“โรคไข้รากสาดใหญ่” มีชื่อเรียกว่า “โรคสครับไทฟัส (Scrub typhus)” หรือ “โรคไข้ไรอ่อน” เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อกลุ่มริกเก็ตเซีย (Rickettsial infection) ที่ชื่อว่า โอเรียนเชีย ซูสุกามูชิ (Orientia tsutsugamushi) พาหะของโรค คือ ตัวอ่อนของไรอ่อน (Larva of trombiculid mites) ซึ่งเรียกว่า ชิกเกอร์ (Chiggers) ขนาดเล็กกว่า 1 มิลลิเมตร

โรคไข้รากสาดใหญ่ พบบ่อยในประเทศไทยและแถบเอเชีย โดยมักพบในชนบทมากกว่าในเมือง ผู้ที่มีความเสี่ยง คือ ผู้ที่มีโอกาสสัมผัสไรอ่อน ซึ่งอยู่ตามต้นหญ้า หรือต้นไม้พุ่มเตี้ย มักกระโดดเกาะตามตัวและเสื้อผ้า โดยผู้ป่วยสูงอายุมีความเสี่ยงที่จะเป็นรุนแรงกว่าคนอายุน้อย

ระยะฟักตัว โรคไข้รากสาดใหญ่

หลังจากโดนไรอ่อนกัด ประมาณ 6-21 วัน มักจะเริ่มมีอาการ

อาการและอาการแสดง โรคไข้รากสาดใหญ่

บริเวณที่กัด อาจเห็นเป็นผื่น โดยมีลักษณะเฉพาะ คือ คล้ายผื่นบุหรี่จี้ หรือเรียกว่า Eschar มักจะเริ่มจากแดงก่อน แล้วจะมีทั้งผื่นแบนหรือนูน และขยายวงกว้างมากขึ้น มักไม่รู้สึกปวดหรือคัน ทำให้ไม่ได้สังเกต หลายครั้งผื่นมักอยู่ในร่มผ้า เช่น ขาหนีบ รอบเอว รอบหน้าอกหรือรักแร้

ผู้ป่วยมักมีไข้ หนาวสั่น ไอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียมาก จนถึงไม่มีแรงได้ อาจพบต่อมน้ำเหลืองโต คลื่นไส้อาเจียน หัวใจเต้นช้าเทียบกับไข้ที่สูง

หากเป็นรุนแรง และไม่ได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย ได้แก่ ปอดอักเสบ ระบบประสาทส่วนกลาง เช่น สมองอักเสบ บางรายทำให้เกิดการสูญเสียของการทำงานของอวัยวะหลายระบบจนเสียชีวิตได้

...

การวินิจฉัย โรคไข้รากสาดใหญ่

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้จากประวัติความเสี่ยง อาการและอาการแสดง โดยเฉพาะผื่นที่มีลักษณะเฉพาะ ยังสามารถวินิจฉัยจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ผู้ป่วยโรคไข้รากสาดใหญ่ มักมีเกล็ดเลือดต่ำ ค่าไตสูงขึ้น ค่าบิริรูบินสูงขึ้น

การวินิจฉัยจำเพาะที่ช่วยสนับสนุนการวินิจฉัย ได้แก่ การตรวจทางอิมมูนวิทยา การวินิจฉัยทางพันธุกรรมแบบพีซีอาร์จากเลือดและจากชิ้นเนื้อใกล้บริเวณผื่นที่คล้ายบุหรี่จี้

การรักษา โรคไข้รากสาดใหญ่

ผู้ป่วยทุกรายที่สงสัยหรือยืนยันว่าเป็นโรคไข้รากสาดใหญ่ ควรได้รับการรักษาทุกราย ซึ่งขึ้นกับความรุนแรงของโรค โดยมียาปฏิชีวนะที่สามารถรักษาได้ 2 ตัวหลัก คือ ด๊อกซีไซคลิน () และอะซิโทรไมซิน (azithromycin)

ผู้ที่อาการน้อยถึงปานกลาง เลือกใช้ตัวใดตัวหนึ่ง หากมีอาการรุนแรง อาจจำเป็นต้องให้ยาทั้ง 2 ตัวคู่กัน

การป้องกัน โรคไข้รากสาดใหญ่

ป้องกันไม่ให้ไรอ่อนกระโดดมาเกาะร่างกาย หรือเกาะตามเสื้อผ้า โดยการใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด อาจทายาป้องกันแมลง ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนเฉพาะ และน่าจะทำได้ยากในอนาคตอันใกล้นี้ เนื่องจากมีหลายสายพันธุ์ย่อยนั่นเอง

หากสงสัยว่าตนเองอาจเป็นโรคไข้รากสาดใหญ่ ควรปรึกษาแพทย์และบุคลากรทางสาธารณสุขทันที

@@@@@

แหล่งข้อมูล

.พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านคอลัมน์ "ศุกร์สุขภาพ" เพิ่มเติม