- ปัจจุบันสมิติเวชสามารถรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วยกระบวนการรักษาใหม่ทางพันธุวิศวกรรม ที่เรียกว่า CAR T-Cell โดยสามารถนำมาใช้รักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งเม็ดเลือดขาวบางชนิด ที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีการปกติ
- CAR T-Cell เป็นกระบวนการนำเลือดจากคนไข้ หรือผู้บริจาค ไปผ่านกระบวนการพันธุวิศวกรรม เพื่อสร้างเซลล์ที่มีความสามารถในการทำลายเซลล์มะเร็งกลับเข้าไปในร่างกายผู้ป่วย
- การรักษาโรคมะเร็งด้วย CAR T-Cell ที่ผลิตในประเทศไทยสามารถช่วยลดค่ารักษาให้ผู้ป่วยจากเดิมลงได้ถึงกว่า 5 เท่าตัวเมื่อเทียบกับค่ารักษาด้วยเซลล์จากต่างประเทศ
โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) และโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวบางชนิด (B cell type Leukemia) ที่เกิดกับเด็กๆ เป็นเรื่องที่พ่อแม่กังวลอย่างมาก เพราะการรักษาต้องใช้ทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์ เลือกโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการดูแลสูง ร วมถึงจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการรักษานาน และมีค่าใช้จ่ายที่สูง เนื่องด้วยต้องผ่านกระบวนการรักษาที่ต้องพึ่งพาห้องปฏิบัติการในต่างประเทศ แต่ในปัจจุบันทีมแพทย์ไทยได้ร่วมกันทำการวิจัยและคิดค้นแนวทางการรักษาผู้ป่วยเด็กกลุ่มนี้ด้วย CAR T-Cell โดยใช้ห้องปฏิบัติการของประเทศไทย รวมถึงทีมแพทย์ไทยที่มีประสบการณ์สูง และเป็นที่ยอมรับจากวงการแพทย์ไทยและต่างประเทศ
CAR T-Cell คืออะไร
Chimeric antigen receptor (CAR) T-cell therapy ทางเลือกใหม่ของการรักษาโรคมะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันโดยการใช้ T-Cell ซึ่งเป็นชนิดของเม็ดเลือดขาวแบบหนึ่ง วิธีนี้สามารถรักษาได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เป็นการรักษาด้วยแนวทางพันธุวิศวกรรม โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์สุรเดช หงส์อิง กุมารแพทย์โรคมะเร็งในเด็ก รพ.เด็กสมิติเวช ได้ร่วมคิดค้นการรักษากับภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) นับเป็นผลงานของคนไทยที่ได้มาตรฐานสากลแห่งแรกในอาเซียน ไม่ต้องรอเวลาการส่งเลือดเพื่อไปทำการผลิต CAR T-Cell ถึงต่างประเทศอีกต่อไป
...
ภาวะปกติร่างกายคนเราจะมีระบบภูมิคุ้มกันที่คอยจดจำสิ่งแปลกปลอมในร่างกายโดยการค้นหาโปรตีนที่เรียกว่าแอนติเจนบนผิวของเซลล์เหล่านั้น เซลล์มีโปรตีนของตัวเองที่เรียกว่ารีเซพเตอร์ซึ่งจับกับแอนติเจนแปลกปลอม และช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ทำลายสารแปลกปลอมนั้น เช่นเดียวกับเซลล์มะเร็งที่ก็มีแอนติเจนเช่นกัน แต่ถ้าเซลล์ภูมิคุ้มกันของเราไม่มีตัวรับที่เหมาะสม ก็จะไม่สามารถจับกับแอนติเจน และไม่สามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้
Chimeric antigen receptor (CAR) T-cell เซลล์จะถูกนำมาจากเลือด และมีการเปลี่ยนแปลงในห้องทดลอง โดยการเพิ่มยีนสำหรับตัวรับ (เรียกว่า chimeric antigen receptor หรือ CAR) ซึ่งช่วยให้ T-cell จับกับแอนติเจนของเซลล์มะเร็งที่เฉพาะเจาะจง มะเร็งก็จะถูกทำลายไป แต่เนื่องจากมะเร็งแต่ละชนิดมีแอนติเจนที่แตกต่างกัน CAR T-Cell แต่ละชนิดจึงถูกสร้างขึ้นสำหรับแอนติเจนของมะเร็งที่เฉพาะเจาะจง ตัวอย่างเช่น ในมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิด เซลล์มะเร็งมีแอนติเจนที่เรียกว่า CD19 การบำบัดด้วย CAR T-Cell เพื่อรักษามะเร็งเหล่านี้ จึงทำขึ้นเพื่อจับกับแอนติเจน CD19
CAR T-Cell ใช้รักษาโรคมะเร็งชนิดใดบ้าง
การบำบัดด้วยเซลล์ CAR T-Cell ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ในการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) และมะเร็งเม็ดเลือดขาวบางชนิด (B cell type Leukemia) ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ รวมถึงมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด multiple myeloma ในผู้ใหญ่
โดยหลักการสำคัญของวิธี CAR T-Cell คือ เราดัดแปลง T-cell โดย T-cell ที่นำมาใช้ในการผลิต CAR T-Cell ได้จากการนำเม็ดเลือดขาวของพ่อ แม่ พี่น้อง หรือของตัวผู้ป่วย มาผ่านกระบวนการทางพันธุวิศวกรรม ดัดแปลง T-cell ซึ่ง T-cell ที่ถูกแยกออกจะส่งไปยังห้องปฏิบัติการ และแก้ไขโดยการเพิ่มยีนสำหรับตัวรับไคเมอริกแอนติเจน (CAR) ที่จำเพาะให้สร้างซึ่งคล้ายกับเครื่องตรวจจับติดอาวุธ เมื่อ CAR T-Cell เจอกับเซลล์มะเร็ง จึงจดจำและกำจัดเซลล์มะเร็งที่จำเพาะเหล่านั้นได้ ซึ่งเป็นแนวทางเช่นเดียวกับการรักษาของบริษัทยาข้ามชาติ แต่เป็นฝีมือของทีมแพทย์ไทยที่มีประสบการณ์ยาวนาน ผ่านการรับรองในวงการแพทย์ทั้งในและต่างประเทศ
กระบวนการรักษาด้วย CAR T-Cell สำหรับการรักษาด้วยกระบวนการพันธุวิศวกรรม CAR T-Cell มีดังนี้
- เตรียมตัวผู้ป่วยประมาณ 3-4 สัปดาห์
- นำเม็ดเลือดขาวของพ่อแม่พี่น้องสายตรง ที่ได้จากการเก็บด้วยวิธี leukapheresis โดยใช้เวลาประมาณ 2 ถึง 3 ชั่วโมง จากนั้นนำ T-cell ที่ได้มาทำกระบวนการทางพันธุวิศวกรรม
- ผู้ป่วยจะมีการให้เคมีบำบัดแบบเบาก่อนให้ CAR T-Cell เพื่อช่วยลดจำนวนเซลล์ภูมิคุ้มกันอื่นๆ โดยขั้นตอนนี้จะทำให้ CAR T-Cell ทำงานเพื่อต่อสู้กับมะเร็งได้ดีขึ้น
- นำ CAR T-Cell ที่ผลิตได้ให้กับผู้ป่วย
- ผู้ป่วยพักฟื้นอยู่ในศูนย์ปลูกถ่ายไขกระดูกประมาณ 3-4 สัปดาห์
ข้อดีของการบำบัดด้วย CAR T-Cell
การรักษาด้วย CAR T-Cell ในประเทศไทย นอกจากมีประสิทธิภาพในการรักษาสูงแล้ว ยังเป็นการรักษาที่สามารถช่วยลดเรื่องค่าใช้จ่ายให้กับผู้ป่วยได้อย่างมาก เนื่องด้วยเป็นการรักษาด้วยฝีมือของวงการแพทย์ไทย ทุกกระบวนการรักษารวมถึงห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานในประเทศไทย สามารถช่วยลดค่ารักษาให้กับครอบครัวผู้ป่วยจากเดิมลงได้ถึงกว่า 5 เท่าตัว และเป็นการรักษาในครั้งเดียว เพราะก่อนหน้านี้การรักษาที่ต้องใช้ห้องปฏิบัติการในต่างประเทศจึงทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงมาก
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้หลังการให้ CAR T-Cell
การรักษาด้วย CAR T-Cell สามารถได้ผลดีมากกับมะเร็งที่รักษายากบางชนิด แต่บางครั้งก็สามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรง ด้วยเหตุนี้จำเป็นต้องให้ในศูนย์การแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรมเป็นพิเศษในการให้การรักษา และผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดหลังจากได้รับเซลล์ CAR T-Cell โดยผลข้างเคียงที่พบได้ เช่น
...
- มีไข้สูง หนาวสั่น
- หายใจลำบาก หายใจเหนื่อย หัวใจเต้นเร็ว
- คลื่นไส้ อาเจียน และ/หรือท้องเสียอย่างรุนแรง
- รู้สึกวิงเวียน หรือหน้ามืด
- ปวดหัว สับสน มีอาการชัก
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือข้อ
- อาการแพ้ระหว่างการให้เซลล์
- ระดับเกลือแร่ในเลือดผิดปกติ
- ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ จำนวนเม็ดเลือดต่ำ
ซึ่งแพทย์และทีมผู้ดูแลที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษ และมีประสบการณ์ในการรักษาด้วย CAR T-Cell จะสามารถทราบอาการดังกล่าวได้ตั้งแต่เนิ่นๆ และสามารถรักษาได้ทันท่วงที
ความสำเร็จของการรักษาด้วย CAR T-Cell
ปัจจุบันในต่างประเทศพบว่าผลการรักษาด้วย CAR T-Cell ของผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อการรักษาดีนั้นให้ผลการรักษาดีกว่ากระบวนการรักษาเดิมที่เคยทำมาถึง 70% ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทย ศาสตราจารย์นายแพทย์สุรเดช หงส์อิง ได้นำแนวทาง CAR T-Cell มาใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งแล้วทั้งสิ้น 10 ราย โดยเป็นผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็ง 7 ราย*
ศาสตราจารย์นายแพทย์สุรเดช หงส์อิง มีประสบการณ์รักษาผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็งมาแล้วกว่าพันคน พร้อมผลงานวิจัยและผลงานตีพิมพ์การแพทย์มากมาย จึงทำให้มั่นใจได้ว่าการรักษาโรคมะเร็งด้วยกระบวนการ CAR T-Cell ในประเทศไทยจะสามารถทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งและครอบครัวดีขึ้นได้อย่างแน่นอน ทั้งเรื่องของผลการรักษา รวมถึงค่าใช้จ่าย
บทความโดย : ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง ศาสตราจารย์นายแพทย์สุรเดช หงส์อิง กุมารแพทย์โรคมะเร็งในเด็ก รพ.เด็กสมิติเวช