- โรคกระเพาะอาหาร มีสาเหตุหลักมาจากการที่กรดในกระเพาะอาหารไปทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร ความเครียด การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา การสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การรับประทานยาบางชนิดเป็นประจำ และสาเหตุสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter Pylori)
- หากพบผู้ป่วยติดเชื้อเอชไพโลไร (H. Pylori) ภายในครอบครัวที่ใช้ชีวิตร่วมกัน หรือรับประทานอาหารสำรับเดียวกัน ควรเข้ารับการตรวจเชื้อ เนื่องจากมีโอกาสติดเชื้อซ้ำเช่นกัน
- โรคกระเพาะอาหารต้องได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง เพราะหากปล่อยจนเรื้อรัง อาจนำไปสู่โรคร้ายแรง โดยเฉพาะมะเร็งกระเพาะอาหาร
คนไทยรู้จักโรคกระเพาะอาหารมาเนิ่นนานว่าเกิดจากการรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา รับประทานอาหารรสจัด และปล่อยให้กระเพาะว่างจนกรดในกระเพาะกัดกระเพาะเป็นแผล มีอาการปวดท้อง เป็นๆ หายๆ ก่อนและหลังเวลาอาหาร และอาการจะทุเลาหากได้รับประทานอาหาร นอกจากนี้ยังเป็นโรคที่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต จึงมักถูกละเลย โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะซื้อยาลดกรดมารับประทานเอง เมื่ออาการดีขึ้นก็ถูกมองข้าม ซึ่งในความจริงแล้ว โรคกระเพาะอาหารต้องได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง เพราะหากปล่อยจนเรื้อรัง อาจนำไปสู่โรคร้ายแรง โดยเฉพาะมะเร็งกระเพาะอาหาร
สาเหตุของโรคกระเพาะอาหาร
โรคกระเพาะอาหาร มีสาเหตุหลักจากการเสียสมดุลของกรดภายในกระเพาะอาหาร ที่ไปทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร เนื่องจากการรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น อาหารไขมันสูงและอาหารรสจัด
รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น
- มีความเครียด และความวิตกกังวลสูง
- การอดอาหาร
- รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา
- การสูบบุหรี่
- ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- การรับประทานยาบางชนิดเป็นประจำ
...
และอีกสาเหตุสำคัญของโรคนี้อีกอย่างหนึ่งก็คือ การติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter Pylori) ซึ่งในประเทศไทยพบว่า ผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร มักจะมีเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้อยู่ที่เยื่อบุกระเพาะอาหารมากถึง 90%
โรคกระเพาะอาหาร จากเชื้อเอชไพโลไร H. Pylori
เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter Pylori) หรือเรียกสั้นๆ ว่า เอชไพโลไร (H. Pylori) เป็นแบคทีเรีย ที่อาศัยอยู่ในระบบทางเดินอาหาร มีการถ่ายทอดจากคนสู่คน จากการรับประทานอาหารและใช้อุปกรณ์การปรุงที่สกปรกปนเปื้อน เชื้อจะเข้าสู่กระเพาะอาหารและเลื่อนเข้าสู่เซลล์เยื่อบุผิวของกระเพาะอาหาร
ปกติแบคทีเรียหลายชนิดไม่สามารถอาศัยอยู่ในกระเพาะอาหารได้ เนื่องจากถูกกรดทำลาย แต่เชื้อเอชไพโลไร มีคุณสมบัติพิเศษ สามารถเกาะเกี่ยวตัวเองไว้กับเยื่อบุผิวกระเพาะอาหาร รวมถึงสามารถผลิตด่างขึ้นป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกกรดทำลาย และแทรกอยู่ระหว่างช่องเซลล์ของผิวเยื่อบุกระเพาะอาหาร ซึ่งทำให้เชื้อนี้สามารถอาศัยอยู่ในกระเพาะผู้ติดเชื้อนานนับ 10 ปี โดยไม่แสดงอาการใดๆ
แต่หากมีการติดเชื้อแบบเฉียบพลันหรือในปริมาณมาก จะมีอาการเหมือนกระเพาะอาหารอักเสบ โดยมีไข้ ปวดท้องคลื่นไส้ อาเจียน เป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วหายไป ขณะที่ผู้รับเชื้อในปริมาณน้อยอาจไม่มีอาการใดๆ เลย แต่เชื้อจะฝังตัวอยู่ในกระเพาะอาหารไปเรื่อยๆ จนความแข็งแรงของผิวเยื่อบุลดลง ส่งผลให้กระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง หรือเกิดแผลในกระเพาะอาหาร มีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารได้ในที่สุด
อาการของการติดเชื้อเอชไพโลไร
- มีอาการปวดท้องเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง บริเวณใต้ลิ้นปี่
- อาการปวดมักสัมพันธ์กับมื้ออาหาร เช่น ก่อนหรือหลังอาหาร
- มีอาการปวดแสบ จุกแน่น
- อาจมีอาการคลื่นไส้
- กรณีมีการอักเสบรุนแรง จนเกิดแผลในกระเพาะอาหาร หรือบริเวณลำไส้เล็กส่วนต้น อาจมีเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร ส่งผลให้อุจจาระมีสีดำ อาเจียนเป็นเลือด หรือเป็นสาเหตุของภาวะโลหิตจาง
วิธีการตรวจหาเชื้อเอชไพโลไร
หลังจากแพทย์ทำการซักประวัติและตรวจร่างกาย อาจส่งตรวจเพิ่มเติมดังนี้
- การส่องกล้อง เพื่อเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อในระบบทางเดินอาหาร โดยสอดอุปกรณ์ที่มีกล้องขนาดเล็กเข้าไปทางปาก เพื่อตรวจดูแผลและเยื่อบุกระเพาะอาหาร รวมถึงนำชิ้นเนื้อมาตรวจหาการติดเชื้อแบคทีเรีย
- การตรวจอุจจาระ (Stool antigen test) โดยการเก็บตัวอย่างอุจจาระส่งตรวจภายใน 4 ชั่วโมง เพื่อหาซากเชื้อแบคทีเรีย หรือโปรตีนของเชื้อ ซึ่งมีความแม่นยำมากถึง 98%
- การตรวจลมหายใจ (Urea breath test) โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยกินยูเรีย จากนั้นจึงเป่าเพื่อเก็บลมหายใจไปตรวจปริมาณแอมโมเนียที่เพิ่มขึ้นเทียบกับคนปกติ เนื่องจากเชื้อเอชไพโลไร สามารถเปลี่ยนยูเรียไปเป็นแอมโมเนียได้ หากพบว่ามีปริมาณแอมโมเนียเพิ่มขึ้นมาก แสดงว่ามีเชื้อเอชไพโลไรในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งวิธีการนี้มีความแม่นยำมากเช่นกัน
การรักษาผู้ติดเชื้อเอชไพโลไร
เมื่อตรวจพบว่าผู้ป่วยติดเชื้อเอชไพโลไร แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะที่มีสูตรเฉพาะ เนื่องจากแบคทีเรียที่อยู่ในกระเพาะมีโอกาสดื้อยาสูง สูตรของยาปฏิชีวะมีความหลากหลาย ต้องใช้ร่วมกัน 2-3 ชนิด ซึ่งต้องรับประทานยาต่อเนื่อง 1-2 สัปดาห์ ตามความเหมาะของยาและผู้ป่วยแต่ละบุคคล
นอกจากนี้ หากพบผู้ป่วยติดเชื้อภายในครอบครัวที่ใช้ชีวิตร่วมกัน หรือรับประทานอาหารสำรับเดียวกัน ควรเข้ารับการตรวจเชื้อ เพื่อทำการรักษาไปพร้อมๆ กัน เพื่อป้องกันการกลับมาติดเชื้อซ้ำ
การป้องกันการติดเชื้อเอชไพโลไร
- ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง ก่อนที่จะจัดเตรียมหรือรับประทานอาหาร
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่ไม่สะอาด รวมถึงอาหารที่ปรุงไม่สุก
- ดูแลอุปกรณ์การทำอาหารและภาชนะให้สะอาดอยู่เสมอ
- หากมีอาการผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร หรือเป็นโรคกระเพาะเรื้อรัง ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง รวมถึงการตรวจหาเชื้อเอชไพโลไรด้วย
...
แม้โรคกระเพาะอาหารจะเป็นโรคที่ไม่ทำอันตรายถึงชีวิต แต่การปล่อยทิ้งไว้จนกลายเป็นโรคกระเพาะอักเสบเรื้อรัง อาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ดังนั้น หากเริ่มมีอาการปวดท้อง แสบท้อง แน่นเฟ้อที่รักษาไม่หายขาด โดยเฉพาะผู้มีความเสี่ยงที่ชอบรับประทานอาหารดิบ หรือมีบุคคลในครอบครัวเคยตรวจพบเชื้อเอชไพโลไร ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อ และเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธีให้หายขาด
บทความโดย นพ. เรวัฒน์ บุญอนุวัฒน์ อายุรแพทย์ด้านโรคระบบทางเดินอาหาร รพ.สมิติเวช สุขุมวิท