ตากุ้งยิงเป็นอาการระคายเคืองผิวหนังรอบดวงตา เกิดจากการติดเชื้อบริเวณเนื้อเยื่อเปลือกตาบน หรือเปลือกตาล่าง ทำให้รู้สึกเจ็บ คัน และในบางคนก็เป็นตุ่มหนองจนต้องพบแพทย์เพื่อเจาะออก 

ตากุ้งยิง เกิดจากอะไร มีวิธีรักษาด้วยตัวเองได้ไหม

ตากุ้งยิง ภาษาอังกฤษ คือ Hordeolum เป็นโรคที่เด็กและผู้ใหญ่มีโอกาสเป็นได้เท่ากัน อาการอักเสบของเปลือกตา เกิดจากแบคทีเรียที่ชื่อว่า Staphylococcus aureus พบได้ตามปกติบริเวณผิวหนัง แต่เมื่อเชื้อนี้เข้าสู่ผิวหนังจากรอยแผล และการอักเสบบริเวณรูต่อมไขมัน ก็จะทำให้ติดเชื้อ เป็นตุ่มบวม


ตากุ้งยิงมี 2 ประเภท คือ

1. ตากุ้งยิงชนิดหัวผุดภายนอก (External hordeolum) มีหัวฝี หรือหนองชี้ออกด้านนอกจากบริเวณขอบเปลือกตา
2. ตากุ้งยิงชนิดหลบใน (Internal hordeolum) ตุ่มบวม ตุ่มหัวฝี หลบเข้าไปด้านในเปลือกตา


ตากุ้งยิงมีโอกาสเกิดขึ้นได้ทั้งเปลือกตาบน และเปลือกตาล่าง โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นตากุ้งยิง มีดังนี้

...

1. ขยี้ตาบ่อย สัมผัสดวงตาด้วยมือที่ไม่สะอาด
2. ใส่คอนแท็กต์เลนส์เป็นประจำ หรือใส่คอนแท็กต์เลนส์นอนหลับ ไม่ได้ถอดออก
3. มีรอยอักเสบที่เปลือกตาอยู่ก่อน ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย
4. มีรอยอักเสบของตากุ้งยิงเดิม มีประวัติเป็นตากุ้งยิงมาก่อน
5. ใช้ผลิตภัณฑ์เช็ดเครื่องสำอางออกไม่หมด
6. พักผ่อนน้อย ภูมิคุ้มกันลดลง

อาการตากุ้งยิง เป็นกี่วันหาย

ใครที่พบว่าตัวเองเริ่มมีผิวหนังบริเวณเปลือกตาบวมๆ ระคายเคืองจนรบกวนการใช้ชีวิต คงอยากทราบว่าตากุ้งยิงเป็นกี่วันหาย อาการของโรคเป็นอย่างไรบ้าง 

วันที่ 1-2 มีอาการเคืองบริเวณเปลือกตา
วันที่ 3-5 เจ็บและคันบริเวณเปลือกตา รวมกับอาการบวม แดง
วันที่ 5-7 เป็นตุ่มใหญ่ขึ้น เป็นฝี มีหัวหนอง

วิธีรักษาตากุ้งยิงด้วยตัวเอง

เมื่อพบว่าตัวเองมีอาการดังกล่าว ใช้วิธีรักษาตากุ้งยิงด้วยตัวเอง โดยใช้ผ้าสะอาด หรือสำลีที่ผ่านการฆ่าเชื้อ ชุบน้ำอุ่น ประคบบริเวณเปลือกตา 5-10 นาที วันละ 3-5 ครั้ง โดยล้างมือและหน้าให้สะอาดก่อนประคบ และไม่ควรบีบหรือเจาะหนองออกด้วยตัวเอง

ตากุ้งยิงแบบไหนต้องไปหาหมอ

อาการตากุ้งยิงที่ควรมาพบแพทย์ คืออาการปวดอย่างรุนแรง หรือพบว่ามีหนอง ฝี เพื่อรับการประเมินว่าควรรับยาหยอด ยาปฏิชีวนะ หรือควรผ่าเจาะหรือไม่ อาการตากุ้งยิงที่ควรหาหมอ มีดังนี้

1. มองเห็นตุ่มหนอง ร่วมกับอาการปวด แดงบวม
2. เป็นตากุ้งยิงบ่อยๆ หายแล้วก็กลับมาเป็นซ้ำอีก
3. มีโรคประจำตัวอย่างเบาหวาน และโรคประจำตัวอื่นๆ ที่ต้องปรึกษาแพทย์เมื่อต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ

วิธีรักษาตากุ้งยิงเร่งด่วน ด้วยการผ่า

การผ่า-เจาะหนองออกเป็นวิธีรักษาตากุ้งยิงเร่งด่วน ช่วยลดอาการบวมแดง และทำให้อาการระคายเคืองตากุ้งยิงค่อยๆ บรรเทาหายเร็วขึ้น การผ่าตากุ้งยิงต้องทำในสถานพยาบาลภายใต้สภาวะปลอดเชื้อเท่านั้น ไม่ควรเจาะตากุ้งยิงด้วยตัวเอง เพราะจะทำให้ติดเชื้อเพิ่มได้

  • วิธีรักษาตากุ้งยิง แบบหยอดยา ไม่ต้องผ่า มีขั้นตอนดังนี้

1. แพทย์จะพิจารณาลักษณะหัวตากุ้งยิง หากไม่เป็นฝีที่โตขึ้น ก็จะให้คำแนะนำด้วยการประคบ หรือให้ยา
2. ยาหยอด กับยาป้าย จะเป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้ติดต่อกันได้ 3-7 วัน ถ้าไม่หาย ก็ต้องกลับมาพบจักษุแพทย์
3. หากไม่หาย แพทย์พิจารณาว่าต้องผ่าเจาะหนองออก ก็ต้องเตรียมตัวนัดหมายต่อไป

  • วิธีการรักษาตากุ้งยิงด้วยการผ่า-เจาะหนอง มีขั้นตอนดังนี้

1. แพทย์จะนัดผู้ป่วย เพื่อเตรียมความพร้อมเจาะหนองตากุ้งยิง
2. ผู้ป่วยเปลี่ยนชุด นอนบนเตียง
3. แพทย์หยอดยาชาที่ตา เตรียมการเจาะด้วยเครื่องมือปลอดเชื้อ
4. ทดสอบอาการชา และฉีดยาชาเพิ่มเติมบริเวณผิวเปลือกตา
5. เมื่อผ่านการทดสอบอาการชา แพทย์จะเจาะหนองออก 
6. ใส่ยาฆ่าเชื้อและปิดตาด้วยผ้าปิดตาที่ผ่านการฆ่าเชื้อ 2 ชั่วโมง เพื่อห้ามเลือด

ขั้นตอนที่สำคัญคือการเตรียมตัวก่อนเจาะตากุ้งยิง ขั้นตอนพบแพทย์เพื่อประเมิน แพทย์จะตรวจสอบความพร้อมของร่างกาย และตรวจสอบยาโรคประจำตัว เพื่อแนะนำให้หยุดยาบางตัวที่มีผลต่อการผ่าตัด เช่น ยา Warfarin ที่ใช้ละลายลิ่มเลือด ผู้รับประทานยานี้ต้องหยุดยาก่อนเจาะหนอง 7 วัน 

Q&A ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีรักษาตากุ้งยิง

Q : ตากุ้งยิงติดต่อกันได้ไหม
A : ตากุ้งยิงไม่เป็นโรคติดต่อ และเป็นโรคที่รักษาให้หายได้ด้วยตัวเอง สิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันตากุ้งยิง คือการหลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตา หมั่นล้างมือ และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้ตาอักเสบ

Q : ตากุ้งยิงหายเองได้ไหม
A : ตากุ้งยิงเป็นอาการที่หายเองได้ ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ประคบ หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้ระคายเคืองเปลือกตา ลดการเจอฝุ่น ลม ควันบุหรี่

...

Q : ตากุ้งยิงแบบไหนต้องผ่า
A : ตากุ้งยิงแบบไหนต้องผ่า แพทย์จะพิจารณาจากหัวตากุ้งยิงที่โตขึ้นจากต่อมไขมัน หากทายา รับประทานยามาหลายวันแล้วไม่ยุบ เกิดการระคายเคือง บวม แดง เป็นฝีหนอง แพทย์จะแนะนำให้เจาะเอาก้อนไขมันออก

อ้างอิง

1. ตากุ้งยิง เกิดจาก ?, RAMA Channel.
2. สาเหตุ และอาการ ตากุ้งยิง., โรงพยาบาลศิครินทร์.
3. ตากุ้งยิงเกิดจากอะไร?., โรงพยาบาลศิครินทร์.
4. ตากุ้งยิงไม่น่ากลัวอย่างที่คิด, โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต.
5. กุ้งยิงคืออะไร, โรงพยาบาลนนทเวช.

...