“ไต” เป็นอวัยวะที่สำคัญมากอวัยวะหนึ่งของร่างกาย เนื่องจากไตมีหน้าที่สำคัญ ทั้งการขับถ่ายของเสียจากการย่อยโปรตีน การควบคุมความดันโลหิต การควบคุมน้ำและระดับแร่ธาตุในร่างกาย ดังนั้น หากเกิดความผิดปกติเกิดขึ้นกับไต จนเข้าข่ายเป็นโรคไต จึงทำให้มีโอกาสของเสียจากการย่อยโปรตีน หรือยูเรียคั่ง ซึ่งหากอยู่ในระยะที่ยังไม่ได้รับการบำบัดทดแทนไต จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการจำกัดโปรตีน ผู้ป่วยโรคไตจะมีความดันโลหิตสูง มีอาการบวม ซึ่งจำเป็นต้องจำกัดการได้รับโซเดียมจากอาหาร และผู้ป่วยโรคไตจะมีแนวโน้มที่มีระดับโพแทสเซียมและฟอสฟอรัสในเลือดสูง จึงจำเป็นต้องควบคุมปริมาณโพแทสเซียมและฟอสฟอรัสจากอาหาร
หากผู้ป่วยโรคไตไม่ปรับเปลี่ยนการกินอาหารให้เหมาะสมกับการทำงานของไตที่มีปัญหา จะเกิดปัญหาต่อไปนี้
1. การกินโปรตีนสูง ในระยะที่ยังไม่บำบัดทดแทนไต ส่งผลให้มีของเสียคั่งในร่างกายมาก หรือหากกินโปรตีนต่ำในระยะที่บำบัดทดแทนไตแล้ว ซึ่งจะมีการสูญเสียโปรตีนทุกครั้งที่มีการฟอกเลือดหรือล้างไต ก็จะส่งผลให้ขาดสารอาหารได้
2. การกินโซเดียมสูง ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงและมีอาการบวม
3. การกินอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง หากมีระดับโพแทสเซียมในเลือดสูงอยู่แล้ว ส่งผลต่อการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
4. กินอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง ทำให้ฟอสฟอรัสในเลือดสูง ไปกระตุ้นต่อมพาราไทรอยด์ให้หลั่งฮอร์โมนพาราไทรอยด์ ฮอร์โมนนี้จะไปสลายแคลเซียมออกจากกระดูกเพื่อมาจับฟอสฟอรัสในเลือดที่มากเกินไป เพื่อให้ระดับฟอสฟอรัสในเลือดอยู่ในระดับปกติ ส่งผลให้เกิดอาการคันตามผิวหนัง กระดูกบางเปราะ หลอดเลือดแดงแข็ง รวมถึงเส้นฟอกไตอาจอุดตันได้
...
อาหารที่ผู้ป่วยโรคไตควรหลีกเลี่ยง มีดังนี้
1. อาหารที่มีโซเดียมสูง เพราะทำให้ความดันโลหิตสูงและบวมน้ำ โดยเฉพาะอาหารที่ไม่สามารถลดความเค็มของอาหารนั้นได้ แม้จะกินเพียงเล็กน้อย เช่น ผักผลไม้ดอง ไข่เค็ม ปลาเค็ม กุ้งแห้ง หมึกแห้ง
2. อาหารที่มีฟอสฟอรัสในรูปแบบสังเคราะห์ เนื่องจากร่างกายสามารถดูดซึมได้มากกว่า 90% ได้แก่
- อาหารที่ผ่านการแปรรูป เช่น แฮม ไส้กรอก ลูกชิ้น
- อาหารแช่แข็ง เช่น กุ้ง ปลา อาหารทะเลแล่ชิ้น
- อาหารจานด่วน เช่น เบอร์เกอร์ นักเก็ต มันฝรั่งทอด
- อาหารสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง
- อาหารที่ใส่ผงฟูและยีสต์ เช่น เบเกอรี ขนมอบต่างๆ
- น้ำอัดลมสีดำ
เพราะหากมีระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูง จะส่งผลให้กระดูกเปราะ หลอดเลือดแข็ง และหากฟอกไตจะส่งผลให้เส้นฟอกไตอุดตันได้
3. ไขมันที่ควรหลีกเลี่ยงคือ ไขมันทรานส์ (เนยเทียม ครีมเทียม มาการีน) และไขมันอิ่มตัว (ไขมันอิ่มตัวพบได้ใน ไขมันสัตว์ เนย ชีส น้ำมันปาล์ม กะทิ น้ำมันมะพร้าว) เนื่องจากเพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
อาหารที่ผู้ป่วยโรคไตสามารถรับประทานได้ มีดังนี้
ผู้ป่วยโรคไตสามารถกินอาหารได้ครบทั้ง 6 กลุ่มอาหาร ได้แก่ เนื้อสัตว์ ผลไม้ ผัก ข้าว-แป้ง ไขมัน และนม แต่จำเป็นต้องพิจารณาปริมาณการกินอาหารในแต่ละกลุ่มอาหารให้เหมาะสมกับการทำงานของไต และผลเลือดที่ผิดปกติ โดยมีแนวทางดังต่อไปนี้
1. โปรตีน
• ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะ 3b ถึง 5 ที่ยังไม่ได้รับการบำบัดทดแทนไต ควรได้รับโปรตีน คือ 0.6–0.8 กรัม/กิโลกรัม/วัน โดยอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ควรจะเป็นโปรตีนคุณภาพสูง ซึ่งได้จากเนื้อสัตว์ เนื่องจากมีกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วน ร่างกายสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ เช่น ถ้าน้ำหนักที่ควรจะเป็นคือ 50 กรัม ความต้องการโปรตีน คือ 30-40 กรัมต่อวัน หรือเนื้อสัตว์ประมาณ 2–3 ช้อนกินข้าวต่อมื้อ
• ผู้ป่วยโรคไตที่ทำการฟอกเลือดหรือล้างไตแล้วจำเป็นต้องได้รับโปรตีนอย่างเพียงพอ (ตรงข้ามกับระยะก่อนฟอกเลือดหรือล้างไตที่ต้องจำกัดโปรตีน) เพราะการบำบัดทดแทนไต เช่น การฟอกเลือดจะทำ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือการล้างไตทางช่องท้องจะล้างทุกวัน 4 ครั้งต่อวัน ซึ่งจะมีการสูญเสียโปรตีนบางส่วนในช่วงการฟอกหรือล้างไต โดยปริมาณโปรตีนที่ผู้ป่วยควรได้รับคือ 1.2–1.5 กรัม/กิโลกรัม/วัน (ซึ่งสูงกว่าคนปกติที่ต้องการโปรตีน 0.8-1 กรัม/กิโลกรัม/วัน) โดยอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ควรจะเป็นโปรตีนคุณภาพสูง ซึ่งได้จากเนื้อสัตว์ เนื่องจากมีกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วน ร่างกายสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ เช่น ถ้าน้ำหนักที่ควรจะเป็นคือ 50 กรัม ความต้องการโปรตีน คือ 60-75 กรัมต่อวัน หรือเนื้อสัตว์ประมาณ 4-5 ช้อนกินข้าวต่อมื้อ
...
2. โพแทสเซียม
ถ้ามีระดับโพแทสเซียมที่เริ่มสูงคือมากกว่า 4.8 มิลลิโมลต่อลิตร ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น ผักผลไม้ สีส้ม เหลือง แดง และสีขาวบางชนิด เช่น ฝรั่ง แก้วมังกร หรือผักสีเขียวเข้มจัดบางชนิด น้ำผัก น้ำผลไม้ รวมทั้งพืชประเภทหัวที่อยู่ใต้ดินบางชนิด เช่น เผือก มัน แต่อย่างไรก็ตาม ควรดูผลเลือดเป็นเกณฑ์ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ได้รับยาขับปัสสาวะหรือผู้ที่ล้างไตผ่านทางผนังช่องท้อง อาจจะมีระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำกว่าค่าปกติคือน้อยกว่า 3.5 มิลลิโมลต่อลิตร ก็สามารถรับประทานผักผลไม้ได้ทุกชนิด
3. ไขมัน
เลือกไขมันที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ ได้แก่ กินปลาเป็นประจำ โดยเลือกเป็นปลากลุ่มที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 สูง 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาสวาย ปลาจาระเม็ดขาว ปลากะพงแดง ปลากะพงขาว ปลาทู เลือกไขมันจากพืชที่เป็นไขมันไม่อิ่มตัว ทั้งไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว (monounsaturated fats) เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนลา น้ำมันรำข้าว ถั่วเปลือกแข็ง หรือไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (polyunsaturated fats) เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน
คำแนะนำเพิ่มเติมในการเลือกรับประทานอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไต
ในภาวะที่มีฟอสฟอรัสในเลือดสูงคือสูงกว่า 5 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร กลุ่มที่ควรหลีกเลี่ยงและควรให้ความสำคัญมากที่สุด คือ ฟอสฟอรัสที่อยู่ในรูปสารสังเคราะห์มากกว่าฟอสฟอรัสจากธรรมชาติที่ส่วนใหญ่ก็เป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น เต้าหู้ ธัญพืช ข้าวไม่ขัดสี เพราะฟอสฟอรัสจากธรรมชาติร่างกายดูดซึมได้ไม่เกิน 50% ซึ่งก็ไม่มีความจำเป็นต้องงด สามารถรับประทานได้ แต่ในทางกลับกันควรงดฟอสฟอรัสจากสารสังเคราะห์ เพราะร่างกายสามารถดูดซึมได้มากกว่า 90% หรือเกือบทั้งหมดและเป็นอาหารที่ทำลายสุขภาพ ได้แก่ สารปรุงแต่งอาหารหรือสารกันบูดที่ใช้เพื่อเพิ่มอายุการเก็บรักษา เพิ่มรสชาติ เนื้อสัมผัส ป้องกันการสูญเสียน้ำออกจากผลิตภัณฑ์ อย่างที่แนะนำไปข้างต้น
...
การเลือกผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่มีโซเดียมต่ำ ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช้โพแทสเซียมทดแทน เนื่องจากผู้ป่วยโรคไต นอกจากเรื่องโซเดียมที่ควรควบคุมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว โพแทสเซียมก็จำเป็นด้วยเช่นกัน
หากสามารถคุมอาหารได้ตามที่แนะนำ ก็จะช่วยลดการคั่งของของเสียในร่างกาย ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการที่เกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ ซึ่งจะนำมาด้วยภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะบวมน้ำ หัวใจเต้นผิดปกติ กระดูกบาง หลอดเลือดแดงแข็ง ลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และสุดท้ายคือ จะช่วยชะลอความเสื่อมของไตไม่ให้พัฒนาระดับที่รุนแรงมากขึ้น
--------------------------------------------
แหล่งข้อมูล
ดร.วนะพร ทองโฉม นักสุขศึกษา (นักกำหนดอาหารวิชาชีพ) งานสร้างเสริมสุขภาพ
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล