“ไต” เป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย มีหน้าที่กำจัดของเสียและน้ำส่วนเกินออกมาในรูปของปัสสาวะ อีกทั้งยังช่วยปรับสมดุลเกลือแร่และกรดด่าง สร้างฮอร์โมนสำคัญที่ทำงานร่วมกับไขกระดูกในการสร้างเม็ดเลือดแดง และฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมการดูดซึมแคลเซียมจากทางเดินอาหาร ซึ่งหากเกิดความผิดปกติขึ้นกับไต หรือไตทำงานได้ลดลง แปลว่าคุณกำลังเป็นโรคไต ซึ่งโรคไตแบ่งออกเป็นโรคไตวายเฉียบพลันและโรคไตเรื้อรัง ซึ่งในบทความนี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะ “โรคไตเรื้อรัง” เท่านั้น
“โรคไตเรื้อรัง” คือ การตรวจพบว่าไตมีความสามารถในการทำงานที่ลดลง หรือสัญญาณที่แสดงออกว่าไตมีการบาดเจ็บ เช่น การตรวจพบเม็ดเลือดแดง หรือโปรตีนในปัสสาวะที่มากกว่าค่าปกติ
ผู้ที่มีความเสี่ยงในการเป็นโรคไตเรื้อรัง คือ ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะซ้ำๆ การรับประทานยาบางชนิด พันธุกรรม อายุที่เพิ่มมากขึ้น การมีนิ่วในทางเดินปัสสาวะ และผู้ที่เคยเป็นโรคไตวายเฉียบพลัน
ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังส่วนใหญ่ไม่มีอาการ มักตรวจพบจากการตรวจสุขภาพประจำปี แต่ในบางรายอาจมีอาการที่ทำให้สงสัยได้ว่าเป็นโรคไต เช่น ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นฟอง ขาบวม ความดันโลหิตสูงที่ควบคุมได้ยาก เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย คลื่นไส้ คัน ซึ่งหากมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจค้นเพิ่มเติม เพื่อยืนยันคำวินิจฉัยโรคไตเรื้อรัง หลักในการรักษาโรคไตเรื้อรัง คือ การชะลอความเสื่อมของไตให้ช้าลงที่สุด และค้นหาปัจจัยที่อาจแก้ไขได้ นอกจากนี้แพทย์จะทำการค้นหาภาวะแทรกซ้อน และให้การรักษาโรคร่วมที่เกี่ยวข้อง
การวินิจฉัย
...
แพทย์จะทำการตรวจเลือดเพื่อประเมินอัตราการกรองของไต ตรวจปัสสาวะ หรือภาพถ่ายทางรังสี เพื่อค้นหาความผิดปกติทางด้านกายภาพ หรือด้านการทำงานของไต เพื่อยืนยันคำวินิจฉัยและแบ่งระยะความรุนแรงของโรคไตเรื้อรัง นอกจากนี้แพทย์จะค้นหาสาเหตุ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคไตเรื้อรังเพื่อกำจัดหรือรักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บของไต รวมทั้งภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เช่น โลหิตจาง ภาวะเลือดเป็นกรด
การรักษา
หลักในการรักษาโรคไตเรื้อรัง คือ การกำจัดหรือรักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บของไต และชะลอการบาดเจ็บของไต ให้ไตมีอัตราการทำงานที่ลดลงช้าที่สุด โดยมีวิธีการดังนี้
1. หากผู้ป่วยมีโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิตสูงให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
2. ทบทวนยาที่รับประทานอยู่ ให้คำแนะนำในการเลือกใช้ยาว่ายาชนิดไหนที่ควรระมัดระวัง ปรับลดขนาดยาให้เหมาะสมกับระดับการทำงานของไต และพิจารณาสั่งยาที่มีหลักฐานว่าอาจช่วยชะลอความเสื่อมของไต
3. ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
4. เลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับระยะของโรคไตเรื้อรัง
5. ควบคุมปริมาณเกลือและน้ำ เพื่อรักษาสมดุลน้ำและความดันโลหิตให้ได้ตามเป้าหมาย
6. ค้นหาและรักษาภาวะแทรกซ้อนจากโรคไตเรื้อรัง
7. ตรวจคัดกรองความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และให้การรักษาที่เหมาะสม
การรักษาตามข้อ 1-5 ที่กล่าวมาข้างต้น จะใช้ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะ 1-4 แต่หากการทำงานของไตลดลงจนถึงไตเรื้อรังระยะสุดท้าย หรือระยะที่ 5 คือ ไตทำงานได้น้อยที่สุด จะต้องเตรียมพร้อมเพื่อทำการบำบัดทดแทนไต หรือเลือกการรักษาแบบองค์รวมชนิดประคับประคอง สำหรับการบำบัดทดแทนไตสามารถแบ่งการรักษาออกเป็น 3 วิธี ได้แก่
1. การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
2. การล้างไตทางหน้าท้อง
3. การปลูกถ่ายไต
สำหรับการเริ่มการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หรือการล้างไตทางหน้าท้องนั้น มักเริ่มทำการฟอกเลือดหรือล้างไตเมื่อผู้ป่วยมีอัตราการกรองของไตน้อยกว่า 6 มิลลิลิตรต่อนาที ยกเว้นถ้าผู้ป่วยมีอาการอันเกิดจากการทำงานของไตที่ลดลงอย่างมาก ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ เช่น ภาวะน้ำเกินที่ไม่สามารถควบคุมได้ด้วยยาขับปัสสาวะ ภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูงหรือของเสียคั่ง ก็อาจจะพิจารณาเริ่มการฟอกไตหรือล้างไต ก่อนที่อัตราการกรองของไตจะลดน้อยกว่า 6 มิลลิลิตรต่อนาที
...
สำหรับการรักษาแบบองค์รวมชนิดประคับประคอง คือการเลือกไม่ทำการบำบัดทดแทนไต ในผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดทางด้านโรคประจำตัว ที่อาจไม่เหมาะสมกับการบำบัดทดแทนไตข้างต้น เช่น ผู้ที่ไม่รู้สึกตัว ผู้ที่เป็นมะเร็งระยะสุดท้าย แพทย์และผู้ป่วยอาจตัดสินใจร่วมกัน เพื่อเลือกการรักษาแบบองค์รวมชนิดประคับประคอง โดยเน้นให้การรักษาเพื่อรักษาคุณภาพชีวิต มากกว่าการให้มีชีวิตที่ยืนยาว
การดูแลตนเอง
ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงในการเป็นโรคไตเรื้อรัง หรือมีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นโรคไต ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยว่ามีโรคไตเรื้อรังหรือไม่ เพื่อจะได้รับการรักษาให้เร็วที่สุด การดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ได้แก่
1. หลีกเลี่ยงการรับประทานยาที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะยาในกลุ่มยาแก้ปวด ยา
กลุ่ม NSAIDs ยาสมุนไพรต่างๆ แต่ยาที่จำเป็นสำหรับโรคประจำตัวอื่นๆ ก็ต้องรับประทานอย่างสม่ำเสมอ
2. รับประทานโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน
3. เลือกรับประทานโปรตีนในปริมาณที่เหมาะสม ขึ้นกับระยะของโรคไตเรื้อรังที่เป็น
4. ควบคุมน้ำหนัก ไม่อ้วน ไม่ผอมจนเกินไป
5. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
6. ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อดูปริมาณไขมันในเลือด ลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด
7. ควบคุมโรคประจำตัวอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่อไต เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
แหล่งข้อมูล
อาจารย์แพทย์หญิงศรินยา บุญเกิด สาขาวิชาโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล