“การผ่าตัดขากรรไกร” คือ การผ่าตัดเลื่อนกระดูกขากรรไกรส่วนที่รองรับฟัน ไม่ว่าจะเป็นขากรรไกรบนหรือ/และขากรรไกรล่าง เพื่อปรับรูปหน้า และการสบฟันของคนไข้ให้กลับมาใกล้เคียงปกติ

ผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดขากรรไกร แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักๆ ดังนี้

1. กลุ่มที่เป็นโรคที่มีความผิดปกติทางศีรษะและใบหน้า ไม่ว่าจะเป็นโรคที่เป็นแต่กำเนิด เช่น ปากแหว่งเพดานโหว่ โรคขากรรไกรโตน้อยผิดปกติ หรือเป็นโรคที่เกิดขึ้นทีหลัง เช่น ประสบอุบัติเหตุมีกระดูกใบหน้าหัก แล้วทำให้ไม่สามารถสบฟันได้ เป็นต้น

2. กลุ่มที่ไม่ได้เป็นโรคเฉพาะเจาะจง เป็นกลุ่มที่การเจริญเติบโตของขากรรไกรบนและล่างไม่สัมพันธ์กัน โดยที่ไม่ได้มีอุบัติเหตุ หรือไม่ได้เป็นโรคใดๆ มาก่อน ยกตัวอย่างเช่น ภาวะขากรรไกรล่างและคางยื่น ภาวะขากรรไกรบนยื่นและคางสั้น ซึ่งทำให้เกิดอาการนอนกรน หรือกลุ่มที่มีปัญหาเรื่องใบหน้า 2 ข้างไม่สมมาตร หรือไม่เท่ากัน ก็มาเข้ารับการผ่าตัดแก้ไขได้ ซึ่งคนไข้ในกลุ่มนี้การรักษาจะเน้นความสวยงามของรูปร่างใบหน้าเป็นหลัก และสามารถทำให้สบฟันได้ดีขึ้น

ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

หลักการผ่าตัดขากรรไกร คือ การตัดกระดูกขากรรไกรให้สามารถแยกจากตำแหน่งเดิม เลื่อนกระดูกไปในตำแหน่งใหม่ที่แพทย์ได้วางแผนไว้ และยึดกระดูกให้อยู่แน่นในตำแหน่งนั้นด้วยรางเหล็กไทเทเนียม และสกรู โดยอวัยวะสำคัญบริเวณใบหน้าที่ควรระมัดระวังมากเป็นพิเศษ ได้แก่ เส้นเลือดและเส้นประสาท

เส้นเลือด กล่าวคือ การผ่าตัดประเภทนี้เป็นการผ่าตัดที่มีโอกาสเสียเลือดมาก โดยอาจจะต้องมีการให้เลือดเพิ่มเติม ถ้าเลือดออกมาก แต่ในปัจจุบันเราสามารถป้องกันการมีเลือดออกมากได้ดีพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการผ่าตัดที่ดีขึ้น เครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย ร่วมกับวิสัญญีแพทย์ที่จะคอยร่วมดูแลเพื่อช่วยลดความดันโลหิตของคนไข้ระหว่างผ่าตัดไม่ให้ความดันสูงมากจนเลือดออกมากเกินไป

...

เส้นประสาทหลักๆ ก็จะเป็นเส้นประสาทที่มาเลี้ยงความรู้สึกบริเวณริมฝีปากและคาง ซึ่งแพทย์จะแจ้งคนไข้ไว้ก่อนผ่าตัดว่า หลังผ่าตัดแล้วอาจจะเกิดอาการชาบริเวณใบหน้าได้ โดยเฉพาะบริเวณริมฝีปากและคาง เนื่องจากบริเวณใจกลางของกระดูกขากรรไกรล่างจะมีเส้นประสาทที่มาเลี้ยงความรู้สึกของริมฝีปากล่างและคางวิ่งอยู่ ซึ่งเป็นบริเวณที่ใกล้กับรอยตัดกระดูกตรงนี้ ปกติศัลยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดก็จะระวังในจุดนี้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตามระหว่างการผ่าตัดอาจมีการดึงรั้งในบริเวณใกล้เคียงเส้นประสาท ซึ่งมีโอกาสที่จะทำให้คนไข้รู้สึกชาได้ แต่ถ้าเส้นประสาทไม่ได้ขาด ความรู้สึกก็จะค่อยๆ กลับมาดีขึ้น จนมีความรู้สึกใกล้เคียงปกติภายใน 3-6 เดือน

การดูแลตนเอง

1. เตรียมใจกับความบวมของใบหน้า โดยจะบวมมากที่สุดในวันที่ 3-5 หลังผ่าตัด และจะค่อยๆ ยุบลงเรื่อยๆ ซึ่งจะใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 1-3 เดือน

2. การทำความสะอาดแผลในช่องปาก เนื่องจากมีแผลผ่าตัดหลายแผลอยู่ในช่องปาก เพราะฉะนั้นจะยังไม่สามารถแปรงฟันได้ในช่วงแรก การดูแลความสะอาดในช่องปากจึงเป็นการบ้วนน้ำยาฆ่าเชื้อเป็นหลักในช่วงสองสัปดาห์แรก หลังจากนั้นจะเริ่มแปรงฟันได้เบาๆ

3. เรื่องอาหารการกิน ต้องรับประทานอาหารเหลวประมาณ 2-3 สัปดาห์หลังผ่าตัด เพื่อป้องกันไม่ให้กระดูกเคลื่อนที่จากการพยายามบดเคี้ยว หลังจากนั้นเมื่อกระดูกเริ่มติดแข็งแรงมากขึ้นก็จะเริ่มให้คนไข้เคี้ยวได้เบาๆ จนถึงกลับไปเคี้ยวได้ตามปกติประมาณ 2-3 เดือนหลังผ่าตัด

ผลของการรักษา

สิ่งที่คนไข้จะได้รับ คือ การสบฟันที่ดีขึ้น สามารถเคี้ยวอาหารได้ดีขึ้น และทำให้รูปหน้าดีขึ้นจากเดิม

“การผ่าตัดขากรรไกร” เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างทันตแพทย์จัดฟันและศัลยแพทย์ เนื่องจากเป็นการผ่าตัดร่วมกับการจัดฟัน หากต้องให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพมากที่สุด ควรเป็นทีมแพทย์ที่ทำงานร่วมกัน เนื่องจากการสื่อสารที่ดีระหว่างแพทย์จะนำมาซึ่งผลการรักษาที่น่าพอใจ และแม้ว่าการผ่าตัดขากรรไกรจะเป็นการผ่าตัดที่มีความเสี่ยงสูง แต่ ณ ปัจจุบันการผ่าตัดที่ผ่านมาก็ได้ผลการรักษาดี ปลอดภัย และไม่มีอะไรน่ากังวลจนเกินไป


@@@@@@@

แหล่งข้อมูล
อ. นพ.สรายุทธ ดำรงวงศ์ศิริ สาขาวิชาศัลยศาสตร์ตกแต่งและแม็กซิโลเฟเชียล ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล