ยาแก้ปวดในตระกูลโอปิออยด์ (opioids) มีการใช้บ่อย ในการรักษาอาการปวดเฉียบพลัน และอาการปวดเรื้อรังยาในกลุ่มนี้ เช่น tramadol, oxycodone, fentanyl, methadone, meperi dine, codeine, buprenorphine, hydrocodone, hydromorphone, morph ine, oxymorphone

และในบางประเทศเช่น ในสหรัฐอเมริกา มีการใช้กันอย่างมโหฬาร ทั้งนี้มีการเปิดโปงว่า มีการส่งเสริมการใช้ การสั่งจ่าย จากบริษัทยาให้ประโยชน์ส่งต่อมายังหมอที่ใช้รักษา

ดังนั้นแทนที่จะใช้ยากลุ่มอื่นประเภทอื่นก่อนกลับใช้ยาในกลุ่มโอปิออยด์เป็นตัวแรก และสรรพคุณในการก่อให้เกิดการติด มีได้สูง จนทำให้คนที่เข้ารับการรักษาด้วยอาการปวดจากภาวะต่างๆ แม้ใช้ไปในระยะสั้นเพียงแค่ไม่กี่อาทิตย์ แต่หลังจากนั้นกลายเป็นขี้ยา พยายามหายาแก้ปวดเหล่านี้มาเสพ และครอบครัวแตกแยก ตกงานและกลายเป็นขี้ยา ไร้บ้าน อยู่ตามถนนหนทาง และเสพยาเกินขนาดจนเสียชีวิตก็มี

จนในสหรัฐอเมริกาเองนั้นเรียกว่าเป็น วิกฤติโอปิออยด์ (opioid crisis) จนถึงต้องประกาศสงครามกับยาและการใช้ และมีการลงโทษหมอที่รับผลประโยชน์ใต้โต๊ะเหล่านี้

...

จากมูลเหตุดังกล่าว ซึ่งในประเทศออสเตรเลียเอง ในปี 2020 มีการสั่งจ่ายยากลุ่มนี้มากถึง 43.3 ครั้งต่อคนป่วย 100 คน และจนกระทั่งเมื่อย้อนกลับไปดูถึงประสิทธิภาพของยาว่า แท้ที่จริงแล้วดีจริง ได้ผลจริงหรือไม่ ปรากฏในเวลาที่ผ่านมานั้นมีข้อมูลน้อยมาก และไม่พบว่าเมื่อการเสริมเพิ่มยากลุ่มโอปิออยด์ เข้าไปกับกลุ่มของยาแก้ปวด แก้อักเสบ เอ็นเสด NSAID จะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อและกระดูก การศึกษาที่ระบุว่าได้ผลนั้นกลายเป็นได้รับทุนวิจัยจากบริษัทยา

ทำให้เกิดมีคณะทำงาน จากคณะแพทย์และสาธารณสุขของมหาวิทยาลัยซิดนีย์ออสเตรเลียและสถาบันการศึกษาหลายแห่ง ทางด้านกล้ามเนื้อและกระดูกและเภสัชวิทยาคลินิกและพิษวิทยาร่วมกับสถาบันในประเทศเนเธอร์แลนด์และเดนมาร์ก ร่วมกันศึกษาและติดตามผล ทั้งประสิทธิภาพและความปลอดภัย ที่เรียกว่า the OPAL trial (opioid analgesia for acute low back pain and neck pain) โดยเป็นการศึกษาในแบบ randomized placebo controlled trial และตีพิมพ์ในวารสาร Lancet ในวันที่ 28 มิถุนายน 2023

คณะที่ศึกษานี้ ไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆจากบริษัทยาทั้งสิ้น และถือเป็นการศึกษาแรกที่มีการเปรียบเทียบกับยาหลอก โดยไม่มียาแก้ปวดตัวอื่นใดอีก และเป็นการติดตามประสิทธิภาพ และความปลอดภัยไปถึง 12 เดือนด้วยกัน

การศึกษานี้ได้รวมผู้ป่วยอายุมากกว่า 18 ปีที่ได้เข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉินหรือสถานพยาบาล ระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ 157 แห่งในซิดนีย์ นิวเซาท์เวล ออสเตรเลีย

ผู้ป่วยเหล่านี้ต้องมีอาการปวดหลังทางด้านล่าง (low back pain) หรือปวดคอหรือปวดทั้งสองแบบ มาเป็นระยะเวลา 12 อาทิตย์หรือน้อยกว่า และมีความรุนแรงในระดับปานกลางขึ้นไป ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ 29 กุมภาพันธ์ 2016 ถึง 10 มีนาคม 2022 มีผู้ป่วยที่เข้าร่วมในโครงการทั้งหมด 347 รายด้วยกัน โดยเป็นสตรี 49% และบุรุษ 51%

แต่ในระยะต่อมาได้มีการถอนตัวออก ดังนั้นมีผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มของโอปิออยด์ 151 คน และในกลุ่มของยาหลอก 159 คนการได้รับยานั้นจะไม่มีใครทราบว่าเป็นยาจริงหรือยาหลอก ไม่ว่าจะเป็นแพทย์หรือผู้ป่วยก็ตามเกณฑ์ ของการป่วย ด้วยอาการปวดหลังทางด้านล่าง (low back pain) หรือปวดคอ มีการกำหนดอย่างเข้มงวด โดยที่มีหรือไม่มีการปวดร้าวลงขาหรือลงมาที่บ่าไหล่ แขน ซึ่งแสดงว่ามีการกระทบเส้นประสาทร่วมอยู่ด้วย

ในกลุ่มของโอปิออยด์นั้น ได้รับยาตั้งต้น ประกอบด้วย oxycodone 5 มิลลิกรัมและ 2.5 มิลลิกรัมของ naloxone (เพื่อลดอาการท้องผูก) และเป็นรูปแบบของ modified release formula เพื่อให้ได้ในขนาดวันละสองครั้ง และค่อยๆปรับเพิ่มขนาดจนขนาดเต็มที่ นั่นก็คือ 10 มิลลิกรัมวันละสองครั้ง ตามอาการและมีผลข้างเคียงหรือไม่ และระยะเวลาสูงสุดที่ให้ยาจะอยู่ที่ไม่เกิน 6 อาทิตย์ หรือผู้ป่วยดีขึ้นจากอาการปวด และทำการประเมินที่ 6 อาทิตย์ ผู้ป่วยทั้งหมดจะได้รับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวเพื่อบรรเทาอาการปวดด้วย

ผลจากการประเมิน พบว่าระดับความรุนแรงของความปวดที่ 6 อาทิตย์ ในผู้ป่วยทั้งหมดนี้ไม่แตกต่างกัน และบทสรุปของการศึกษานี้คือ ยากลุ่มโอปิออยด์ ไม่ควรนำมาใช้ในอาการปวดหลังหรือปวดคอ จากเหตุผลทางด้านประสิทธิภาพซึ่งไม่แตกต่างกับยาหลอก และเมื่อพิจารณาถึงผลข้างเคียงที่อาจจะมีขึ้นในอนาคตจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนแปลง ในการใช้ยากลุ่มนี้

...

อนึ่ง การศึกษานี้ยังได้ทำการติดตามทอดยาวไปจนถึง 52 อาทิตย์ โดยที่พบว่า ทั้งสองกลุ่มนั้นมีความแตกต่างกัน โดยกลุ่มที่ได้ยาหลอกนั้นกลับได้ผลมากกว่า และในด้านความปลอดภัยนั้น ผู้ป่วยในกลุ่มโอปิออยด์ สุ่มเสี่ยงที่จะมีการใช้ยาผิดวัตถุประสงค์ (misuse) ที่นำไปสู่ความผันผวนทางอารมณ์ (quality-of-life mental health scores) ก่อให้เกิดการติดระยะยาว รวมกระทั่งถึงการใช้ยาเกินขนาด

โดยผลกระทบนี้ ตรงกับข้อมูลของประชาชนในประเทศออสเตรเลียซึ่งพบว่าคนที่เริ่มใช้โอปิออยด์ จะยังคงใช้ยานี้ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จนถึง 12 เดือนโดยมีจำนวนประมาณ 2.6%

การที่ยา oxyco done-naloxone ไม่ได้ผลในการบรรเทาอาการปวดในการศึกษานี้ ไม่ได้เกิดจากการที่ยาไม่สามารถเข้าร่างกายหรือกระแสเลือดได้ และไม่ได้เกี่ยวข้องกับการที่มียา naloxone ร่วม

การศึกษานี้เป็นการโต้กลับการที่แพทย์สั่งจ่าย oxycodone อย่างแพร่หลายในประเทศออสเตรเลีย และเป็นการสนับสนุนคำแนะนำทางเวชปฏิบัติ ให้บรรเทาอาการปวดโดยไม่ใช้ยาก่อน ทั้งนี้โดยให้เข้าใจตัวโรคที่นำไปสู่อาการปวดและการบรรเทาโดยการปรับท่าในการบริหารและในการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ โดยการใช้ยาแก้ปวดในกลุ่ม NSAID เท่าที่จำเป็นเท่านั้น

...

ในประเทศไทยเองนั้น ยาในกลุ่มนี้ทั้ง morphine แบบเม็ดแบบน้ำ oxycodone เป็นยาควบคุม แต่กระนั้นก็ยังมีการสั่งจ่ายกันให้เห็น

และโดยเฉพาะยา tramadol มีการใช้กันทั่วไปในสูตรเดี่ยวหรือเป็นสูตรผสม และทั้งหมดนี้ยังมีปฏิกิริยาควบรวมกับยาตระกูลอื่น ที่ทำให้เกิดผลข้างเคียงอย่างร้ายแรงได้ ทั้งนี้ ยังรวมถึงยา gabapentin และ pregabalin ที่แท้จริงแล้วมีสรรพคุณเฉพาะอาการปวดที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของเส้นประสาทหรือของระบบประสาท และโรค fibromyalgia แต่กลับมาใช้ในการปวดข้อ ปวดกระดูก ปวดกล้ามเนื้อ

และแน่นอนมีผลข้างเคียงง่วงทำให้การทรงตัวไม่ดีหกล้มได้ และปฏิกิริยาควบรวมกับอย่างอื่นเกิดผลข้างเคียงร้ายแรงได้

สรุปว่าอย่าเอาตัวผู้ป่วย เป็นหม้อยา และจะใส่อะไรในหม้อ ต้องมีความระมัดระวัง.

หมอดื้อ