องค์การสหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 21 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันโยคะสากล โดยเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2014 เมื่อนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีประเทศอินเดีย ต้องการเผยแพร่ศาสตร์โยคะที่มีมานานกว่า 2,000 ปี ให้เป็นที่รู้จักและนิยมปฏิบัติไปทั่วโลก จึงได้เสนอต่อที่ประชุมสหประชาชาติขอให้ตั้งวันโยคะสากลขึ้นมา และได้รับความเห็นชอบจากสมาชิก 175 ประเทศ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2014 ทำให้ เกิด “วันโยคะสากล” หรือ International Day of Yoga ตรงกับวันที่ 21 มิถุนายน ของทุกปี ในปี 2015 เป็นปีแรก
...
ส่วนเหตุผลที่เลือกวันที่ 21 มิถุนายนเป็นวันโยคะสากลก็เพราะวันที่ 21 มิถุนายน เป็นวันครีษมายัน (ครีด-สะ-มา-ยัน) หรือ Summer Solstice คือวันที่มีกลางวันยาวนานที่สุดในรอบปีของประเทศทางซีกโลกเหนือ ในทางฤดูกาลนับเป็นวันเริ่มต้นฤดูร้อน จึงถือเป็นวันดีตามหลักศาสนาฮินดู เป็นวันเริ่มต้นของเทศกาลมงคล
โยคะ เป็นวิถีแห่งการฝึกฝนตนเอง ถือกำเนิดขึ้นในประเทศอินเดียเมื่อประมาณ 5,000 ปีมาแล้ว โดยพบหลักฐานเป็นไม้แกะสลักและศิลปะรูปปั้นที่แสดงถึงการฝึกโยคะในหุบเขาอินดัส ซึ่งน่าจะเป็นวิธีการบันทึกหรือจารึกเรื่องราวของโยคะศาสตร์ลงบนหิน ไม้และวัสดุต่างๆ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวความมหัศจรรย์ของศาสตร์นี้ไปสู่คนรุ่นหลัง
นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย บอกว่า โยคะเป็นสิ่งล้ำค่าของชาวอินเดีย การฝึกโยคะเป็นการบำบัดจิตใจและร่างกายโดยธรรมชาติ จึงช่วยให้เกิดความสงบสุขระหว่างมนุษย์และธรรมชาติได้
การสืบต่อศาสตร์โยคะในยุคต่อมา ปตัญชลี นักปราชญ์ชาวฮินดู เป็นคนแรกที่ได้พัฒนาองค์ความรู้ในการปรับปรุงโยคะขั้นพื้นฐานโดยเขียนสูตรของการฝึกโยคะเป็น 8 หัวข้อ ตั้งแต่ 200 ปีก่อนคริสตกาล เพื่อใช้ฝึกเฉพาะกลุ่มชนชั้นพราหมณ์ โยคะจึงถือเป็นภูมิปัญญาอันล้ำค่าของชาวอินเดีย และมีความผูกพันอยู่กับปรัชญาและศาสนาฮินดู และยังเป็นศาสตร์ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพกาย สุขภาพใจ เป็นสิ่งที่รวมกายและใจเข้าด้วยกันเพื่อสร้างสมดุลให้เกิดขึ้น
...
ในประเทศไทยมีการจัดงาน วันโยคะโลก หรือ วันโยคะสากล ที่สนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ศ.ดร.ปาริชาติ สถาปิตานนท์ รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สุชิล กุมาร ดานุกา (Mr.Susheel Kumar Dhanuka) ประธานหอการค้าอินเดีย ชวน ตากรู (Mr.Chuan Thakur) ประธานสมาคมอินเดียแห่งประเทศไทย สุธรรม สัจจาภิมุข (ราจ สัจเดว์) เจ้าของบริษัท SS Travel Service อดีตนายกสมาคมหอการค้าอินเดีย-ไทย และ สมทรง สัจจาภิมุข เข้าร่วม มีคนเข้าร่วมงานในการฝึกโยคะมากถึง 4,000 คน
ส่วนที่ประเทศอินเดีย นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ได้ออกมาร่วมเล่นโยคะกับชาวอินเดียในกรุงนิวเดลี เช่นเดียวกับในสหรัฐอเมริกา มีการจัดกิจกรรมร่วมฝึกโยคะที่จัตุรัสไทม์สแควร์ ที่ฝรั่งเศสจัดกิจกรรมโยคะหน้าหอไอเฟล กรุงปารีส นอกจากนี้ยังมีประเทศอื่นๆในแต่ละทวีปร่วมจัดกิจกรรมเล่นโยคะ ทั้งจีน ไต้หวัน ศรีลังกา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เคนยา สเปน ฯลฯ เพื่อให้คนเห็นประโยชน์ของศาสตร์การฝึกฝนตนเองที่มีต้นกำเนิดมานานนับพันปีว่าดีต่อร่างกายและจิตใจ
...
สำหรับประโยชน์ของโยคะที่มีผลต่อร่างกาย มีหลักฐานยืนยันในหลายการศึกษาว่า โยคะ ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับข้อต่อต่างๆ ทำให้ข้อต่อสามารถเคลื่อนไหวได้ระยะหรือมุมการเคลื่อนไหวที่มากกว่าเดิม เพิ่มความมีสติและมีสมาธิ เพราะการฝึกโยคะจะเป็นการฝึกให้จิตใจจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น การฝึกนับลมหายใจเข้า-ออก ก็จะเป็นการฝึกจิตให้คิดอยู่กับสิ่งสิ่งเดียว ทำให้หายใจได้ยาวและลึกขึ้นกว่าเดิม ดีต่อสุขภาพปอด ขณะเดียวกันยังช่วยให้ผู้ฝึกโยคะมีความใจเย็น หากมีอาการโกรธก็จะช่วยระงับความรุนแรงของความโกรธให้ทุเลาลงได้ นอกจากนี้ โยคะยังช่วยผ่อนคลายความเครียด บำบัดรักษาโรคจากความเครียดได้ รวมถึงช่วยรักษาอาการนอนไม่หลับได้ด้วย
โยคะช่วยลดอาการปวดเมื่อยตามร่างกายช่วยให้การทรงตัวดีขึ้น เพราะการเล่นโยคะคือการรักษาสมดุลของร่างกายช่วยให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงส่วนต่างๆได้ดีขึ้น เพราะการยืดเหยียดทำให้หลอดเลือดขยายตัว และเลือดสามารถไหลเวียนไปยังส่วนนั้นได้มากขึ้น ผู้ฝึกโยคะเป็นประจำจะมีอารมณ์ พฤติกรรม และสุขภาพจิตที่ดีขึ้น เพราะการฝึกโยคะจะทำให้ต่อมไร้ท่อทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงสร้างและหลั่งฮอร์โมนต่างๆได้อย่างเป็นปกติ
...
การจัดกิจกรรมวันโยคะสากล และการฝึกฝนการเล่นโยคะเป็นประจำ จะช่วยเสริมสร้างความชัดเจนทางจิตใจและการตระหนักรู้ในตนเอง ส่งเสริมความสมดุลทางจิตใจ อารมณ์ และจิตวิญญาณ เพื่อเข้าถึงความสงบสุขอย่างแท้จริง.