“ภาวะปวดขาในเด็ก (Growing Pains)” เป็นอาการปวดขาที่พบบ่อยในเด็กช่วงอายุระหว่าง 3-12 ขวบ จากชื่อโรคในภาษาอังกฤษอาจทำให้นึกถึงอาการปวดที่เกิดจากการเจริญเติบโต แต่ในความเป็นจริงนั้นการเจริญเติบโตนั้นไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวด

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง

สาเหตุของภาวะปวดขาในเด็กยังไม่ทราบชัดเจน แต่เชื่อว่าน่าจะเกิดจากการปวดกล้ามเนื้อที่มีปัจจัยกระตุ้นจากการทำกิจกรรมในระหว่างวันเยอะๆ กล่าวคืออาการปวดขามักมีอาการในวันที่เด็กมีกิจกรรมเล่นกีฬา ได้แก่ การวิ่ง การปีนป่าย การกระโดดที่มากกว่าปกติ นอกจากนี้อาจพบในเด็กที่มีภาวะข้อหลวม หรือเอ็นข้อหย่อนมากกว่าปกติ

อาการ

ส่วนใหญ่เด็กจะมีอาการปวดขาทั้ง 2 ข้าง ตำแหน่งที่ปวดมักเป็นกล้ามเนื้อบริเวณต้นขา หน้าแข้ง น่อง และหลังเข่า อาการปวดมักจะเป็นๆ หายๆ ไม่ได้ปวดทุกวัน อาการมักเป็นช่วงเย็น หรือตอนกลางคืน ในเด็กบางรายอาจนอนไปแล้ว แล้วต้องสะดุ้งตื่นด้วยความปวด อาการปวดจะดีขึ้นได้ด้วยการนวดเบาๆ หรือการประคบอุ่น ในช่วงกลางวันจะไม่มีอาการปวด วิ่งเล่นได้ตามปกติ สำหรับภาวะปวดขาในเด็กนี้อาจมีอาการได้ตั้งแต่หลักเดือนถึงปี

อาการที่ต้องเฝ้าระวังเพราะอาจไม่ใช่ภาวะปวดขาในเด็ก

- อาการปวดขาเป็นตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน ตื่นเช้ามาอาการปวดยังไม่หายไป
- ปวดขาข้างเดียว
- ตำแหน่งที่ปวดเป็นบริเวณข้อ
- อาการปวดขาไม่ดีขึ้นเมื่อนวด หรือประคบอุ่น หรือให้ทานยาแก้ปวดเบื้องต้น
- อาการปวดรุนแรงจนไม่สามารดำเนินชีวิตได้ตามปกติ เช่น การเดิน การวิ่ง การไปโรงเรียน เป็นต้น
- มีอาการร่วมอื่นๆ เช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักลด มีไข้ อ่อนเพลีย มีบวม แดง ร้อนบริเวณที่มีอาการปวด มีผื่น หรือจุดจ้ำเลือดออกตามตัว เป็นต้น

...

ถ้าหากมีอาการดังกล่าวข้างต้น ผู้ปกครองจะต้องรีบพาบุตรหลานของท่านมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ ซึ่งอาการดังกล่าวข้างต้นอาจเกิดจาก โรคมะเร็ง หรือภาวะติดเชื้อได้

การวินิจฉัย

โดยปกติไม่ได้มีการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการใดๆ ที่ต้องใช้ในการวินิจฉัยภาวะนี้ การวินิจฉัยจะทำได้โดยแพทย์จะซักประวัติเพื่อดูว่าไม่ได้มีอาการอื่นๆ ที่ต้องเฝ้าระวังที่อาจจะเป็นโรคมะเร็ง นอกจากนี้แพทย์จะดูประวัติการเจริญเติบโตจากสมุดวัคซีน โดยภาวะปวดขาในเด็ก (Growing Pains) จะต้องมีการเจริญเติบโต และพัฒนาการของเด็กปกติตามวัย

หลังจากนั้นแพทย์ก็จะตรวจร่างกาย ผลการตรวจจะต้องปกติทั้งหมด ไม่ได้เจอตำแหน่งที่ปวดชัดเจน จะต้องไม่มีอาการข้อบวม แดง ร้อนเกิดขึ้น

การรักษา

ไม่มีการรักษาจำเพาะสำหรับภาวะนี้ อย่างไรก็ตามภาวะปวดขาในเด็ก (Growing Pains) นี้เป็นโรคที่ไม่ได้มีอันตรายใดๆ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อร่างกาย การเจริญเติบโต หรือพัฒนาการของเด็ก โดยส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นภายใน 1-2 ปี ความรุนแรง และความถี่ของอาการปวดขาก็จะลดลงเมื่อเด็กอายุมากขึ้น

การรักษาจึงเป็นการรักษาแบบประคับประคอง ได้แก่ การนวดเบาๆ บริเวณที่เด็กมีอาการปวด การประคบอุ่น และการให้รับประทานยาแก้ปวดเบื้องต้นในกลุ่ม acetaminophen หรือ Non-steroidal Anti-inflammatory drugs (NSAIDs) ในบางรายที่มีอาการปวดเยอะในวันที่มีการทำกิจกรรมหนักๆ อาจให้มีการผ่อนคลายกล้ามเนื้อด้วยการแช่น้ำอุ่นก่อนนอน ฝึกยืดเหยียดกล้ามเนื้อ หรืออาจให้ยาแก้ปวดเพื่อป้องกัน หรือลดอาการปวดรุนแรงในคืนนั้น

@@@@@@@@

แหล่งข้อมูล

ผศ. พญ.ศิริสุชา โศภนคณาภรณ์ สาขาโรคข้อและรูมาติสซั่ม ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านคอลัมน์ ศุกร์สุขภาพ เพิ่มเติม