มีวิธีรักษาโรคอ้วนในเด็กอย่างไรบ้าง?

สิ่งที่สำคัญที่สุดของการรักษาโรคอ้วนในเด็ก ("โรคอ้วนในเด็ก" อันตรายที่พ่อแม่ต้องระวัง ตอน 1) คือ การปรับเปลี่ยนการกินอาหารและการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นการรักษาที่ได้ผลยั่งยืนและปลอดภัย การใช้ยาและการผ่าตัดเพื่อการรักษาโรคอ้วนในเด็กมีการใช้น้อยมากเนื่องจากมีผลข้างเคียง และอาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเด็กได้ การปรับเปลี่ยนการกินอาหาร และการใช้ชีวิตประจำวัน มุ่งหวังพฤติกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพในระยะยาว ดังนี้

• ส่งเสริมให้เด็กกินอาหารที่หลากหลาย ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ได้รับสารอาหารครบถ้วน โดยเฉพาะการกินผักและผลไม้

• ลดพลังงานจากอาหารที่กินในแต่ละมื้อ เช่น ลดปริมาณข้าว-แป้ง ลดการประกอบอาหารที่ใช้น้ำมันเป็นส่วนประกอบ เช่น การผัด การทอด หรือชุบแป้งทอด ปรับเปลี่ยนวิธีการประกอบอาหารเป็นการอบ นึ่ง ตุ๋น ลวก ให้มากขึ้น

• กินอาหารครบ 3 มื้อ แต่ลดปริมาณอาหารในแต่ละมื้อให้เหมาะสมตามวัย อาจมีอาหารว่างแทรกระหว่างมื้ออาหารหลัก แต่ต้องเป็นอาหารว่างที่มีประโยชน์และพลังงานต่ำ เช่น นมพร่องมันเนย หรือผลไม้

• หลีกเลี่ยงการกินอาหารหวาน ขนมหวาน เครื่องดื่มรสหวาน ขนมจุบจิบ เนื่องจากเป็นอาหารที่มีน้ำตาลและพลังงานสูง

• ส่งเสริมให้เด็กมีกิจกรรมทางกายให้มากขึ้น วิ่งเล่น เดินมากขึ้น ในเด็กโตอาจมอบหมายให้รับผิดชอบหน้าที่ภายในบ้าน เช่น กวาดบ้าน ถูบ้าน ซักผ้า ล้างรถ ส่งเสริมให้เด็กได้ออกกำลังกายตามความสามารถ เช่น เตะฟุตบอล ว่ายน้ำ วิ่ง เดิน

• ลดเวลาการใช้หน้าจอต่างๆ ของเด็ก เพราะเป็นพฤติกรรมที่ทำให้เด็กอยู่นิ่ง และไม่ค่อยขยับร่างกาย

...

เราจะป้องกันการเกิดโรคอ้วนในเด็กได้อย่างไร?

การป้องกันโรคอ้วนในเด็กเป็นสิ่งที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรให้ความสำคัญ เนื่องจากหากเด็กเป็นโรคอ้วนแล้วก็จะส่งผลต่อสุขภาพของเขาเมื่อเขาโตเป็นผู้ใหญ่ โรคอ้วนในเด็กสามารถป้องกันได้ดังนี้

1. ฝึกสุขลักษณะนิสัยการกินที่ดีตั้งแต่เด็ก โดยให้นมแม่อย่างเดียวตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 6 เดือน หลังจากอายุ 6 เดือน ฝึกให้ทารกกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเริ่มให้กินผักผลไม้อย่างสม่ำเสมอจนกระทั่งเขาโตขึ้น

2. เมื่อเด็กอายุ 1 ขวบ ควรหลีกเลี่ยงการกินขนมจุบจิบ หรือน้ำหวาน น้ำอัดลม ให้มากที่สุด ให้การกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และหลากหลาย หลีกเลี่ยงอาหารที่มีการปรุงรสหวานจัด เค็มจัด ฝึกการกินผักผลไม้จนเป็นนิสัย

3. จำกัดพฤติกรรมการใช้หน้าจอของเด็ก โดยหลีกเลี่ยงการใช้หน้าจอทุกชนิดในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ และเมื่ออายุมากกว่า 2 ขวบ ควรจำกัดเวลาหน้าจอไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน

4. ส่งเสริมให้เด็กมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมตามวัย จนกลายเป็นนิสัยที่ดีของเขา

5. พ่อแม่ผู้ปกครองควรเป็นตัวอย่างที่ดีในการกินอาหารที่มีประโยชน์ การทำกิจกรรมทางกายที่เหมาะสม อาจใช้เวลาว่างทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ร่วมกันเพื่อเป็นการส่งเสริมสุขภาพและความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว

เด็กอ้วนไม่ใช่เด็กที่น่ารัก แต่เป็นความเสี่ยงที่ส่งผลต่อสุขภาพของเด็กทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การส่งเสริมให้เด็กกินอาหารที่มีประโยชน์และมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมตามวัยตั้งแต่เล็ก จะช่วยให้เด็กมีสุขภาพดี มีการเจริญเติบโตที่เหมาะสม และห่างไกลจากโรคอ้วนได้

แหล่งข้อมูล

ผศ.ดร.พญ. อรพร ดำรงวงศ์ศิริ หัวหน้าสาขาวิชาโภชนาวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล