ในเรื่องของโรคสมองเสื่อมเนื่องจากตัวเลขผู้สูงวัยของคนไทยสูงขึ้นเรื่อยๆ และมีอัตราที่น่าจะสูงกว่าหลายๆประเทศ
จำนวนประชาชนที่จะได้รับผลกระทบต่อสมองเสื่อมก็ย่อมสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่ความรู้ ความเข้าใจของประชาชนทั่วไปยังไม่มากนัก
ที่ผ่านๆมามีตัวช่วยคือสังคมที่มีน้ำใจช่วยเหลือกัน ก็ทำให้ผู้สูงอายุที่ความจำถดถอยยังสามารถอยู่ที่บ้านได้และมักจะมาพบแพทย์เมื่อมีอาการมากจนผิดแปลกและไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้
ตัวอย่างไม่นานนี้ หลังจากผมได้เริ่มไปออกโอพีดีอายุรกรรมที่อำเภอศรีราชา มีคู่สามีภรรยาราวๆ 70 ปี โดยสามีได้มาหาผมเพื่อตรวจตามนัดเรื่องเบาหวานและความดัน หลังจากพูดคุยจึงได้ซักถามเรื่องความเป็นอยู่และทราบว่าช่วง 2-3 ปี สามีหลงๆลืมๆบ้างเป็นครั้งคราว คล้ายไม่มีสมาธิ จึงขออนุญาตตรวจความจำเพิ่มเติม แต่ท่านได้ปฏิเสธและขอให้ตรวจภรรยาแทน เนื่องจากภรรยามีอาการมากกว่าโดยความจำไม่ดี ทำอะไร กินอะไร นัดอะไรไว้หรือออกไปไหนมาก็จะจำไม่ได้ ซึ่งเป็นมาได้ร่วมปีแต่เริ่มเป็นมากขึ้นจนสามีกังวล
ผลการตรวจทั้งสองท่าน พบว่าความจำระยะสั้นนั้น ไม่ดีเอาเลย
...
สรุปหลังจากตรวจต่างๆ จึงได้ข้อสรุปว่า สามีเป็นโรคเส้นเลือดฝอยในสมองเสื่อม (Vascular MCI) และภรรยาน่าจะเป็น Alzheimer’s disease จากการตรวจเบื้องต้นด้วยแบบทดสอบประเมินและคอมพิวเตอร์สมอง ไม่พบสาเหตุอื่นๆที่จะทำให้โรคแย่ลง เช่น หูตึง หรือนอนกรน
ความสำคัญของการเฝ้าระวังอาการของสมองเสื่อมในระยะเริ่มต้นเป็นสิ่งสำคัญมากและมากกว่า 2–3 ปีก่อนสุดๆ
เนื่องจากการหาสาเหตุที่อาจจะสามารถรักษาหรือชะลอการเสื่อมนั้นจะต้องทำตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น และยาที่อาจจะสามารถช่วยชะลอโรคสมองเสื่อม เช่นโรคอัลไซเมอร์นั้น ก็กำลังทยอยกันออกมา เลยจะมาพูดถึงการเฝ้าระวังสมองเสื่อมในชุมชน ทั้งนี้โดยจะเล่าตัวอย่างจากการวิจัยในอเมริกานำโดย Dr.Lindsay Clark ซึ่งใช้ประโยชน์จากการตรวจการทำงานของสมองง่ายๆ ที่ศูนย์ประจำชุมชนของแต่ละชุมชน
คณะผู้วิจัยได้ไปฝึกพนักงานที่ทำงานในชุมชนนั้นในการใช้การทดสอบเช่น Mini-Cog, Animal naming และ/หรือ AD8 ซึ่งถ้าผู้มารับบริการทำคะแนนได้ไม่ดีก็จะถูกส่งต่อไปที่แพทย์ของชุมชนเพื่อประเมินโดยละเอียด...ผลนั้นไม่สามารถสรุปจำนวน ผู้รับบริการที่ได้รับการวินิจฉัยได้ เนื่องจากผู้เข้าร่วมโครงการวิจัยจำนวนมากไม่สามารถติดตามต่อเนื่องได้ แต่ก็แสดงให้เห็นว่าวิธีลงไปชุมชนลักษณะนี้ จะช่วยทั้งเพิ่มความรู้ ความเข้าใจของประชาชนและการเข้าถึงทางการแพทย์มากขึ้น
กลับมาที่คำถามยอดฮิต จำเป็นต้องวินิจฉัยเรื่องสมองเสื่อมตั้งแต่มีอาการน้อยๆไหม เดี๋ยวจะทำให้กังวลเปล่าๆ
ตอบได้เต็มปากแล้วว่าจำเป็น เนื่องจากสาเหตุของสมองเสื่อมไม่ได้มีแค่อัลไซเมอร์ในคนไข้ทุกคนที่เริ่มมีอาการ...สิ่งสำคัญคือการหาสาเหตุที่สามารถรักษาหรือชะลอได้ การตรวจเบื้องต้น เช่น ค่าไทรอยด์ ค่าวิตามิน B1 และ B12 การเจ็บป่วยทางกายและทางจิต เช่น ซึมเศร้า
นอกจากนี้แล้ว คนไข้ที่มีการดำเนินโรคเร็ว กำกับความว่ามีอาการรุนแรงภายใน 6 เดือนแรก หรือเริ่มมีอาการอายุน้อย เช่น ต่ำกว่า 60-65 ปี อาจจะมีความจำเป็นที่ต้องการการตรวจเพิ่มเติมในส่วนของโรคสมองอักเสบ เช่น จากระบบภูมิคุ้มกัน แปรปรวน หรือการติดเชื้อเรื้อรังบางชนิด เป็นต้น
ทั้งหมดควรจะได้รับการทำคอมพิวเตอร์สมองแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อช่วยในการวินิจฉัยด้วย อาจจะพิจารณาเจาะน้ำไขสันหลังเป็นบางกรณี เมื่อวินิจฉัยได้เร็วก็จะสามารถรักษาและลดความเสียหายต่อสมองระยะยาวได้อีกด้วย หรือเมื่อไม่เจอสาเหตุที่ชัดเจน การตรวจทางพันธุกรรม หรือการตรวจโปรตีนผิดปกติก็มีบทบาทมากขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อการตรวจหลายชนิดนั้นสามารถทำได้ในประเทศเราเองโดยไม่ต้องส่งไปต่างประเทศอีกแล้ว
...
ส่วนอัลไซเมอร์เดิมไม่สามารถรักษาได้ มีแต่ anti-cholinesterase ลดการย่อยสลายของสาร Acetylcholine และเพิ่มความเข้มข้นของสารตัวนี้ในสมอง ช่วยเรื่องความทรงจำได้นิดหน่อยในบางคน แต่ด้วยประโยชน์ที่ค่อนข้างจำกัด มีผลข้างเคียง คนไข้ที่มีความดันต่ำ หน้ามืดบ่อยๆ หรือได้รับผลข้างเคียงหลังใช้ รวมทั้งมีความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ซึ่งบางรายมากจนกระทั่งมีอาการระแวง ภาพหลอน
ถ้าไม่รู้สึกถึงความแตกต่างไม่ควรใช้ เพราะไม่ได้รักษาโรคได้ และ anti–NMDA receptor ก็เช่นกัน ถ้าไม่รู้สึกถึงความแตกต่างก็อย่าใช้เลย ส่วนสารสกัดแปะก๊วยราคาแพงนั้นไม่ทราบชัดเจนถึงประโยชน์เหมือนกัน แต่ดูไม่น่าจะไหว
มีการพยายามชะลอโรคโดยปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต อาหารการกินให้ใกล้เคียงกับ Mediterranean หรือยาที่จะช่วยยับยั้งการสร้างโปรตีนที่ผิดปกติรวมทั้งขจัดออก สามารถที่จะลดการทำลายเนื้อสมองได้ และปรับสมดุลของสภาพสมอง โดยที่ยารักษาเหล่านี้ หลายสิบตัวอยู่ในการศึกษาในมนุษย์ ระยะที่สามแล้ว โดยทราบถึงขนาดที่ใช้และประเมินความปลอดภัยแล้ว มีตั้งแต่ ยาละลายเสมหะ ยานอนหลับผ่านกลไก Orexin ยากิน กันการรวมกระจุกของ Tau ยาฉีดลดน้ำหนัก เช่น semaglutide ยาพ่น อินซูลินเข้าทางโพรงจมูก และอื่นๆอีกมาก ที่มีหลักฐานทางคลินิกทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน รวมทั้ง กัญชง CBD สารสกัด polyphenol flavonoids resveratrol เป็นต้น
...
บทหน้าเราจะกลับไปที่ เรื่องตื่นเต้นในงานประชุมอัลไซเมอร์ที่ผมและคณะได้ไปแสดงผลงาน เป็นการประชุมประจำปี Alzheimer’s Association International Con ference (AAIC) ที่อัมสเตอร์ดัมในเดือนกรกฎาคม 2023 รวมถึงคำจำกัดความทางชีววิทยาใหม่และการรักษาในแบบต่างๆ ที่มีผลออกมาน่าประทับใจอีกด้วย ทั้งนี้เป็นการปฏิบัติการป้องกันดูแลสมองเสื่อมโดยต้องทราบตั้งแต่ก่อนเริ่มมีอาการด้วยซ้ำ
ก่อนอื่น ต้องรักษาสุขภาพ และเปลี่ยนวิถีชีวิตอาหารการกิน มากด้วยผักผลไม้กากใย งดเนื้อ ทานกุ้งหอยปูปลาได้ ออกกำลัง ตากแดดครับ
จาก นพ.ภาสิน เหมะจุฑา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุรกรรมประสาท.
หมอดื้อ