รายงานล่าสุดตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ BMJ Oncology เปิดเผยผลการสำรวจประชากรนับล้านคนในหลายร้อยประเทศทั่วโลก พบว่าจำนวนคนหนุ่มสาวอายุน้อย โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุไม่ถึง 50 ปี ป่วยด้วยโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นถึง 79% ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา

นับเป็นครั้งแรกที่มีการทำวิจัยขนาดใหญ่ระดับโลก ครอบคลุมประชากรวัย 14-49 ปี ใน 204 ประเทศ และใช้ฐานข้อมูลทางการแพทย์ที่รวมถึงโรคมะเร็งในอวัยวะต่างๆถึง 29 ชนิด

การศึกษาวิจัยครั้งนี้ทำให้ได้ข้อมูลที่น่าตกใจว่า จำนวนผู้ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งตั้งแต่อายุยังน้อย เพิ่มขึ้นจาก 1.82 ล้านคน ในปี 1990 มาอยู่ที่ 3.26 ล้านคน ในปี 2019 ส่วนจำนวนผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งทั้งที่ยังอยู่ในวัยเพียง 30-40 ปี เพิ่มสูงขึ้น 27% ทำให้ปัจจุบันมีคนอายุต่ำกว่า 50 ปี ที่ต้องเสียชีวิตไปก่อนวัยอันควรด้วยโรคมะเร็งมากกว่าปีละ 1 ล้านคนทั่วโลก

แม้จะยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แน่ชัดของแนวโน้มการเกิดมะเร็งในคนอายุน้อยดังกล่าว แต่ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ นำโดยนักวิจัยด้านการแพทย์จากมหาวิทยาลัยเอดินบะระของสหราชอาณาจักร และมหาวิทยาลัยเจ้อเจียงของจีนให้เหตุผลว่า วิถีชีวิตที่ไม่เอื้ออำนวยให้มีสุขภาพดี, การกินอาหารที่ผิดหลักโภชนาการ, การสูบบุหรี่และบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ความอ้วน และชีวิตประจำวันที่ขาดการเคลื่อนไหวออกกำลังกาย น่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คนหนุ่มสาวล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งกันมากขึ้น

...

สำหรับมะเร็งที่พบในผู้ป่วยที่อายุต่ำกว่า 50 ปี เพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ มะเร็งเต้านม คิดเป็นสัดส่วนที่พบ 13.7 คน ต่อประชากร 100,000 คน รวมทั้งมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นมากที่สุด ที่ 3.5 คน ต่อประชากร 100,000 คน

ส่วนมะเร็งที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยอายุน้อยอย่างรวดเร็วที่สุด คือ มะเร็งหลอดลม และมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยหนุ่มสาวที่เป็นมะเร็งทั้งสองชนิดเพิ่มขึ้น 2.28% และ 2.23% ตามลำดับ ส่วนมะเร็งตับมีแนวโน้มพบได้น้อยลงมากที่สุดในกลุ่มคนวัยเยาว์ โดยมีจำนวนผู้ป่วยลดลง 2.88% ต่อปี

ทั้งนี้ จำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งทุกชนิดในกลุ่มอายุไม่ถึง 50 ปี มีอยู่ 1.06 ล้านคนในปี 2019 เพิ่มขึ้นราว 27% จากสถิติในช่วง 30 ปีก่อน ซึ่งนอกจากมะเร็งเต้านมแล้ว สาเหตุการตายในอันดับรองลงมา ได้แก่ มะเร็งหลอดลม, มะเร็งปอด, มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งลำไส้ ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดในกลุ่มนี้ ได้แก่ ผู้ป่วยโรคมะเร็งไต และมะเร็งรังไข่

ภูมิภาคที่มีผู้ป่วยมะเร็งอายุน้อยมากที่สุด ได้แก่ ทวีปอเมริกาเหนือ, พื้นที่แถบโอเชียเนีย และประเทศในยุโรปตะวันตก ส่วนภูมิภาคที่ประชากรมีรายได้ในระดับปานกลางและระดับต่ำพบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในวัยหนุ่มสาวได้มากที่สุด ในกลุ่มประเทศแถบโอเชียเนีย, ยุโรปตะวันออก และเอเชียกลาง

การพบมะเร็งในคนอายุน้อยส่งผลกระทบต่อสุขภาพและอายุขัยของผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยมะเร็งเต้านมทำให้มีอัตราการตายในสตรีวัยเยาว์ชาวเอเชียเพิ่มขึ้นมากที่สุด จาก 5-13 คน ต่อประชากร 100,000 คน ในปี 1990 มาเป็น 8.7-15.6 คน ต่อประชากร 100,000 คน ในปี 2019

...

ทั้งนี้ มะเร็งเต้านมที่พบในคนอายุน้อยเพิ่มขึ้น อาจมีสาเหตุมาจากความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการเจริญพันธุ์ เช่น การมีประจำเดือนเร็วขึ้น, การใช้ยาคุมกำเนิด, การไม่เคยให้กำเนิดบุตรเลย หรือมีบุตรคนแรกเมื่ออายุมาก รวมทั้งอาจมีสาเหตุจากปัจจัยทางกายภาพและพฤติกรรมในการดำรงชีวิตอื่นๆด้วย

ทีมผู้วิจัยประมาณการว่า หากไม่เร่งแก้ไขปัญหาทางสาธารณสุขนี้โดยด่วน อัตราของผู้ป่วยโรคมะเร็งและผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคนี้ตั้งแต่อายุยังน้อยจะเพิ่มสูงขึ้นไปอีกถึง 31% และ 21% ตามลำดับ ภายในปี 2030.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สมาร์ทไลฟ์” เพิ่มเติม