ติดเชื้อในกระแสเลือด (ภาษาอังกฤษ : Septicemia) ภาวะที่อาจส่งผลอันตรายต่อชีวิต หากได้รับการรักษาไม่ทันท่วงที หลายคนน่าจะเคยได้ยินชื่อ "ติดเชื้อในกระแสเลือด" มาบ้าง แต่อาจจะยังไม่ทราบรายละเอียดถึงสาเหตุ วิธีรักษา รวมไปถึงการป้องกันเพื่อรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง และห่างไกลจากภาวะติดเชื้อรูปแบบต่างๆ บทความน่ารู้นี้มีสาระดีๆ มาฝากกัน
สาเหตุติดเชื้อในกระแสเลือด เกิดจากอะไร
ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด คืออะไร? ติดเชื้อในกระแสเลือดเกิดจากภาวะที่ร่างกายมีเชื้อแบคทีเรียเข้ามาในกระแสเลือด สามารถติดจากอวัยวะส่วนใดของร่างกายก็ได้ อาจเริ่มจากการติดเชื้อรา เชื้อไวรัส หรือเชื้อพยาธิ ก็ได้เช่นกัน
เมื่อร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอมดังกล่าว แต่ปรากฏว่าอวัยวะในร่างกายทำงานล้มเหลว ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาจากการติดเชื้อในกระแสเลือด
โดยสรุปง่ายๆ การติดเชื้อในกระแสเลือดก็คือ ภาวะที่มีเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายแล้วติดเชื้อรุกล้ำเข้าสู่กระแสเลือด จนอาจทำให้ร่างกายมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ นั่นเอง
...
สังเกตอาการติดเชื้อในกระแสเลือด
หากร่างกายมีภาวะติดเชื้อเฉพาะที่อวัยวะบางส่วน ก็จะปรากฏอาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะตำแหน่งนั้นๆ ให้เห็นอย่างชัดเจน เช่น หากปอดติดเชื้อก็จะเจ็บหน้าอกและไอ แต่หากเชื้อโรคเข้าไปจนเริ่มอักเสบไปทั่วร่างกาย ก็อาจจะมีอาการต่างๆ ที่บ่งชี้ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ให้สังเกตดังนี้
- มีไข้ขึ้นสูง
- รู้สึกหนาวสั่น
- หัวใจเต้นเร็ว
- หายใจเร็ว
- ซึม อ่อนเพลีย
- อาเจียน
- ท้องเสียรุนแรง
กลุ่มเสี่ยงภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดที่ควรเฝ้าระวัง
- ผู้ป่วยสูงอายุ
- ผู้ป่วยเด็กเล็ก
- ผู้ป่วยที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว
หากติดเชื้อในกระแสเลือดแล้ว มีโอกาสหายไหม
ติดเชื้อในกระแสเลือด อันตรายไหม? ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นอันตรายต่อชีวิต โดยเฉพาะในรายที่ติดเชื้อรุนแรง หรือติดเชื้อในกระแสเลือดระยะสุดท้าย เนื่องจากภูมิคุ้มกันร่างกายตอบสนองต่อความผิดปกติที่เกิดขึ้นจนทำให้ระบบการทำงานล้มเหลว อาจนำไปสู่ภาวะช็อก หมดสติ ความดันโลหิตลดลงอย่างรวดเร็ว และเสียชีวิตได้ในที่สุด
แต่ทั้งนี้หากหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย และไปพบแพทย์ทันที ก็จะเพิ่มโอกาสในการรักษาภาวะติดเชื้อทางกระแสเลือดให้หายได้ อย่างไรก็ตามหากมีอาการที่เข้าข่ายภาวะติดเชื้อดังกล่าวควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ห้ามซื้อยาปฏิชีวนะมารับประทานเองอย่างเด็ดขาด
วิธีรักษาอาการติดเชื้อในกระแสเลือด รักษากี่วันหาย
ระยะเวลาในการรักษาภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดนั้น ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค โดยให้เป็นไปตามดุลยพินิจของทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยส่วนใหญ่แล้ววิธีรักษาจะมีการตรวจเลือดเพื่อวิเคราะห์หาเชื้อโรคก่อน
หลังจากนั้นจะให้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมและเฉพาะเจาะจงกับเชื้อโรค ซึ่งจะต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ในระหว่างนี้ก็จะประคองอาการอื่นๆ ไปด้วย เช่น รักษาระดับความดันให้กลับมาปกติ รักษาตามอาการต่างๆ ที่เกิดจากการติดเชื้อโรค รวมไปถึงต้องผ่าตัดในบางราย
ทั้งนี้ ผู้ป่วยแต่ละรายก็จะมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง และลักษณะอาการของภาวะติดเชื้อนั่นเอง
...
การป้องกันไม่ให้เป็นภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
- หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
- รักษาสุขอนามัย กินร้อนช้อนกลาง
- ล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ
- ฉีดวัคซีนประจำปีตามกำหนด
- หากมีโรคประจำตัว ให้ไปพบแพทย์และดูแลสุขภาพให้กลับมาเป็นปกติ เพื่อลดแนวโน้มที่ร่างกายจะเกิดภาวะติดเชื้อ
- เมื่อร่างกายมีความผิดปกติ ไข้สูง หนาวสั่น หัวใจเต้นเร็ว ให้ไปพบแพทย์โดยทันที เพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการต่างๆ ว่ามีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อในกระแสเลือดหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดไม่ใช่เรื่องไกลตัว อาจเกิดขึ้นได้จากการติดเชื้อโรคผ่านอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกาย และนำไปสู่การติดเชื้อในกระแสเลือดได้ เราจึงควรศึกษาข้อมูลเบื้องต้นไว้ พร้อมกับหมั่นดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ.
ที่มาของข้อมูล : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี