ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากรเข้าสู่สังคมสูงอายุ (Aged Society) เนื่องจากอัตราการเกิดของเด็กไทยลดลง จากปี พ.ศ.2555 จากอัตราการเกิดประมาณปีละ 8 แสนคน เหลือเพียง 5 แสนคนในปี 2565

“อัตราการเกิดของเด็กเกิดใหม่ในแต่ละปีเหลืออยู่ประมาณ 500,000 คน เมื่อเทียบกับอัตราการตายหรือคนเสียชีวิต นั่นหมายถึงเรากำลังเผชิญภาวะเด็กเกิดน้อย ขณะเดียวกันก็มีปัญหาเรื่องสุขภาพของเด็กที่เกิด ตรงนี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญเพราะเมื่อเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เราจะไม่มีเด็กที่เติบโตเข้าสู่วัยทำงานที่จะสร้างผลิตผลให้กับสังคมได้”  นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย อธิบายถึงภาพรวมของสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น

นอกเหนือจากปัญหาเรื่องการเกิดน้อย ด้อยคุณภาพ ยังพบปัญหาความพิการแต่กำเนิดของทารกที่ในปี 2564 พบว่ามีจำนวนมากถึง 2,600 คน

อธิบดีกรมอนามัยบอกว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง และเป็นประเด็นสำคัญที่กรมอนามัยจำเป็นต้องเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะการทำให้แม่ตั้งครรภ์ คลอด และเด็กที่เกิดมีคุณภาพ

...

“หัวใจสำคัญในเรื่องนี้ที่ถือเป็นรากฐานคือ งานอนามัยแม่และเด็กที่จะนำไปสู่การทำให้เด็กที่เกิดมาต้องรอด และการตายของแม่ควรเป็นศูนย์ ซึ่งที่ผ่านมาก็น่ายินดีว่า อัตราตายของแม่ที่เสียชีวิตหลังคลอดลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 197 รายในปี 2564 เหลือเพียง 129 รายในปี 2565” นพ.สุวรรณชัยบอก

 ล่าสุด เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กรมอนามัยได้จัดงานสัมมนาวิชาการอนามัยแม่และเด็ก ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “ลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย ห่างไกลความพิการแต่กำเนิด” โดยมีการเพิ่มส่วนสำคัญในเรื่องของการส่งเสริมให้ลูกกินนมแม่ ส่งเสริมให้เด็กเติบโตสมส่วน เพื่อป้องกันการเป็นโรค NCDs ในอนาคต รวมทั้งการพัฒนาเด็กให้สมวัยและเกินวัย

นพ.สุวรรณชัย ยังบอกด้วยว่า ต้องทำความเข้าใจว่าทุกวันนี้เราไม่ได้เผชิญกับโรคและภัยสุขภาพแบบเดิม เช่น โรคติดเชื้อต่างๆ แต่เรากำลังเผชิญกับโรคที่เกิดจากพฤติกรรม ที่สำคัญคือ โรค NCDs ที่มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นโดยในกลุ่มนี้มีผู้ที่ตั้งครรภ์รวมอยู่ด้วย ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรค NCDs จึงมีความเสี่ยงมากขึ้น

“การสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพอนามัยแม่และเด็ก สร้างองค์ความรู้ เพิ่มศักยภาพบุคลากรและภาคีเครือข่าย และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการดำเนินงานอนามัยแม่และเด็กให้เกิดความยั่งยืน” อธิบดีกรมอนามัยอธิบาย

นอกจากนี้ กรมอนามัยได้ทำ Care Plan คือการวางแผนสำหรับดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงเป็นรายๆไป โดยเรามีความพร้อมด้านหลักประกันสุขภาพและเทคโนโลยี เครือข่ายบริการสาธารณสุขที่สำคัญคือการยกระดับคุณภาพการบริการให้เป็นการ บริการในรายบุคคล โดยต้องให้หญิงตั้งครรภ์ ครอบครัว และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เราจึงจำเป็นต้องสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ ซึ่งการทำงานไม่ใช่ให้หน่วยบริการทำเพียงฝ่ายเดียว เชื่อว่าการดำเนินตามแผนงานนี้ในหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรค NCDs จะสามารถทำให้หญิงตั้งครรภ์คลอดลูกออกมาได้อย่างปลอดภัย และลูกออกมาเกิดรอดและสมบูรณ์ ขณะเดียวกันก็สามารถดูแลในเรื่องภาวะโรค NCDs ไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหรือเกิดเหตุไม่พึงประสงค์แก่ชีวิตได้

...

ด้านนางวนิดา เศลารักษ์ หัวหน้าพยาบาล พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลมหาชนะชัย จ.ยโสธร หนึ่งในเครือข่ายที่เข้าร่วมการสัมมนาครั้งนี้ ให้ข้อมูลว่า การทำงานด้านอนามัยแม่และเด็กเป็นการทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วน ทั้งสถานีอนามัย ชุมชน และจังหวัด โดยมีตัวชี้วัดสำคัญคือ “ลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย” เป็นเป้าหมายหลัก ซึ่งการทำงานจะเน้นกลยุทธ์ทำให้แม่ปลอดภัย และลูกที่เกิดมาปลอดภัย เด็กมีสุขภาพดี

หัวหน้าพยาบาล โรงพยาบาลมหาชนะชัย ยังบอกด้วยว่า สิ่งสำคัญที่สุด คือ การมีมาตรฐานในการดูแม่ที่มีภาวะเสี่ยงในทุกรูปแบบ เช่น แม่วัยรุ่นที่มีความไม่พร้อมด้านสรีระ ทำให้ส่งผลต่อสุขภาพของเด็กและตัวแม่เอง หรือแม่ที่เป็นโรค NCDs ที่มีภาวะเสี่ยงอาจทำให้เกิดครรภ์เป็นพิษได้ หรือ แม่อาจเสี่ยงมีโรครุนแรงมากยิ่งขึ้นและมีผลต่อเด็กเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของมารดาและทารก จำเป็นต้องมีการป้องกัน ซึ่งในกลุ่มนี้จะมีการแนะนำให้ฝากครรภ์ในคลินิกที่ดูแลโรคเหล่านี้โดยเฉพาะ เพื่อดูแลคัดกรองโดยแพทย์และมีทีมสหสาขาช่วยดูแลเรื่องอาหารและยาต่างๆ ส่วนการดูแลเรื่องนมแม่จะเน้นตั้งแต่อยู่ในห้องคลอด เด็กต้องได้รับการดูดนมแม่ตั้งแต่อยู่บนเตียงคลอดเพื่อกระตุ้นให้น้ำนมแม่มาเร็วยิ่งขึ้น จะทำให้เด็กเกิดความผูกพันสามารถดื่มนมแม่ได้ยาวนานและเพียงพอ ซึ่งจะทำให้ภูมิคุ้มกันของเด็กสูงขึ้น เด็กก็จะมีความแข็งแรงสมบูรณ์ เติบโตได้อย่างสมวัย.

...