ฝุ่น PM 2.5 ยังคงเป็นปัญหาต่อเนื่องยาวนานมาหลายปี โดยเฉพาะช่วงปลายปีที่มักจะมีค่าฝุ่นสูงเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นช่วงที่อากาศหนาว ทำให้อากาศนิ่งและแห้ง ส่งผลให้ฝุ่นไม่ลอยขึ้นที่สูง อีกทั้งในบางพื้นที่เช่น กรุงเทพฯ รายล้อมไปด้วยตึกสูงที่ปิดกั้นทางลม และมีฝุ่นละอองจากการก่อสร้างจำนวนมาก มาเป็นปัจจัยเกื้อหนุนทำให้คุณภาพอากาศเลวร้ายลง จึงส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้คนมากมาย

ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างไร

ฝุ่น PM 2.5 เป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ซึ่งขนาดที่เล็กมากนี้จะสามารถหลุดรอดการกรองของขนจมูก ผ่านเข้าสู่ทางเดินหายใจเข้าไปยังถุงลมฝอยและแทรกซึม ผ่านเข้าไปยังหลอดเลือดฝอย และเข้าสู่กระแสเลือดได้ ทำให้เกิดโรคในหลายระบบ ในปี พ.ศ.2557 องค์การอนามัยโลกประกาศว่า การสัมผัสกับฝุ่น PM 2.5 ก่อให้เกิดอุบัติการณ์การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ประมาณ 3.7 ล้านคนต่อปี และผู้เสียชีวิตส่วนมากมีถิ่นที่อยู่ในฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ผลกระทบต่อสุขภาพของ PM 2.5 แบ่งออกเป็น 2 ระยะด้วยกัน คือ

...

การสัมผัสในระยะสั้น

  • ทางเดินหายใจอักเสบ หายใจลำบาก แสบจมูก ไอมีเสมหะ แน่นหน้าอก ถุงลมแฟบ สมรรถภาพปอดลดลง ภูมิแพ้และหืดกำเริบ
  • ทำลายภูมิคุ้มกัน เกิดการติดเชื้อในปอด และทางเดินหายใจได้ง่าย เช่น ไข้หวัดใหญ่, หลอดลมอักเสบ, หูอักเสบ
  • พัฒนาการเด็กล่าช้า
  • ผลต่อระบบสืบพันธุ์ ทำให้มีบุตรยาก

การสัมผัสในระยะยาว

  • โรคมะเร็งปอด
  • การอักเสบของเส้นเลือด อาจเกิดโรคหัวใจขาดเลือด โรคอัมพาตจากหลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน
  • โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง
  • โรคทางผิวหนังหรือตาอักเสบ
  • ผิวมีจุดด่างดำและรอยย่น ดูแก่กว่าวัย

ใครเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังฝุ่น PM 2.5

  1. เด็ก จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงเนื่องจากตัวเล็ก หายใจเร็ว พฤติกรรมของเด็กที่ชอบเล่นในที่กลางแจ้ง มีโอกาสสูดรับฝุ่นปริมาณมากเมื่อเทียบกับน้ำหนักตัว และมีแนวโน้มไม่ใส่เครื่องป้องกันฝุ่น
  2. ผู้ป่วยโรคหืด จะมีความไวต่อการกระตุ้นจากฝุ่น PM 2.5 หรือสารก่อภูมิแพ้เหล่านี้ ทำให้มีสมรรถภาพปอดลดลง และเกิดอาการหืดกำเริบได้ เพิ่มความเสี่ยงของการเข้ารักษาตัวที่ห้องฉุกเฉิน และห้องไอซียู
  3. หญิงตั้งครรภ์ จะมีความเสี่ยงทำให้ทารกในครรภ์เติบโตช้า ตัวเล็ก และถ้าสัมผัสฝุ่นมลพิษในช่วงไตรมาสที่ 3 อาจเกิดการคลอดก่อนกำหนดได้
  4. คนชรา พบว่า PM 2.5 เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตโดยจะมีความเสี่ยงเพิ่มเป็น 1.5 เท่า

วิธีป้องกันฝุ่น PM 2.5

  1. ติดตามรายงานสภาพอากาศและระดับ PM 2.5 อย่างสม่ำเสมอ
  2. ในบ้านหรืออาคารควรใช้เครื่องฟอกอากาศที่สามารถกรองฝุ่น PM 2.5 ได้
  3. สวมหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ หรือสวมหน้ากาก N95 เมื่อต้องออกจากบ้านหรืออาคาร
  4. สวมแว่นกันลม กันฝุ่น สวมเสื้อแขนยาวมิดชิด
  5. ลดเวลาการอยู่นอกบ้าน/อาคาร โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อ PM 2.5 สูง เช่น เด็ก หญิงตั้งครรภ์ คนชรา ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคภูมิแพ้ โรคปอด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไตเรื้อรัง
  6. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้ง

ข้อมูลอ้างอิง : ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย, รพ. สมิติเวช, รพ. รามาธิบดี

ภาพ : iStock