คนทั่วๆไปนั้น มักยอมรับกันว่าเมื่อสูงวัยขึ้นพอเริ่มมีความจำหดหายลงหรือจำได้บ้างไม่ได้บ้าง และเมื่อลืมไปแล้วบางครั้งถึงคิดออก โดยสรุปว่าเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต้องมีและสมองเสื่อมเป็นตามวัย

แต่ในความเป็นจริงนั้น สิ่งที่ดูเหมือนว่าหรือคิดไปว่าเป็นเรื่องธรรมดา แท้จริงแล้วเป็นความไม่ปกติหรือเป็นโรค ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุโดยเฉพาะที่เป็นโรคความเสื่อมของสมอง เช่น อัลไซเมอร์ หรือเกิดขึ้นจากเส้นเลือดมีการอุดตันทั่วไปหรือที่อยู่ก็จุกระจายอยู่ในตำแหน่งสำคัญ หรือมีหลายสาเหตุร่วมกัน

แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นที่สังเกตว่าคนสูงวัยโดยมีอายุตั้งแต่ 80 ขึ้นไป กลับมีความจำสดใสเฉกเช่นคนที่มีอายุน้อยกว่า 30 ปีด้วยซ้ำ และขนานนามกันว่าเป็น “superagers” หรือ สว. สมองใส หรือ สูงวัยแต่สมองยังซุปเปอร์

เหล่านี้เป็นที่มาของการศึกษาระดับใหญ่โต ของสถาบันทางประสาทวิทยาศาสตร์หลักของประเทศสเปน ที่มีการทำงานร่วมกันกับสถาบันของเยอรมนีและฟินแลนด์ และตีพิมพ์ในวารสาร Lancet Healthy Longev เดือนกรกฎาคม 2023...ทั้งนี้ โดยมีการเลือก สว. สมองใสหรือสมองซุปเปอร์ จากประชากรที่อยู่ในโครงการ Vellecas และมีการติดตามระยะยาว โดยระดมอาสาสมัคร เริ่มต้นระหว่างวันที่ 10 ตุลาคม 2011 และ 14 มกราคม 2014 อายุ 79.5 ปีหรือสูงกว่า

...

โดยการประเมินสภาพความจำ (delayed verbal episodic memory score) และใช้ Free and Cued Selective Reminding Test and with three non-memory tests (the 15-item version of the Boston Naming Test, the Digit Symbol Substitution Test, and the Animal Fluency Test) ทั้งนี้ สว. สมองใส จะต้องมีผลการตรวจที่จำเพาะประเภท อยู่ที่ระดับของคนอายุ 50 ถึง 56 ปี หรือได้คะแนนสูงกว่า และต้องได้คะแนนที่อยู่ที่ระดับเดียวกันหรือสูงกว่าสำหรับคนที่อายุเท่ากันและมีระดับการศึกษาระดับเดียวกัน

การติดตามอยู่ในช่วงระยะเวลาห้าถึงหกปี ตั้งแต่เริ่มเข้าการศึกษาเมื่อสิ้นสุดการศึกษาแล้วนั้นพบว่ามี สว. สมองใส 64 คน อายุเฉลี่ย 81.9 ปี เป็นผู้หญิง 59% และผู้ชาย 41% และมี สว. สมองปกติ ไม่ใส 55 คน อายุเฉลี่ย 82.4 ปี โดยที่ 64% เป็นผู้หญิง และ 36% เป็นผู้ชาย

สว.สมองใส จากการประเมินตัวชี้วัด 89 ตัว ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลประจำตัวทั่วไป พฤติกรรมการดำเนินชีวิต ไลฟ์สไตล์ และลักษณะของแต่ละคน พบว่า 1.มีการเคลื่อนไหวร่างกายตลอดเวลาสม่ำเสมอ (ไม่ได้หมายความว่าต้องออกกำลังกายเป็นบ้าเป็นหลัง) ทำกิจกรรมกาย ทำสวน รดน้ำต้นไม้ เดิน ไปนู่นนี่

2.มีสุขภาพจิตดีเยี่ยม ไม่หมกมุ่นอยู่กับความกังวล หดหู่ ซึมเศร้า แม้จะอยู่คนเดียว เพราะคู่ชีวิตเสียไปแล้วหรือหย่า มิสนใจใครว่าร้าย (เพราะคนคิดไม่ดี ซึ่งเครียด สมองจะเสื่อมเอง อันนี้หมอว่าเอง)

3.มีการเล่นเครื่องดนตรี ไม่ว่าจะเป็นสมัครเล่นหรืออาชีพก็ตาม ตั้งแต่วัยกลางคนเรื่อยมาตลอด (เล่นเก่งมั้ยเก่ง ไม่ได้ระบุ ขอให้มีความสุข หมอว่าเอง)

ทั้งนี้ ไม่ขึ้นอยู่กับเศรษฐฐานะ ระดับความสูงส่งทางการศึกษา แม้กระทั่งโรคประจำกาย

นอกจากนั้น สว.ใสเหล่านี้ ยังพบจากการตรวจคอมพิวเตอร์สมองอย่างละเอียด โดยที่มีการฝ่อ เหี่ยว เปลือกผิวสมองในตำแหน่งต่างๆช้ากว่า สว. ปกติ และยังฝ่อช้าในส่วนของสมองกลีบขมับด้านในที่เกี่ยวข้องกับความจำ และใจกลางสมอง ที่เกี่ยวข้องกับความกระฉับกระเฉงการเคลื่อนไหวไม่ทอดหุ่ยเนือยนิ่ง

และทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้น่าจะใช้เป็นกลยุทธ์ ถ้ากระฉับกระเฉง มีกิจกรรมกาย ไม่ทอดหุ่ยในชีวิตประจำวัน เดิน มีสุขภาพจิตดี ไม่กังวลหดหู่ อารมณ์ชื่นมื่น ดนตรี ฟังเพลง จนถึงถ้าหัดเล่นเครื่องดนตรี หรือเล่นเป็นอยู่แล้วตั้งแต่วัยกลางคน ทำให้ความจำดีขึ้นเหมือนอายุสมองอ่อนลงไปอีก 30 ปี

...

อีกกลยุทธ์ในวารสาร frontiers Neuro science กรกฎาคม 2023 คนอายุ 60 ถึง 85 สุขภาพร่างกายปกติและมีการประเมินความจำ โดยให้ได้กลิ่นเครื่องหอมระเหย (odorant diffuser) คืนละ 2 ชั่วโมง ได้แก่ กลิ่นกุหลาบ ส้ม ยูคาลิปตัส มะนาว เปปเปอร์มินต์ โรสแมรี ลาเวนเดอร์ ผ่านไปหกเดือนตรวจสอบพบว่า ความจำดีขึ้น 226% และยืนยันจากการประเมินประสิทธิภาพของเส้นใยประสาท พบว่ามีการเชื่อมโยงระหว่างสมองส่วนหน้า orbitofronatal cortex เข้ากับสมองส่วนความจำ temporal lobe โดยผ่านทาง uncinate fassciculus

แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าประเภทของอาหาร ผัก ผลไม้กากใย ถั่ว ธัญพืช งด ลดเนื้อสัตว์ ทานปลาได้ ลดแป้ง ร่างกายและสมองจะยิ่งสดใสขึ้นไปอีก โดยที่ลักษณะของอาหารเป็นอาหารช่วยชีวิตและสมอง ซึ่งถ้าร่างกายดีจะส่งผลทำให้มีการปกป้องสมองด้วย

ทั้งนี้ เนื่องจากจะไม่มีการสร้างสารอักเสบขึ้นจากลำไส้โดยที่ถ้ามีจุลินทรีย์ไม่ดี จากการที่กิน “อาหารทำลายชีวิต” ไม่ใช่อาหารช่วยชีวิต กินเนื้อสัตว์บก แป้ง ของหวาน จะเกิดการผลิตสารอักเสบจากจุลินทรีย์ไม่ดี ทำให้ผนังเยื่อบุลำไส้รั่ว การอักเสบหลั่งไหลไปทั่วร่างกาย เกิดความผิดปกติของเส้นเลือดในร่างกายและเส้นเลือดในสมอง ซึ่งจะเร่งกระตุ้นทำให้เกิดการอักเสบ “รอบสอง” ในสมองและกระตุ้นการสร้างโปรตีนพิษบิดเกลียวในสมอง โดยไม่สามารถคลี่เกลียวหรือขับทิ้งไปได้อย่างหมดจด และทำให้เซลล์สมองเกิดความผิดปกติตามลำดับขั้นตอน ทางเมตาบอลิซึม จนเกินระดับที่จะทนทานได้ ทำให้เริ่มมีความแปรปรวนของการทำงานหน้าที่ของสมองและต่อไป มีผลกระทบในโครงสร้างของเซลล์สมองจนกระทั่งมีความเสียหายถาวร (Micro และ macrocellular damage)

...

อาจเป็นไปได้ว่ากลยุทธ์ในการดำเนินชีวิต ไลฟ์สไตล์ดังข้างต้นจะสามารถช่วยป้องกันพยาธิสภาพหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นในสมองได้จริง เพราะการฝ่อเหี่ยวนั้นช้าลงอย่างชัดเจน แต่ก็เป็นไปได้ที่จะมีการเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารส่งต่อข้อมูลกันในระหว่างเซลล์สมองในบริเวณเดียวกันและบริเวณต่างๆทั้งสมอง โดยผ่านเส้นใยประสาท ดังที่แม้ได้กลิ่นหอมระเหย เวลานอนทำให้มีความสุขก็ยังช่วยได้ แม้ว่าเราจะตัดประเด็นของการที่มียีนพิเศษของมนุษย์อยู่ด้วยก็ตามแต่ข้อมูลทั้งหลายจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ยังคงยืนยันว่าแม้เกิดมาชะตาชีวิตไม่ดี แต่เราก็ยังสามารถเอาชนะได้

และนี่คือความสำคัญของการปฏิบัติตัว ที่แม้จะมีสมองเสียหายแล้วแต่ภายนอกก็ยังดูดีอยู่ได้ (resilience) จนกระทั่งถึงการชะลอไม่ให้สมองเสียหายเร็วและปรับกระบวนทัศน์ของการใช้พลังงานให้เป็นในรูปแบบของ autophagy คือใช้พลังงานอย่างประหยัดเมื่อขยะรีไซเคิลนั่นเอง

สุขภาพดีสมองใสขึ้นอยู่กับตนเองต้องลงทุนอย่าคิดว่าจะมีทางลัด มีเงินทองล้นฟ้าก็ช่วยไม่ได้นะครับ.

หมอดื้อ

คลิกอ่านคอลัมน์ "สุขภาพหรรษา" เพิ่มเติม