หนึ่งในสุดยอดนักภูมิคุ้มกันวิทยาที่โดดเด่นโลดโผนที่สุด นักวิทยาศาสตร์ระดับโลก ชีวิตที่เหลือเชื่อ...ชีวประวัติของนักวิทยาศาสตร์ ในโลกนี้มีหลายคนที่น่าสนใจ แต่คนหนึ่งที่โดดเด่นมากและยังมีชีวิตคือ Polly Matzinger
ชื่อเต็มคือ Polly Celine Eveline Matzinger เป็นลูกครึ่งดัชต์-ฝรั่งเศส เกิดที่ฝรั่งเศสแม่เคยเป็นแม่ชี ภายหลังเปลี่ยนมาเป็นช่างปั้นหม้อเพื่อช่วยหาเลี้ยงครอบครัว พ่อเคยถูกจับเข้าคุกสมัยนาซีครองอำนาจเนื่องจากเป็นยิว หาเลี้ยงครอบครัวด้วยอาชีพจิตรกรและช่างไม้ ครอบครัวย้ายมาอยู่ที่อเมริกาตั้งแต่ Polly อายุ 7 ขวบ
หลังจบมัธยม ความเห็นของครูในสมุดพกคือ “ไม่น่าจะประสบความสำเร็จในชีวิต”
เนื่องจากฐานะทางบ้านไม่ดี Polly ทำหลายอาชีพมาก่อนจะลงเอยมาเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางภูมิคุ้มกันวิทยา อาชีพเหล่านี้เธอเคยทำมาแล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้เล่นเบสในวงดนตรีแจ๊ส ช่างไม้ คนฝึกสุนัข สาวเสิร์ฟ บาร์เทนเดอร์ แม้กระทั่งนางกระต่ายในคลับเพลย์บอย (playboy bunny girl) จัดได้ว่าเป็นคนที่มีชีวิตโลดโผนน่าสนใจมาก...ตอนอายุ 25 Polly ทำงานในบาร์ที่แคลิฟอร์เนีย ลูกค้าประจำคือ ศาสตราจารย์ทางชีววิทยา 2 คน ดื่มไปก็พูดคุยกันไปหลายเรื่องทางชีววิทยารวมถึงพฤติกรรมของสัตว์ เนื่องจากนางรักสัตว์อยู่แล้วโดยเฉพาะสุนัขจึงฟังได้โดยไม่เบื่อ ฟังไปด้วยเสิร์ฟเบียร์ไปด้วย
...
วันหนึ่ง 2 ท่านนี้ถกกันเรื่องพฤติกรรมของสัตว์ที่คล้ายกัน เช่น แมลงวันดอกไม้ (hoverfly) แต่งตัวเองให้ดูเด่นเพื่อดึงดูดเหยื่อ ซึ่งตัวต่อก็มีพฤติกรรมแบบนี้เช่นกัน
Polly ถือวิสาสะร่วมการสนทนาโดยตั้งคำถามว่า “ทำไมไม่มีสัตว์ตัวไหนที่เลียนแบบสกั๊ง เช่น ไม่เคยเห็นมีแรคคูนลายขาวดำเหมือนสกั๊ง”
หนึ่งในโปรเฟสเซอร์รู้สึกว่าเด็กคนนี้น่าสนใจเลยคุยยาวเรื่องวิทยาศาสตร์ และชมว่าการตั้งคำถามแบบนี้คือนิสัยของนักวิทยาศาสตร์โดยแท้จริง ต่อมาทุกครั้งที่มาที่บาร์นี้เขาจะนำวารสารทางวิทยาศาสตร์มาให้เสมอๆ และแนะนำให้นางเรียนชีววิทยา ชื่อของเขาคือ professor Robert Schwab ถือเป็นผู้ที่เห็นแววและชักนำ Polly สู่วงการวิทยาศาสตร์
Polly ใช้เวลา 11 ปี ถึงเรียนจบปริญญาตรีทางชีววิทยาจาก University of California, Irvine แต่ใช้เวลาแค่ 3 ปีจบปริญญาเอกทางชีววิทยาจาก University of California, San Diego หลังจากนั้นก็ไปทำเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ Basel Institute for Immunology ในสวิตเซอร์แลนด์ 6 ปี ก่อนย้ายมา NIH สังกัด NIAID (National Institute of Allergy and Infectious Diseases) โดยเป็นหัวหน้าห้องปฏิบัติการ ศึกษาเกี่ยวกับภาวะดื้อต่อการกระตุ้นและความจำของทีเซลล์ (T cell tolerance and memory section)
ถึงแม้จะมีงานการเป็นหลักเป็นฐานแล้ว Polly ก็ยังไม่ทิ้งความเกรียน 9 เดือนแรกในแล็บเป็นช่วงเวลาที่ไม่มีการทำแล็บจริงๆเกิดขึ้นเลย
ยิ่งไปกว่านั้นทั้งแล็บมีนางอยู่คนเดียว โดยช่วงนั้นนางศึกษาเรื่อง chaos theory (ภาษาไทยใช้คำว่า ทฤษฎีความอลวน) เป็นการศึกษาและอธิบาย โดยใช้คณิตศาสตร์และสถิติถึงลักษณะพฤติกรรมของระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงจนมีลักษณะโกลาหลคล้ายว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นแบบสุ่มหรือไร้ระเบียบ แต่จริงๆแล้วไม่สุ่ม หรือเรียกได้ว่าเป็นระบบ ที่มีระเบียบในความไม่มีระเบียบ (ยิ่งอธิบายยิ่งงง) แล็บของ Matzinger ในช่วงนี้ถูกเรียกว่า “ghost lab” ...ไม่รู้เพราะสาเหตุนี้หรือเปล่า ทาง NIAID จึงย้ายแผนกของ Matzinger มาอยู่กับ laboratory of Immunogenetics แทน
หลังจากนั้นนางก็เริ่มทำแล็บตามปกติเหมือนชาวบ้านเขา มีองค์ความรู้ต่างๆมากมายเกิดจากแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการปฏิเสธอวัยวะในการปลูกถ่าย (transplant rejection) ภูมิคุ้มกันวิทยาของมะเร็ง ภาวะภูมิต่อต้านตัวเอง (autoimmunity)
...
และที่สำคัญที่สุดคือเป็นคนเสนอความคิดที่ว่าภาวะการทำลายของร่างกายหรือการอักเสบของเนื้อเยื่อสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันแต่กำเนิด (innate immunity) ได้ และเกิดการอักเสบตามมา ในช่วงแรกเรียกว่า self danger ซึ่งต่อมารู้จักกันดีในชื่อ DAMPs (damage-associated molecular patterns) ซึ่งสามารถอธิบายกลไกของการเกิดการอักเสบทั่วทั้งร่างกายจากการทำลายเนื้อเยื่อของร่างกายเองในโรค SLE
ความกล้าและท้าทายของนางทำให้บริษัท EpiVax ซึ่งเป็นบริษัททางเทคโนโลยีชีวภาพชื่อดัง ตั้งรางวัล Polly Matzinger Fearless Scientist award เพื่อให้รางวัลและให้ทุนการวิจัยสำหรับนักวิทยาศาสตร์สุภาพสตรีที่กล้าท้าทายความเปลี่ยนแปลงต่างๆ
ความบ้าที่ชัดเจนของ Polly คือการที่ส่งบทความไปลงวารสาร journal of experi mental immunology ซึ่งเป็นวารสารชั้นนำทางภูมิคุ้มกันวิทยา แต่ด้วยความไม่ชอบการใช้รูป passive voice ที่ปกติใช้กันในวารสาร เช่น “it was shown…, it was decided…” นางเปลี่ยนไปใช้ “we believed…, we showed…, we decided”
...
ปัญหาคือ งานนี้ Polly ทำคนเดียว แต่ด้วยความที่ไม่อยากเขียนว่า “I believed… I showed… I decided…” นางเลยตัดสินใจใส่ชื่อสุนัขที่เลี้ยงเป็นผู้นิพนธ์ร่วม (co-author) ให้ชื่อว่า Galadriel Mirkwood ดังนั้นบทความนี้จึงถูกตีพิมพ์ในชื่อผู้ประพันธ์คือ Matzinger and Mirkwood
พอความแตกว่า Mirkwood ผู้นิพนธ์ร่วมดันเป็นสุนัขไม่ใช่คน ทางบรรณาธิการวารสาร journal of experimental immunology ยัวะมาก ไม่รับบทความของ Polly ลงวารสารนี้อีกเลยจนบรรณาธิการตาย
Polly Matzinger นับเป็นสตรีที่บุกเบิกวงการภูมิคุ้มกันวิทยาสำหรับนักวิทยาศาสตร์หญิงโดยแท้จริง ทำให้วงการเริ่มยอมรับความเก่งของนักภูมิคุ้มกันวิทยาสตรีอย่างเท่าเทียม
ปัจจุบัน Polly อายุ 69 ปี ยังมีความสุขกับการทำทุกอย่างที่ใจรัก ไม่ว่าจะฝึกสุนัข และทำงานวิจัยที่ท้าทายทางภูมิคุ้มกันวิทยา ไม่เคยแต่งงาน ไม่มีลูก ครอบครัวที่นางมีคือเหล่าสุนัขของนาง
ของหนึ่งในสุดยอดนักภูมิคุ้มกันหญิงที่โดดเด่นโลดโผนที่สุด
บทความโดย นพ.ดร.ชลธวัช สุวรรณปิยะศิริ.
หมอดื้อ