ชาไข่มุก หรือชานมไข่มุก ที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Bubble Tea เป็นเครื่องดื่มยอดฮิตของบรรดาวัยรุ่นที่จะเรียกว่าทั่วโลกก็ว่าได้ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา
โดยชาชนิดนี้เริ่มต้นที่ไต้หวัน จากการนำเม็ดสาคูมาใส่ในชาหรือชานม จนกลายเป็นที่นิยมแพร่หลายไปในหลายประเทศ แม้กระทั่งแคนาดา ประเทศที่อยู่ไกลเอเชียไปไม่น้อย
กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชิงฮวา ร่วมกับมหาวิทยาลัยการเงินและเศรษฐศาสตร์กลางของจีนตีพิมพ์ผลการศึกษาว่าด้วยความเสี่ยงของการดื่มชานมหรือชาไข่มุกเป็นประจำว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้า นอกเหนือจากความเสี่ยงต่อโรคอ้วนและโรคเรื้อรังแบบไม่ติดต่อ (NCDs) ที่เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว
ผลการศึกษาดังกล่าวตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Affective Disorders โดยทีมวิจัย ซึ่งเป็นนักโภชนาการเป็นส่วนใหญ่ ได้ทำการสำรวจข้อมูลสุขภาพของนักศึกษา 5,281 คนในกรุงปักกิ่ง และพบว่าอาการ “เสพติดชานม” นั้น มีอยู่จริง และมีความเชื่อมโยงกับสุขภาพจิต โดยพบว่าการบริโภคชานมไข่มุกมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงที่นำไปสู่การเกิดภาวะวิตกกังวลเกินเหตุ, โรคซึมเศร้า และความคิดที่จะฆ่าตัวตายได้เกือบ 50% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ระบุว่า ดื่มชานมเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละแก้ว ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นพฤติกรรมที่แสดงถึงการเสพติด เช่น ดื่มปริมาณมากหลายแก้วในคราวเดียว หรือรู้สึกกระหายอยากดื่มชานมอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากชานมนั้นมีน้ำตาลในปริมาณสูง รวมทั้งมีสารคาเฟอีนที่ทำให้เสพติดได้ ทีมผู้วิจัยพบว่า คนที่เสพติดชานมมักมีอารมณ์ขุ่นมัว รู้สึกเหงาอ้างว้างและเศร้าสร้อยได้ง่าย ทั้งยังมีพฤติกรรมแยกตัวโดดเดี่ยวจากสังคมเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในหมู่เยาวชนจีน
...
นักวิจัยชี้ว่า มีแนวโน้มสูงที่คนหนุ่มสาวมักใช้การดื่มชานมเป็นเครื่องมือจัดการกับอารมณ์ที่ปั่นป่วนของตนเอง หรือใช้เป็นกลไกรับมือทางจิต วิทยาชนิดหนึ่งในการรับมือและควบคุมอารมณ์ ทำให้เสพติดชานมได้เหมือนกับการใช้สื่อโซเชียลหรือสารเสพติดทั่วไป อย่างไรก็ตาม ผลวิจัยนี้อาจจะยังไม่สามารถชี้ชัดถึงกลไกทางกายภาพและจิตวิทยาที่เป็นสาเหตุเบื้องหลังของเรื่องนี้ได้ แต่ยืนยันได้ถึงความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องระหว่างการเสพติดชานมกับปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วง และควรจะมีการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมในเชิงลึกต่อไป
ซึ่งผลการวิจัยครั้งนี้สอดคล้องกับงานวิจัยก่อนหน้าของ University College London ที่ติดตามพฤติกรรมการกินของกลุ่มตัวอย่าง 8,000 คนต่อเนื่องเป็นเวลา 22 ปี พบว่าผู้ชายที่กินน้ำตาลในปริมาณตั้งแต่ 67 กรัมต่อวันขึ้นไป (ระดับมาตรฐานคือ 36 กรัมต่อวัน) มีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะซึมเศร้ามากกว่าคนที่กินน้ำตาลในระดับปกติ
การศึกษาดังกล่าวต่อยอดมาจากการศึกษาที่ชื่อว่า Whitehall Study II ในปี 1985 ที่ทำการสำรวจปัญหาด้านสุขภาพและภาวะตึงเครียดของผู้ใช้แรงงานอายุ 35-55 ปีในกรุงลอนดอน โดยให้กลุ่มตัวอย่างทำแบบสำรวจเกี่ยวกับสุขภาพทุกๆ 2-3 ปี เก็บรายละเอียดตั้งแต่ประวัติโรคภัยไข้เจ็บ ภาวะตึงเครียด นอนไม่หลับ พฤติกรรมการกิน ไปจนถึงระดับน้ำตาลที่กินในแต่ละวัน
หลังจากเก็บข้อมูลครบ 5 ปี ทีมวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่กินน้ำตาลในระดับที่เกินมาตรฐาน ตรวจพบอาการซึมเศร้ามากกว่ากลุ่มตัวอย่างที่กินน้ำตาลในระดับปกติ
เช่นเดียวกับงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ที่ทำการทดลองในหนูทดลอง แสดงให้เห็นว่าการได้รับน้ำตาลในปริมาณที่เกินขนาดจะทำให้การผลิตโปรตีนที่ชื่อว่า BDNF ในสมองลดลง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการควบคุมระดับความเครียด และนำไปสู่ภาวะอารมณ์แปรปรวนขั้นรุนแรงได้
...
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยในอเมริกาอีกหลายงานวิจัยที่ให้ผลตรงกันว่า การกินหวานกับโรคซึมเศร้านั้นมีความเกี่ยวข้องกัน อาทิ การศึกษาของ James Gangwisch นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาโคลัมเบีย ที่ตั้งสมมติฐานว่า อาหารจำพวกแป้งที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูง (Glycamix Index) ซึ่งร่างกายดูดซับได้เร็วกว่าปกตินั้น จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ร่างกายเกิดภาวะตึงเครียด และการเผชิญภาวะนี้อย่างต่อเนื่องก็อาจนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้า ตรงข้ามกับคนที่เลือกกินอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ย่อมมีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าที่น้อยกว่า และยังมีเกร็ดข้อมูลที่น่าสนใจด้วยว่า จากเดิมที่เรามักเข้าใจว่าผู้หญิงบริโภคน้ำตาลมากกว่าผู้ชาย แต่ผลวิจัยกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม โดยพบว่าพฤติกรรมการกินของผู้ชายโดยเฉลี่ยนั้น มักเป็นอาหารที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลมากกว่า โดยเฉพาะอาหารจำพวกแป้ง รวมถึงการดื่มแอลกอฮอล์ด้วย.
คลิกอ่านคอลัมน์ "สมาร์ทไลฟ์" เพิ่มเติม