"เด็กอ้วน เป็นเด็กน่ารัก" เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินคำกล่าวนี้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว โรคอ้วนเป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งถ้าหากปล่อยให้เด็กเป็นโรคอ้วนตั้งแต่เด็ก จะส่งผลเสียต่อสุขภาพของเขาในระยะยาว เนื่องจากการที่มีน้ำหนักตัวที่เกินเกณฑ์มาตรฐานจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และภาวะแทรกซ้อนของระบบอวัยวะอื่นๆ ตั้งแต่อายุยังน้อย ในปัจจุบัน ปัญหาโรคอ้วนในเด็กทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ พบว่า 1 ใน 10 ของเด็กไทยมีปัญหาน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน รวมทั้งพบว่าอายุที่เด็กเริ่มเป็นโรคอ้วนลดน้อยลงเรื่อยๆ

โรคอ้วนในเด็กเกิดขึ้นได้อย่างไร?

โรคอ้วนในเด็กชนิดปฐมภูมิ (primary obesity) เกิดจากพลังงานที่เด็กได้รับจากการกินอาหารมีมากกว่าพลังงานที่ใช้ในกิจวัตรประจำวัน หรือการเจริญเติบโตตามปกติของเด็ก พฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนปฐมภูมิ ได้แก่ การกินอาหารที่มีพลังงานสูง มีน้ำตาลสูง หรือกินอาหารปริมาณมากๆ ในขณะที่ไม่ออกกำลังกาย ไม่ค่อยมีกิจกรรมทางกาย ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอโทรศัพท์และแท็บเล็ต ในปัจจุบัน การใช้ชีวิตประจำวันที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น เช่น ลิฟต์ บันไดเลื่อน รถยนต์หรือพาหนะต่างๆ ทำให้เด็กมีกิจกรรมทางกาย ได้แก่ การเดิน การวิ่ง น้อยลง

โรคอ้วนชนิดทุติยภูมิ (secondary obesity) โรคอ้วนชนิดนี้จะพบน้อยกว่าชนิดปฐมภูมิ เกิดจากสาเหตุอื่นที่ส่งผลให้เด็กเป็นโรคอ้วน เช่น โรคความผิดปกติทางพันธุกรรม ความผิดปกติของฮอร์โมน ซึ่งต้องมีการตรวจวินิจฉัยและรักษาตามสาเหตุของโรคนั้นๆ

ข้อมูลจากการศึกษาในปัจจุบัน พบว่า ปัจจัยด้านโภชนาการในช่วงแรกเริ่มของชีวิตตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์มารดามีความเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคอ้วนในเด็กด้วย ในระหว่างที่ตั้งครรภ์ หากคุณแม่มีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นมากเกินไป หรือเป็นโรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมภายในครรภ์ ทารกเกิดมามีขนาดตัวใหญ่และเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนมากขึ้น หลังจากทารกเกิด อาหารที่สำคัญที่สุดสำหรับทารกคือ นมแม่ ซึ่งการวิจัยพบว่า ทารกที่ได้รับนมแม่จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนในเด็กน้อยกว่าทารกที่ได้รับนมผง เพราะในนมแม่มีสารอาหารที่เหมาะสมกับความต้องการของทารก และยังมีฮอร์โมนหลายชนิดที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมสมดุลพลังงานของร่างกาย

...

จะรู้ได้อย่างไร ว่าลูกเป็นโรคอ้วน?

เนื่องจากเด็กปกติมีการเจริญเติบโตใน 2 มิติ คือ การเพิ่มขึ้นของน้ำหนัก และการเพิ่มขึ้นของความสูง การวินิจฉัยโรคอ้วนในเด็ก จะพิจารณาจากน้ำหนักและความสูงของเด็กเปรียบเทียบกับกราฟการเจริญเติบโตมาตรฐาน กล่าวคือ จะให้การวินิจฉัยโรคอ้วนในเด็กเมื่อมีน้ำหนักมากกว่าค่ามาตรฐานตามเกณฑ์ส่วนสูง ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปเมื่อเด็กมีการเจริญเติบโตขึ้น

ข้อมูลน้ำหนักมาตรฐานตามเกณฑ์ส่วนสูง สามารถตรวจสอบได้จากกราฟการเจริญเติบโตของเด็ก โดยกราฟการเจริญเติบโตของเด็กอายุ 0-5 ปี ซึ่งพ่อแม่ทุกคนสามารถดูได้จากสมุดคู่มือสุขภาพมารดาและทารก เมื่อชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูงแล้ว นำไปจุดบนกราฟก็สามารถประเมินได้ว่าลูกมีน้ำหนักที่เหมาะสม หรือเป็นโรคอ้วนได้

สำหรับเด็กอายุ 5-19 ปี ซึ่งเป็นวัยที่เด็กเข้าโรงเรียนแล้ว ที่โรงเรียนจะมีการชั่งน้ำหนัก และวัดส่วนสูงนักเรียนเป็นประจำทุกภาคการศึกษา และประเมินการเจริญเติบโตเปรียบเทียบกับกราฟการเจริญเติบโตมาตรฐานของเด็กในวัยนี้ เพื่อตรวจหาเด็กที่มีปัญหาเรื่องน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน รวมทั้งให้คำแนะนำและส่งต่อเพื่อการรักษาอย่างเหมาะสมอย่างทันท่วงที เป็นการป้องกันภาวะแทรกซ้อนและอันตรายของโรคอ้วนที่อาจจะเกิดขึ้น

เป็นโรคอ้วนแล้วอันตรายไหม?

เด็กที่เป็นโรคอ้วนมีแนวโน้มที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เป็นโรคอ้วน นอกจากนั้น เด็กที่เป็นโรคอ้วน ยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นโรคในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non communicable diseases; NCDs) ซึ่งโรคเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจในอนาคต

นอกจากความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวแล้ว โรคอ้วนในเด็กยังก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของระบบอวัยวะต่างๆ อีกหลายระบบ เช่น ระบบกระดูกและข้อ ระบบการหายใจ เป็นต้น

น้ำหนักตัวที่มากเกินไปมีผลต่อข้อและกระดูกต่างๆ ของเด็ก ส่งผลให้เกิดอาการปวดข้อ โดยเฉพาะข้อสะโพก ข้อเข่า ข้อเท้า ซึ่งเป็นบริเวณที่ต้องรับน้ำหนักตัวของเด็กในอิริยาบถต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยโรคอ้วนในเด็กอาจจะมีภาวะขาโก่งหรือขาเกได้ โดยเฉพาะเมื่อมีน้ำหนักตัวเกินมากตั้งแต่ยังเล็ก เนื่องจากกระดูกที่ยังไม่แข็งแรงเต็มที่ ไม่สามารถรับน้ำหนักที่มากเกินไปได้ทำให้ขาผิดรูป ส่งผลกระทบต่อข้อเข่าในระยะยาวได้

ภาวะแทรกซ้อนของระบบการหายใจพบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคอ้วนในเด็ก เนื่องจากเนื้อเยื่อบริเวณทรวงอกหนา การขยายตัวของปอดและทรวงอกไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเวลานอนหลัง ทำให้เกิด “โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น” โดยผู้ป่วยจะมีอาการหายใจเสียงดัง มีอาการกรน และหยุดหายใจเป็นพักๆ ขณะนอนหลับในเวลากลางคืน เนื่องจากทางเดินหายใจถูกอุดกั้น และทำให้ระดับออกซิเจนในเลือดลดลงเป็นพักๆ ตามจังหวะที่มีการหยุดหายใจโรคนี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเด็ก เด็กจะได้รับออกซิเจนไม่เต็มที่ในเวลานอนหลับ ตอนเช้าอาจมีอาการเหมือนคนพักผ่อนไม่เต็มที่ ไม่สดชื่น มีอาการง่วงนอนตอนกลางวันและส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการเรียนรู้ได้

...

นอกจากนั้น ผู้ป่วยโรคอ้วนอาจตรวจพบภาวะคับคั่งไขมัน ซึ่งส่งผลให้เกิดตับอักเสบได้ อาจมีปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของไต อันเป็นผลกระทบจากความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคอ้วนหลายราย อาจถูกล้อ ถูกกลั่นแกล้ง หลายคนมีความนับถือตนเองที่ต่ำ เป็นโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล และส่งผลกระทบต่อการเรียนและการใช้ชีวิตประจำวันด้วย

สัปดาห์หน้ายังมีวิธีรักษาโรคอ้วนในเด็ก และการป้องกันโรคอ้วนในเด็ก ซึ่งเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจ รอติดตามกันต่อนะคะ


แหล่งข้อมูล

ผศ.ดร.พญ.อรพร ดำรงวงศ์ศิริ หัวหน้าสาขาวิชาโภชนาวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล