จากการที่ไข้หวัดใหญ่กำลังแพร่ระบาดในขณะนี้ มีทั้งไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B ทำให้เกิดคำถามว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ไหนรุนแรงที่สุด และสามารถป้องกันได้หรือไม่
ไข้หวัดใหญ่ ชื่ออาจจะฟังดูไม่น่ากลัวเท่าโควิด-19 แต่ความจริงแล้วมีความรุนแรงกว่าที่คิด รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ เผยว่า ในช่วงฤดูฝนของปี 2566 นี้ มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นกว่า 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ในช่วงที่โควิด-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลก ทำให้ผู้คนเก็บตัวในบ้าน ระมัดระวังด้านสุขอนามัย โอกาสแพร่เชื้อไข้หวัดใหญ่ก็น้อยลง
นอกจากนี้ประชาชนฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่น้อยลง ทำให้ร่างกายไม่มีภูมิคุ้มกัน แต่ไวรัสไข้หวัดใหญ่ยังหมุนเวียนอยู่อย่างเบาบาง เมื่อการระบาดของโควิด-19 ลดลง สังคมเข้าสู่สภาวะปกติ ทำให้พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่มากขึ้นอย่างชัดเจน ข้อมูลล่าสุดจากกรมควบคุมโรคเผยว่า ปี 2566 คนไทยติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ไปแล้วกว่า 200,000 ราย และยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง เพราะคนไทยยังไม่มี ‘ภูมิคุ้มกัน’ ไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ไหน รุนแรงที่สุด
ไข้หวัดใหญ่ คือ โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ที่มีสาเหตุมาจาก “เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่” ทำให้ผู้ติดเชื้อ มีไข้สูง ปวดหัว ตัวร้อน ไอ จาม มีน้ำมูก และปวดเมื่อยตามตัว โดยเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ที่ปัจจุบันถือได้ว่า “ร้ายกาจที่สุด” และส่งผลกระทบต่อผู้คนในสังคมเรามากที่สุดนั้น จะมีอยู่ด้วยกัน 2 สายพันธุ์ ได้แก่
1. ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A
เป็นสายพันธุ์ที่มีความอันตรายมากที่สุด เพราะสามารถกลายพันธุ์ได้ รวมทั้งยังแพร่ระบาดได้เป็นวงกว้าง ทำให้เชื้อมีความเป็นลูกผสม และมีฤทธิ์รุนแรง โดยไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A มักจะแพร่ระบาดตามฤดูฝนและฤดูหนาว ซึ่งสามารถแบ่งแยกออกได้เป็น 2 สายพันธุ์ย่อยที่พบบ่อย คือ H1N1 และ H3N2
...
2. ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B
เป็นสายพันธุ์ที่มีความอันตรายรุนแรงเช่นกัน ที่พบได้บ่อย คือ B Victoria, B Yamagata, B Phuket ซึ่งสามารถระบาดได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูหนาวเช่นเดียวกัน แต่อาการไม่รุนแรงเท่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A
อาการไข้หวัดใหญ่
สำหรับอาการของไข้หวัดใหญ่มักจะมีอาการไม่แตกต่างจากไข้หวัดทั่วไป แต่มีความรุนแรงกว่า โดยสัญญาณที่บ่งบอกว่าอาการที่เราเป็นอยู่นั้นไม่ใช่ไข้หวัดธรรมดา แต่เป็นไข้หวัดใหญ่ ประกอบไปด้วย
- มีไข้สูงกว่า 38 องศาฯ ขึ้นไป
- มีอาการปวดศีรษะ
- หนาวสั่น อ่อนเพลีย
- มีน้ำมูกไหล คัดจมูก
- เจ็บคอ มีอาการไอ
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ตามร่างกาย แขน ขา ตามตัว
- ในเด็กเล็กมีอาการถ่ายเหลว คลื่นไส้ อาเจียน และชักจากไข้สูง
ไข้หวัดใหญ่ส่วนมากจะมีระยะเวลาอาการของโรค 5 วัน หากมีอาการนานกว่านั้น อาจเกิดจากการติดเชื้อของแบคทีเรียแทรกซ้อนที่พบได้ในบางราย
ใครเป็นกลุ่มเสี่ยงไข้หวัดใหญ่
ต้องบอกว่าทุกคนเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สามารถติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ เพราะติดต่อผ่านการไอ จาม พูดคุย แล้วสูดเอาละอองที่มีเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งจะติดเชื้อได้ง่ายมาก-น้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่ 2 ปัจจัย คือ ความรุนแรงและปริมาณของเชื้อ ประกอบกับสภาพร่างกายของเรา หากร่างกายไม่แข็งแรงแล้ว ต่อให้เชื้อไม่ดุ มีปริมาณน้อย ก็อาจติดเชื้อและเป็นไข้หวัดใหญ่ได้ในที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบุคคลกลุ่มเสี่ยงดังต่อไปนี้ ต้องยิ่งระมัดระวัง เพราะมีโอกาสเกิดภาวะรุนแรงแทรกซ้อนมากที่สุด
...
- หญิงมีครรภ์
- เด็กเล็ก อายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี
- บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
- ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หืด หัวใจ ไตวาย หลอดเลือดสมอง เบาหวาน ธาลัสซีเมีย มะเร็งที่อยู่ระหว่างได้รับเคมีบำบัด ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้ติดเชื้อเอชไอวี
- ผู้ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 100 กิโลกรัม หรือดัชนีมวลกายตั้งแต่ 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
กลุ่มที่ต้องระวังการติดเชื้อไช้หวัดใหญ่เป็นพิเศษ คือ กลุ่มผู้สูงอายุ เพราะมีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ หากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่แล้ว โรคแทรกซ้อนที่อาจจะตามมา และทำให้เกิดความรุนแรงสูงเป็นอันดับหนึ่ง คือ ‘ปอดอักเสบ’ ตามมาด้วย โรคหัวใจวาย โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน และโรคหลอดเลือดสมอง (stroke)
วิธีป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่
- ไม่ควรคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด
- ควรปิดปาก จมูก ด้วยหน้ากากอนามัย
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด และอากาศถ่ายเทไม่ดีเป็นเวลานานโดยไม่จำเป็น
- หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ
- ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น
- ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละครั้ง โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง
ดังนั้นคำถามที่ว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ไหนรุนแรงที่สุด ต้องบอกว่ามีความรุนแรงทั้งสองสายพันธุ์ แม้ว่าสายพันธุ์ B จะมีความรุนแรงของอาการน้อยกว่า แต่ก็ไม่ควรประมาท โดยเฉพาะบุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ทางที่ดีที่สุดคือควรป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อ รวมทั้งฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี
...
ข้อมูลอ้างอิง : โรงพยาบาลพญาไท, สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย