กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานตัวเลขสถานการณ์ไข้เลือดออกในปี 2566 ว่า เป็นปีที่พบการระบาดของไข้เลือดออกครั้งใหญ่ทั่วโลก
โดยประเทศไทยมีผู้ป่วยถึง 24,090 ราย มากกว่าปีที่แล้วถึง 4.2 เท่า เป็นการระบาดสูงสุดในรอบ 3 ปี และมีผู้เสียชีวิต 15 ราย เฉลี่ยมีผู้ป่วยสัปดาห์ละ 900 ราย เสียชีวิตสัปดาห์ละ 1 ราย พบอัตราป่วยสูงสุดคือ กรุงเทพฯ ภาคใต้และภาคกลาง โดยนักเรียนอายุ 5-14 ปี ป่วยสูงสุด รองลงมาคือกลุ่มอายุ 15-24 ปี และมีผู้ป่วยสะสม 123,081 ราย เสียชีวิต 139 ราย
ไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี ซึ่งมีระยะฟักตัวในยุงประมาณ 8-12 วัน เมื่อยุงที่มีเชื้อไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อไวรัสไปยังผู้ที่ถูกกัด เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายคนและผ่านระยะฟักตัวนาน 5-8 วัน หรือสั้นที่สุด 3 วันยาวนานที่สุด 15 วัน ก็จะทำให้เกิดอาการของโรคได้ ซึ่งด้วยสภาพอากาศค่อนข้างร้อนชื้นอย่างประเทศไทย เป็นโอกาสที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสเดงกี บวกกับมีฝนตก ทำให้ลูกน้ำยุงลายมีปริมาณมาก และเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ เมื่อมีฝนตกมาก คนอยู่รวมกันหนาแน่น โอกาสที่จะแพร่ระบาดก็เพิ่มมากขึ้น
...
กลุ่มอายุที่เป็นไข้เลือดออกมากที่สุดคืออายุ 10-14 ปี รองลงมาคือ 5-9 ปี, 15-24 ปี และ 25-34 ปี ตามลำดับ เรียกได้ว่าโรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่มีความรุนแรงสูง
ถ้าหากมีผู้ป่วย 1,000 ราย จะเสียชีวิต 1 ราย จาก 2 สาเหตุ คือ ภาวะเลือดออกมาก และเลือดรั่วจากเส้นเลือดจนเกิดภาวะช็อก และเสียชีวิต
อาการของโรคไข้เลือดออกเริ่มจากมีไข้สูงเฉียบพลันเกิน 38.5 องศาเซลเซียส หรืออาจสูงถึง 40-41 องศาเซลเซียส ซึ่งบางรายอาจมีอาการชักเกิดขึ้น โดยเฉพาะในเด็กที่เคยมีประวัติชัก มีเลือดออกที่ผิวหนัง เป็นจุดเลือดเล็กๆกระจายอยู่ตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ อาจมีเลือดกำเดาหรือเลือดออกตามไรฟัน ในรายที่รุนแรงอาจมีอาเจียนและถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ซึ่งมักจะเป็นสีดำ (melena) อาการเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนใหญ่จะพบร่วมกับภาวะช็อก
สิ่งที่ต้องระวังมากที่สุดคืออาการช็อก ที่ทำให้ระบบการไหลเวียนเลือดล้มเหลว บางรายมีภาวะอาการตับโต กดเจ็บ ส่วนใหญ่จะคลำพบ ตับโตได้ประมาณวันที่ 3-4 นับตั้งแต่เริ่มป่วย ตับจะนุ่ม และกดเจ็บ มีภาวะการไหลเวียนล้มเหลว
ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีอาการรุนแรง มีภาวะการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว หรือภาวะช็อก เนื่องจากมีการรั่วของพลาสมาออกไปยังช่องปอด ช่องท้อง เกิด hypovolemic shock ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นพร้อมๆมีไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว
เวลาที่เกิดอาการช็อกขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่มีไข้ อาจเกิดได้ตั้งแต่วันที่ 3 ของโรค หรือเกิดวันที่ 8 ของโรค ผู้ป่วยจะมีอาการแย่ลง เริ่มมีอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเบา เร็ว และความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง ไข้เลือดออกหากเป็นครั้งแรกจะไม่ค่อยรุนแรงมาก แต่หากเป็นครั้งที่ 2 จะเกิดความรุนแรงมากขึ้น ทำให้เลือดออกและช็อกได้
วิธีป้องกันไข้เลือดออกคือ การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายและป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัด และหากพบว่ามีอาการ หรือมีประวัติถูกยุงลายกัด และมีอาการควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต.