เมื่อพูดถึง “นิ่ว” หลายคนจะนึกถึงนิ่วในถุงน้ำดี แต่ยังมีโรคนิ่วอีกชนิดที่ถูกมองข้าม แต่มีอันตรายมากกว่า นั่นก็คือ “นิ่วในไต” หรือ Kidney stone

แม้จะชื่อว่านิ่วในไต แต่จริงๆแล้ว Kidney Stone เป็นนิ่วที่พบในระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นโรคที่พบบ่อยทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะช่วงอายุ 20-49 ปี

ที่น่าเป็นห่วงคือนิ่วในไต เป็นโรคนิ่วที่มีความสัมพันธ์ต่อการเพิ่มความเสี่ยงของโรคไตเสื่อม (chronic kidney disease), ไตวาย (end-stage renal failure), โรคหัวใจ (cardiovascular disease), เบาหวาน (diabetes) และโรคความดันโลหิตสูง (hyper tension) และพบอัตราการกลับมาเป็นซ้ำของโรคนิ่วชนิดนี้ค่อนข้างสูง

จากการศึกษาพบว่าคนส่วนใหญ่จะเกิดนิ่วซ้ำที่ 50% ใน 5-10 ปี และ 75% ในรอบ 20 ปี ทำให้เราต้องตระหนักเสมอว่า แม้จะรักษานิ่วในไตให้หายดีแล้ว แต่ก็ไม่ควรละเลย ควร ป้องกันการเกิดนิ่วซ้ำด้วยเช่นกัน

นิ่วในไตมีหลายชนิดที่พบมากที่สุด คือ Calcium stones พบที่ประมาณ 80% ของนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะทั้งหมด

...

Struvite or Magnesium ammo nium phosphate stones พบประมาณ 10-15% ของนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ นิ่วในไตชนิดนี้มักพบว่ามีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะเรื้อรัง โดยมีสัดส่วนการพบในเพศหญิงสูงกว่าเพศชาย

Uric acid stones or Urate เป็นนิ่วที่พบได้ประมาณ 3-10% ของนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ มักพบได้ในคนที่รับประทานอาหารที่มีสารพิวรีน (Purines) สูง โดยเฉพาะโปรตีนจากเนื้อสัตว์, ดื่มน้ำน้อย และมีความเป็นกรดในน้ำปัสสาวะสูง

Cystine stones พบได้น้อยกว่า 2% ของนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ สาเหตุเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม (genetic disorder) ทำให้ร่างกายขับสาร cystine ออกมามากในน้ำปัสสาวะ และสุดท้ายคือ Drug-induced stones พบประมาณ 1% ของนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ โดยยาที่มักสัมพันธ์ต่อการเกิดนิ่ว ได้แก่ guaifenesin, triamterene, atazanavir และยาในกลุ่มซัลฟา

อาการของนิ่วในไต แน่นอนคืออาการปวดที่จะเรียกว่าปวดท้องก็ไม่ใช่ แต่เป็นอาการปวดบริเวณสีข้าง ร้าวไปด้านหลัง มักปวดทันทีทันใด ในผู้ชายอาจมีอาการปวดร้าวมายังถุงอัณฑะ ส่วนผู้หญิงพบอาการปวดร้าวบริเวณอุ้งเชิงกราน

นอกจากอาการปวดแล้ว ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน มีปัสสาวะขัด อาจมีปัสสาวะเป็นเลือด หรือมีไข้ ในกรณีมีการติดเชื้อร่วมด้วย หรือก้อนนิ่วมีการอุดขวางทางเดินปัสสาวะ

การรักษานิ่วในไตมีหลายวิธี แพทย์จะเป็นผู้เลือกแนวทางการรักษา โดยพิจารณาจากขนาดของนิ่ว ต่ำแหน่ง จำนวนของนิ่ว ความแข็งของนิ่ว ลักษณะของรูปร่างไต และสภาพความพร้อมของผู้ป่วยเป็นสำคัญ

การรักษาหลักๆมี 4 วิธี เริ่มจาก การสลายนิ่ว เป็นวิธีการรักษาที่เหมาะกับนิ่วในไตขนาดไม่ใหญ่มากนัก และนิ่วมีความแข็งไม่มาก โดยมักมีข้อจำกัดในผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวมาก และนิ่วที่อยู่ด้านล่างของไต (lower pole stones) ที่อาจจะทำให้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร

การผ่าตัดรักษานิ่วในไตผ่านรูที่ผิวหนัง (Percutaneous nephrolithotomy: PCNL) เป็นวิธีการรักษาที่เหมาะกับก้อนนิ่วขนาดกลางถึงใหญ่ การรักษาโดยวิธีนี้ ต้องอาศัยศัลยแพทย์ที่มีความชำนาญและเครื่องมือเฉพาะสำหรับการกรอนิ่วผ่านทางรูที่ผิวหนัง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงต่อการเสียเลือดมาก

...

อีกวิธีหนึ่งคือ การผ่าตัดรักษานิ่วในไตโดยวิธีส่องกล้องผ่านทางท่อไต (Retrograde intrarenal surgery:RIRS) เป็นเทคนิคใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยม เพราะสามารถรักษานิ่วในไตขนาดเล็กถึงกลางได้ดี โดยที่ผู้ป่วยไม่มีบาดแผล เสี่ยงต่อการเสียเลือดน้อย ใช้เวลาพักฟื้นหลังผ่าตัดไม่นาน สุดท้าย การผ่าตัดเปิดเพื่อรักษานิ่ว วิธีนี้ได้รับความนิยมน้อยลงมากในปัจจุบัน เนื่องจากมีเทคโนโลยีการผ่าตัดผ่านกล้องที่หลายโรงพยาบาลทำกันเป็นปกติอยู่แล้ว การผ่าตัดเปิด นอกจากจะทำให้มีบาดแผลขนาดใหญ่ เสี่ยงต่อการเสียเลือดมากแล้ว ยังทำให้คนไข้มีอาการบาดเจ็บมาก รักษาตัวนานและเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย

การป้องกันนิ่วในไตทำได้ไม่ยาก เริ่มจาก ดื่มน้ำให้มากเพื่อลดโอกาสการตกตะกอนของก้อนนิ่ว กินแคลเซียมจากอาหารธรรมชาติให้เพียงพอ เลี่ยงอาหารรสเค็ม หรือลดเกลือในมื้ออาหาร ควบคุมการกินเนื้อสัตว์ นม เนย และกินผักให้เยอะจะช่วยลดโอกาสเกิดนิ่วได้แน่นอน.

คลิกอ่านคอลัมน์ "สมาร์ทไลฟ์" เพิ่มเติม