วิตามินบี 1 เป็นอีกหนึ่งสารอาหารที่ร่างกายต้องการ ช่วยเสริมสร้างความสมดุลให้ร่างกายในชีวิตประจำวัน สามารถหารับประทานได้จากอาหารธรรมชาติ มีประโยชน์ที่น่ารู้อย่างไร และมีข้อควรระวังอย่างไรบ้าง ติดตามได้ที่นี่
ทำความรู้จัก "วิตามินบี 1" คืออะไร
วิตามินบี 1 (Thiamine) คือ วิตามินที่ละลายในน้ำ ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ จำเป็นต้องได้รับจากสารอาหารต่างๆ เพื่อนำมาใช้ให้เกิดพลังงานและเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาในการช่วยเผาผลาญอาหารให้กับร่างกาย
ประโยชน์ของวิตามินบี 1 ช่วยเรื่องอะไรบ้าง
วิตามินบี 1 มีประโยชน์ในการช่วยเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน และน้ำตาล แล้วแปลงเป็นพลังงานให้กับร่างกาย มีส่วนช่วยสำคัญต่อการบำรุงระบบประสาท บำรุงหัวใจและกล้ามเนื้อ
อาการที่ควรสังเกตหากขาดวิตามินบี 1
หากไม่ได้รับวิตามินบี 1 อย่างเพียงพอ ร่างกายอาจเกิดอาการเหน็บชา ชาตามปลายมือและปลายเท้า อ่อนเพลีย เป็นตะคริวได้ง่าย หอบเหนื่อย หัวใจเต้นเร็ว หงุดหงิดง่าย ท้องผูก และเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ
...
วิตามินบี 1 ได้จากอาหารธรรมชาติประเภทใดบ้าง
- ข้าวกล้อง
- ข้าวซ้อมมือ
- เนื้อหมู
- เนื้อไก่
- เนื้อปลา
- กุ้ง
- หอย
- ตับ
- ไข่
- งาและถั่วชนิดต่างๆ
- เมล็ดทานตะวัน
- นมถั่วเหลือง
นอกจากนี้ ในปัจจุบันวิตามินบี 1 ยังถูกนำไปสกัดให้อยู่ในรูปผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เพื่อเพิ่มความสะดวกในการรับประทานและเสริมอาหารให้แก่ผู้ที่ร่างกายขาดวิตามินบี 1 ให้ได้รับสารอาหารที่เพียงพอต่อร่างกาย
ทั้งนี้ หากจะเลือกซื้ออาหารเสริมวิตามินบี 1 ก็ควรพิจารณาแบรนด์ที่น่าเชื่อถือ มีเครื่องหมาย อย. บนฉลากผลิตภัณฑ์เพื่อรับรองคุณภาพว่าไม่มีการปนเปื้อน และไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
ไขข้อสงสัย วิตามินบี 1 ควรกินตอนไหน
แนะนำให้รับประทานวิตามินบี 1 พร้อมมื้ออาหารได้เลย เพื่อให้ร่างกายได้รับประโยชน์สูงสุดทั้งจากมื้ออาหารและวิตามินที่เสริมเข้าไป ส่วนในผู้ที่ขาดสารอาหารจากวิตามินบี 1 อย่างรุนแรง ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและรับประทานตามแพทย์สั่งเท่านั้น
กินวิตามินบี 1 จะมีอาการข้างเคียงไหม
โดยทั่วไปวิตามินบี 1 สามารถรับประทานเสริมพร้อมอาหารได้ โดยที่ไม่มีผลข้างเคียงต่อร่างกาย ยกเว้นในบางรายอาจจะมีผลข้างเคียงจากการรับประทานวิตามินบี 1 เช่น ท้องเสีย อ่อนเพลีย เหงื่อออกมากกว่าปกติ แต่หากมีอาการแพ้รุนแรง เช่น หายใจลำบาก แน่นหน้าอก มีผื่นแดง คันตามร่างกาย และใบหน้าบวม แนะนำให้เข้าพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยจากผู้เชี่ยวชาญ
อ้างอิงข้อมูล : สำนักโภชนาการ กรมอนามัย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม