และสามารถส่งผลถึง ทารกในครรภ์มารดา ทำให้เจริญเติบโตช้าหรือคลอดก่อนกำหนดได้ เดิมทีเราอาจไม่ได้คิดว่า PM 2.5 จะส่งผลกระทบใดๆต่อสุขภาพ เพราะมีขนาดเล็กจนไม่สามารถมองเห็นได้ แต่ด้วยขนาดที่เล็กมากๆ นี่เอง ที่ทำให้ฝุ่นจิ๋วสามารถแทรกซึมเข้าสู่อวัยวะสำคัญๆในร่างกายได้ โดยเฉพาะสมองและระบบประสาทที่หลายคนอาจไม่คาดคิด

...

PM 2.5 เข้าสู่อวัยวะต่างๆได้อย่างไร...

เท่าที่มีข้อมูลขณะนี้ พบว่า ฝุ่นจิ๋วสามารถผ่านเข้าสู่ร่างกายได้อย่างน้อย 3 ช่องทาง คือ

1.ผ่านผนังโพรงจมูกส่วนติดต่อสมองรับกลิ่น โดยจะซึมผ่านขึ้นไปที่สมองส่วนหน้าด้านล่าง

2.ผ่านเข้าไปในปอด เข้าไปถึงหลอดลม แล้วซึมเข้าสู่กระแสเลือดที่ไหลเวียนไปยังสมอง

และ 3.ผ่านเข้าสู่ทางเดินอาหาร โดยการกลืนลมที่มีฝุ่นจิ๋วปะปนในระหว่างการพูดคุยแล้วดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด หรือไปเปลี่ยนจุลชีพและสภาวะแวดล้อมในทางเดินอาหารก่อนจะไหลเวียนไปที่สมอง

มีการศึกษาในงานวิจัยหลายฉบับ พบว่า มีการสะสมของอนุภาคฝุ่นจิ๋วในสมองจริง โดยเฉพาะในสมองส่วนหน้า ซึ่งผ่านมาจากผนังโพรงจมูกส่วนติดต่อสมองรับกลิ่น โดยจะซึมผ่านขึ้นไปที่สมองส่วนหน้าด้านล่าง จากการตรวจพบอนุภาคฝุ่นจิ๋วในสมองส่วนหน้าคล้ายๆกลุ่มโรคที่เกิดขึ้นในสมองโดยทั่วไป

โดยพบว่าในเด็กเล็กที่อยู่ในช่วงเจริญเติบโต หากมีการสะสมของ PM 2.5 ในสมอง จะส่งผลถึงพัฒนาการของสมองช้ากว่าเด็กที่ไม่ได้รับการสะสมของฝุ่นจิ๋ว

นอกจากนี้ ในสมองส่วนลึกยังพบว่ามีโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกันระบบประสาทเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเชื่อมโยงตรงกับช่วงเวลาที่มีการเพิ่มขึ้นของ PM 2.5

ในทางการแพทย์อธิบายได้ว่า PM 2.5 มีผลกระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบในระบบประสาทส่วนกลาง และหากผลกระทบนี้ลุกลามไปยังสมองที่ทำหน้าที่อื่นๆ ก็จะส่งผลให้การทำงานของสมองในตำแหน่งนั้นผิดปกติไป เช่น ทำให้เกิดความจำเสื่อม ฯลฯ

การป้องกันและดูแลสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5 ทำได้โดยสวมหน้ากากป้องกัน โดยต้องเป็นหน้ากากที่มีคุณภาพ เช่น N95 หากไม่มีอาจใช้หน้ากากอนามัยซ้อนกัน 2 ชั้น แต่การสวมใส่หน้ากากควรสวมใส่อย่างถูกต้อง คือ ควรสวมใส่ปิดให้แนบสนิทกับใบหน้าทุกส่วน

ควรอยู่ในอาคาร บ้าน หรือพื้นที่ปิดมิดชิดมากกว่าการอยู่นอกบ้านหรือในพื้นที่โล่ง เพราะจะมีโอกาสสัมผัสฝุ่นน้อยลง และควรเปิดเครื่องฟอกอากาศที่มีแผ่นกรองที่มีคุณสมบัติในการกรองฝุ่น PM 2.5 ในกรณีที่ไม่มีการเปิดแอร์ ก็ควรเปิดพัดลมร่วมกับเปิดเครื่องฟอกอากาศ โดยปิดห้องให้มิดชิดไม่ให้อากาศภายนอกเข้ามาภายในห้อง

...

ซึ่งแม้จะไม่สามารถป้องกันอันตรายจาก PM 2.5 ได้ 100 % แต่ก็ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อระบบอวัยวะสำคัญในร่างกายลงได้ไม่มากก็น้อย.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สมาร์ทไลฟ์” เพิ่มเติม