“ใครที่เคยมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลอยู่บ่อย ๆ” คุณอาจกำลังเป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้อยู่ก็ได้ ซึ่งแม้ว่าอาการจะคล้ายกับหวัด แต่ในความเป็นจริงแล้วมีรายละเอียดที่แตกต่างกันอยู่ ซึ่งวันนี้คอลัมน์ “ศุกร์สุขภาพ” จะคลายข้อสงสัยนี้ให้เอง
“โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้” เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันร่างกายที่มีการสร้างภูมิคุ้มกันต่อตัวกระตุ้นที่เรียกว่าสารก่อภูมิเเพ้ที่มากเกินไป ส่งผลให้มีอาการภูมิแพ้ตามมา สารก่อภูมิแพ้มีทั้งสารก่อภูมิแพ้ที่พบภายในที่พักอาศัยซึ่งเป็นสารก่อภูมิแพ้หลักที่พบบ่อยในคนไทย เช่น ไรฝุ่น ขนสัตว์ เเมลงสาบ และสารก่อภูมิแพ้ที่พบภายนอกที่พักอาศัย เช่น ละอองเกสร ละอองหญ้า ในคนไข้ที่แพ้สารก่อภูมิแพ้ภายในที่พักอาศัย มักจะมีอาการภูมิแพ้ตลอดทั้งปี ส่วนรายที่แพ้สารก่อภูมิแพ้ภายนอกที่พักอาศัย มักจะมีอาการบางช่วงตามฤดูกาลที่มีละอองเกสร นอกจากนี้ในคนที่มีประวัติครอบครัว เช่น พ่อ เเม่ เป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ก็จะมีโอกาสในการเกิดโรคนี้มากกว่าคนที่ไม่มีประวัติครอบครัว
อาการ
อาการหลักของโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ คือ จามและคัน เช่น คันจมูก คันตา คันเพดานปาก หรือคันช่องหูร่วมด้วยได้ มีน้ำมูก ซึ่งมักเป็นลักษณะใสๆ หรืออาจจะมีขาวขุ่นบ้าง และมีอาการคัดแน่นจมูกร่วมด้วยได้ โดยอาการทางจมูกส่วนใหญ่ควรจะมีอาการทั้ง 2 ข้างของโพรงจมูก และมักมีอาการเป็นๆ หายๆ แบบเรื้อรัง และอาการสามารถหายเองได้หรือดีขึ้นเมื่อไม่ได้สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้
แม้ว่าอาการของโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้จะใกล้เคียงกับอาการของโรคไข้หวัด แต่อาการสำคัญที่พอจะช่วยแยกโรคได้ คือ อาการคัน และจาม ซึ่งมักพบในคนไข้โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้เป็นหลัก โดยมักมีอาการช่วงที่สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ เช่น มักมีอาการมากในช่วงเช้า หรือก่อนเข้านอน และอาการจะดีขึ้นหรือหายไปได้เอง เมื่อไม่ได้สัมผัสสารก่อภูมิแพ้แล้ว เช่น ช่วงออกไปนอกที่พักอาศัย
...
โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้โดยส่วนมากมักจะไม่มีอาการของการติดเชื้อไวรัส เช่น มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว น้ำมูกเปลี่ยนสีเป็นเหลืองข้นหรือเขียว นอกจากนี้ โรคไข้หวัดมักจะมีอาการมากในช่วง 2-3 วันแรก และอาการมักจะดีขึ้นและหายภายใน 7-10 วัน
การวินิจฉัย
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้โดยพิจารณาจากประวัติอาการ ร่วมกับการตรวจร่างกาย ซึ่งหากมีอาการดังที่กล่าวไปข้างต้น และมีการตรวจร่างกายที่เข้าได้ เช่น ตรวจพบความผิดปกติบริเวณใบหน้า ได้แก่ ขอบใต้ตาคล้ำ จมูกมีรอยจากการขยี้บ่อย ๆ หากเป็นคนไข้เด็กอาจพบลักษณะใบหน้ายาว ช่องเพดานปากสูง เนื่องจากมีอาการคัดจมูกเรื้อรัง ทำให้เด็กต้องหายใจทางปาก การตรวจโพรงจมูกมักพบมีการบวมของเยื่อบุโพรงจมูกที่มีสีซีดหรือม่วงคล้ำ ก็สามารถวินิจฉัยได้ว่าคนไข้น่าจะเป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้
การยืนยันการวินิจฉัยสามารถทำได้โดยการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง หรือการเจาะเลือด ซึ่งอาจจะไม่ได้ทำในคนไข้ทุกราย แต่จะทำในกรณีที่
1. ให้การรักษาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น
2. คนไข้ต้องการทราบว่าตนเองแพ้อะไร เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ได้อย่างถูกต้อง
3. คนไข้ที่จำเป็นต้องรักษาโดยวิธีการฉีดวัคซีนภูมิแพ้ จึงต้องทราบก่อนว่าแพ้อะไร
อันตรายและภาวะแทรกซ้อน
โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ เป็นโรคที่ไม่ได้มีอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่เป็นโรคประจำตัว รักษาไม่หายขาด แต่สามารถควบคุมอาการ เพื่อให้คนไข้ไม่มีอาการ และสามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ หากควบคุมอาการภูมิแพ้ไม่ดีหรือปล่อยให้มีอาการเรื้อรังโดยไม่รักษา อาจพบภาวะผิดปกติอื่นในระบบทางเดินหายใจร่วมด้วยได้ เช่น ต่อมอะดีนอยด์โต นอนกรน หูชั้นกลางอักเสบ หอบหืด
การรักษา มีทั้งหมด 3 วิธี ดังนี้
1. การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ โดยมีวิธีการดังนี้
1.1 พยายามเลือกใช้พรม ผ้าปูที่นอนที่ไม่กักเก็บไรฝุ่น ควรเปลี่ยนผ้าปูที่นอนทุกสัปดาห์ และควรทำความสะอาดด้วยน้ำร้อน 50-60 องศาเซลเซียส
1.2 ทำความสะอาดบ้านทุกวัน เพื่อป้องกันไรฝุ่น
1.3 หากเป็นคนแพ้ขนสัตว์ ไม่ควรเลี้ยงสัตว์ภายในบ้าน แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ควรแบ่งบริเวณให้ชัดเจน
1.4 ป้องกันไม่ให้มีแมลงสาบในบ้าน โดยฉีดยาป้องกัน และไม่ทิ้งเศษอาหารไว้ข้ามคืน
1.5 ควรหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สารก่อภูมิแพ้ แต่สามารถทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจได้ เช่น สารเคมี กลิ่นฉุน อากาศที่เย็นหรือร้อนเกินไป ควันบุหรี่ ควันรถ ฝุ่น PM 2.5 เนื่องจากคนไข้ในกลุ่มนี้มักจะมีความไวต่อสารเหล่านี้มากกว่าคนปกติ
...
2. การใช้ยา แบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลัก ๆ ดังนี้
2.1 ยาแก้แพ้ชนิดรับประทาน
2.2 ยาสเตียรอยด์ชนิดพ่นจมูก
การรักษาด้วยการใช้ยา จะพิจารณารักษาตามระยะเวลาที่มีอาการและความรุนแรงของโรค โดยถ้าเป็นไม่บ่อยและอาการไม่รุนแรงคือไม่ได้มีผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน เช่น การนอน การเรียน การทำงาน อาจจะพิจารณาให้ใช้ยาแก้แพ้ชนิดรับประทานเป็นครั้งคราวได้ ในกรณีที่คนไข้มีอาการบ่อย ๆ 4 วันต่อสัปดาห์ และเกิน 4 สัปดาห์ขึ้นไปหรือมีอาการปานกลางถึงรุนแรง คือมีการรบกวนชีวิตประจำวัน มักควบคุมอาการโดยการใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดพ่นจมูกเป็นหลัก ซึ่งมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง มีผลข้างเคียงต่ำ จึงสามารถใช้ได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว ในปัจจุบันมียาสเตียรอยด์พ่นจมูกที่มีส่วนประกอบของยาแก้แพ้ร่วมด้วย มีข้อดีคือออกฤทธิ์เร็ว เเต่มีข้อเสียคือมีรสชาติขม ซึ่งสามารถเลือกใช้ยาดังกล่าวในคนไข้กลุ่มนี้ได้ด้วย
3. การฉีดวัคซีนภูมิแพ้
กรณีที่ให้การรักษาโดยการใช้ยาแล้วไม่สามารถควบคุมอาการได้ หรือในกลุ่มคนไข้ที่ไม่สามารถทนผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้ หรือกลุ่มคนไข้ที่มีโอกาสเป็นหอบหืดได้ ก็จะทำการรักษาโดยการฉีดวัคซีนภูมิแพ้ ซึ่งจะสามารถปรับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้มีการตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ที่น้อยลง ทำให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น มีอาการภูมิแพ้ลดลง หรือลดการใช้ยาลงได้ แต่การรักษาด้วยการฉีดวัคซีนภูมิแพ้ จะใช้เวลาค่อนข้างนานและจำเป็นต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง ประมาณ 3-5 ปี ปัจจุบันมีการใช้วัคซีนภูมิแพ้ชนิดอมใต้ลิ้นในคนไข้ที่แพ้ไรฝุ่น มีข้อดีคือคนไข้สามารถบริหารยาเองที่บ้านได้ไม่ต้องมาโรงพยาบาลบ่อย ข้อเสียคือยังมีราคาที่เเพงกว่าวิธีการฉีด
การดูแลตนเอง
...
คนไข้โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ควรหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ เเละสิ่งกระตุ้นที่ไม่ใช่สารก่อภูมิแพ้ตามที่กล่าวมาข้างต้น รับประทานยาตามแพทย์สั่ง พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายเป็นประจำ ไม่เครียด เพราะอาจทำให้มีอาการภูมิแพ้กำเริบขึ้นได้ นอกจากนี้ ไม่ควรให้เป็นหวัด เพราะจะทำให้มีอาการทางจมูกมากกว่าปกติ จึงไม่ควรไปในที่ชุมชนถ้าไม่จำเป็น หรือหากจำเป็นต้องไป ก็ควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
แหล่งข้อมูล
ผศ. พญ.กังสดาล ตันจรารักษ์ ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล