หมอดื้อ ได้นำข้อมูลบทความทางวิทยาศาสตร์วิชาการ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการนอน ทั้งนอนน้อยนอนนานก็ไม่ดี งีบหลับกลางวันนานกว่าครึ่งชั่วโมงหรืองีบบ่อยๆ ส่อถึงภาวะสมองเสื่อมรวมทั้งโน้มนำให้รุนแรงมากขึ้น รวมทั้งการงีบหลับแล้วสะดุ้งตื่นกลับมีปัญญาบังเกิด ทั้งหมดนี้หาอ่านได้ในไทยรัฐคอลัมน์สุขภาพหรรษา หมอดื้อ
ทั้งนี้ จะพบว่าเรื่องของการนอนเป็นเรื่องมหัศจรรย์และเกี่ยวข้องกับสุขภาวะทางกายและทางสมองอย่างชัดเจน ทั้งนี้ยังพ่วงเกี่ยวกับเรื่องความฝัน
ดังที่พูดกันมาแต่โบร่ำโบราณ ว่านอนหลับฝันดีนะ เพราะในเวลาไม่นานมานี้เอง พบว่านอนแล้วฝันร้าย (nightmare) ฝันผวา (night terror) โดยที่มีพฤติกรรมหวาดกลัวถึงกับกรีดร้องหรือมีการเหวี่ยงแขนขา แบบฝันผจญภัยสุ่มเสี่ยงกับสมองไม่ดีสมองเสื่อมเร็วมากขึ้น
รายงานในวารสารแลนเซท e clinical medicine เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2023 จากภาควิชาประสาทวิทยา และศูนย์ Centre for Brain Health โรงพยาบาลและ มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ พบว่าเด็กทุกคนที่เกิดมาในอังกฤษในช่วงสัปดาห์เดียวกันในปี 1958 และมีการประเมินโดยสอบถามจากมารดาเมื่อเด็กอายุได้เจ็ดขวบในปี 1965 และ 11 ขวบในปี 1969 ว่าเด็กประสบกับฝันร้ายหรือฝันผวาหรือไม่ในช่วงระยะเวลาสามเดือนที่ผ่านมา... โดยมีจำนวนเด็ก 6,991 ราย ซึ่งเป็นผู้หญิง 51% พบว่า 78.2% นั้นไม่มีฝันร้ายเลย และ 17.9% มีฝันร้ายอยู่บ้างแต่ 3.8% มีฝันร้ายเป็นประจำตลอดเวลา
...
ในปี 2008 เมื่อถึงอายุครบ 50 ปีพบว่ามีถึง 262 รายที่มีความผิดปกติทางสมองพุทธิปัญญา (cognitive impairment) และห้ารายเป็นพาร์กินสัน
ทั้งนี้หลังจากที่ปรับตัวแปรและปัจจัยร่วมต่างๆ สรุปได้ว่าการที่มีฝันร้ายเป็นประจำและยิ่งบ่อยยิ่งมากในระหว่างเป็นเด็กนั้น จะสุ่มเสี่ยงแปรตามกับการที่จะมีความผิดปกติทางสมองดังกล่าว โดยมีนัยสำคัญทางสถิติไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง และเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่เคยมีฝันร้ายเลย กลุ่มที่ฝันร้ายเป็นประจำนั้นจะมีความเสี่ยงสำหรับความเสื่อมทางสมองหรือโรคพาร์กินสันที่อายุ 50 ปี สูงขึ้น 85%
หรือมีโอกาสเป็นภาวะที่เป็นสมองเสื่อมมากขึ้น 76% และมากขึ้นเจ็ดเท่าสำหรับโรคพาร์กินสัน
โอกาสเป็นภาวะสมองเสื่อมมากขึ้นในลักษณะนี้ ยังพบได้เช่นกันในกลุ่มวัยกลางคนและที่สูงวัยมาก (older adults) ที่แม้ว่าจะมีสุขภาพดีก็ตาม แต่มีฝันร้ายอย่างน้อยอาทิตย์ละหนึ่งครั้ง โดยมีโอกาสเพิ่มขึ้นสี่เท่าเมื่อติดตามไปในอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้า โดยในคนสูงวัยมากนั้น มีโอกาสเพิ่มขึ้นสองเท่า รายงานในวารสารเดียวกันจากสถาบันเดียวกันในวันที่ 21 กันยายน 2022
รายงานนี้ได้ทำการวิเคราะห์คนวัยกลางคนที่มีอายุระหว่าง 35 ถึง 64 ปี เป็นจำนวน 605 ราย และติดตามไป 13 ปี รวมทั้งผู้สูงวัยมาก ที่อายุมากกว่าหรือเท่ากับ 79 ปี เป็นจำนวน 2,600 รายและติดตามไปเจ็ดปี ทั้งนี้หลังจากที่ได้ทำการปรับปัจจัยตัวแปรต่างๆทั้งสิ้น
และผู้วิจัยได้ตั้งสมมติฐานที่จะอธิบายความสัมพันธ์เหล่านี้กับภาวะสมองเสื่อม
ประการแรกก็คือ มีความเป็นไปได้ที่ฝันร้ายฝันผวาเป็นอาการแรกเริ่มของโรคสมองเสื่อมแบบต่างๆทั้งพาร์กินสัน สมองเสื่อมแบบ Lewy bodies (dementia with Lewy bodies DLB) รวมทั้งอัลไซเมอร์ ดังที่ได้เคยมีรายงานก่อนหน้า และเกิดจากความเสื่อมของสมองบริเวณหน้าผากทางด้านขวา ซึ่งทำหน้าที่ในการลดทอนอารมณ์แปรปรวนในด้านลบระหว่างการฝันในช่วงที่ลูกตามีการเคลื่อนไหวเร็ว (REM sleep)
ซึ่งในระยะต่อมาพบว่ายิ่งมีฝันร้ายฝันผวาในผู้ป่วยที่เป็นพาร์กินสัน จะมีความสัมพันธ์กับความเหี่ยวของสมองกลีบขมับหน้าผากทางด้านขวาทั้งที่เปลือกสมองและในสมองส่วนสีขาว (grey and white matter)
รวมทั้งมีรายงานในระยะต่อมาว่า ภาวะฝันในช่วง REM จะเกิดขึ้นก่อนหน้าที่จะมีอาการของโรคพาร์กินสัน หรือ DLB ถึง 50 ปี แต่ทั้งนี้ความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างฝันผวาในช่วงตั้งแต่เด็กที่ประเมินตั้งแต่อายุเจ็ดขวบไม่น่าจะอธิบายว่าเด็กในอายุขณะนั้น ที่สมองกำลังมีการพัฒนาจะเกิดพยาธิสภาพผิดปกติแล้วที่อายุยังน้อยมาก
...
โดยที่ฝันร้ายฝันผวาต่างๆเหล่านี้อาจจะมีความสัมพันธ์เป็นเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดสมองเสื่อมตามหลังดังรายงานในประชากรวัยกลางคนและที่สูงวัยมาก
โดยกลไกที่อาจเป็นไปได้จะอยู่ที่วงจรของการนอนจะไม่เป็นสุข ถูกกระตุกเป็นระยะและส่งผลให้การเคลียร์หรือระบายขยะด้วยระบบ glymphatic system ทำงานไม่เต็มที่ โดยที่ทราบกันดีแล้วว่าการนอนหลับลึกจะทำให้ท่อระบายขยะเหล่านี้กว้างขวางขึ้นอย่างน้อย 60% และการที่ระบายขยะได้ไม่ดีทำให้มีการสะสมมากขึ้นเรื่อยๆของโปรตีนพิษบิดเกลียว อมิลอยด์ ทาว และอัลฟ่า ซินนูคลีอิน
และการนอนที่ไม่เป็นสุขมีฝันผวาในวัยเด็กเรื่อยมาอาจจะขัดขวางการพัฒนาทางสมอง และทำให้ต้นทุนของสมองลดน้อยถอยลงตามลำดับ และทำให้ถูกทำลายได้เร็วและมากขึ้นเมื่อมีปัจจัยอย่างอื่นเข้ามากระทบ ทั้งนี้รวมทั้งปัจจัยทางด้านพันธุกรรมอีกด้วย
แม้ว่ารายงานนี้จะเป็นการวิเคราะห์จากการติดตามระยะยาวแต่ก็ยังไม่สามารถอธิบายกลไกได้อย่างถ่องแท้ แต่ก็ไม่สามารถที่จะมองข้ามไปได้
การผ่อนคลายหรือบรรเทาภาวะฝันร้ายฝันผวาที่เกิดขึ้นในช่วงการนอน REM ที่ประกอบด้วยทั้งภาพและอารมณ์ก้าวร้าว ความขัดแย้งกับบุคคลอื่น ความล้มเหลวในชีวิตและผสมปนเปไปด้วยความกลัว ความโกรธและความเศร้าสลด อาจทำได้ด้วยพฤติกรรมบำบัด (Imagery reversal therapy) โดยนักจิตวิทยาที่สอนให้ปรับเปลี่ยนฝันร้ายที่ส่งผลในทางลบให้ออกมาเป็นทางบวก และเปรียบเสมือนกับเป็นการวาดความฝันใหม่ และในขณะที่มีการสอนอบรมนั้นในเวลากลางวัน มีการเปิดเสียงคลอไปด้วยเพื่อสร้างจินตภาพในทางสดใสและสร้างสรรค์และในขณะกลางคืนนั้นขณะที่หลับก็ให้มีเสียงเปิดไปด้วย เป็นการศึกษาโดยคณะในสวิตเซอร์ แลนด์ที่ทดสอบวิธีดังกล่าวกับผู้ที่ได้รับความทรมานจากฝันร้ายเป็นจำนวน 36 รายและพบว่าได้ผล เป็นที่น่าพอใจ
...
กล่าวโดยสรุปการนอนดีนอนหลับไม่ใช่เป็นแต่เพียงระยะเวลาของการนอน 6 ถึง 8 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงคุณภาพของการนอนที่หลับลึกไม่กระท่อนกระแท่นและไม่แทรกด้วยฝันร้าย ฝันผวา ฝันผจญภัย
การเจริญสติในทางสร้างสรรค์ ไม่คิดร้ายเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นหนทางของความสงบสุขโดยทั่ว.
หมอดื้อ
คลิกอ่านคอลัมน์ "สุขภาพหรรษา" เพิ่มเติม