• การทดสอบในโรคภูมิแพ้เป็นการทดสอบที่ทำให้เรารู้ถึงสิ่งที่เราแพ้ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เราสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้เหล่านั้นทั้งจากการตั้งใจหรือจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเรา และป้องกันตัวเองให้ห่างจากความเสี่ยงที่เกิดจากการแพ้
  • การทดสอบในโรคภูมิแพ้มีมากมายหลายวิธี แต่การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ได้ผลรวดเร็ว มีความแม่นยำ และอันตรายน้อยมาก ที่สำคัญเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าวิธีอื่นๆ มากเช่นกัน

การวินิจฉัยโรคภูมิแพ้นั้นต้องอาศัยทั้งประวัติการเจ็บป่วยในอดีตและปัจจุบัน ประวัติครอบครัว การตรวจร่างกายมาประกอบกันเพื่อวินิจฉัยได้ตรงโรคที่สุด นอกจากนี้ยังช่วยแยกโรคที่อาจไม่ได้เกิดจากภูมิแพ้ แต่เป็นโรคทางกายอื่นๆ ได้อีกด้วย ในบางครั้ง ประวัติและการตรวจร่างกายไม่ชัดเจน ต้องอาศัยผลการทดสอบทางห้องปฏิบัติการ และการทดสอบพิเศษสำหรับโรคภูมิแพ้โดยตรง เช่น

  1. ตรวจภูมิแพ้ ด้วยวิธีการทดสอบทางผิวหนัง มีหลายวิธี เช่น การสะกิดผิวหนัง การฉีดยาเข้าในชั้นผิวหนัง การแปะสารก่อภูมิแพ้ที่ผิวหนัง
  2. การเจาะเลือดเพื่อหาสารก่อภูมิแพ้ ชนิด Immunoglobulin E (IgE)
  3. บางโรคต้องอาศัยการทดสอบกับสารก่อภูมิแพ้ของผู้ป่วยแต่ละรายโดยตรง เช่น ผู้ป่วยที่เกิดอาการแพ้หลังรับประทานอาหาร การให้รับประทานอาหารที่คิดว่าแพ้ทีละน้อยอย่างเป็นขั้นตอนจะเป็นวิธีมาตรฐาน (gold standard) ในการวินิจฉัย

อย่างไรก็ตาม การทดสอบทางผิวหนังแบบสะกิด (Skin prick Test) เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ได้ผลรวดเร็ว แม่นยำ อันตรายน้อย และที่สำคัญเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าวิธีอื่นๆ มาก

  • การทดสอบทางผิวหนังแบบสะกิด (Skin prick Test) คืออะไร

คือ การหยดน้ำยาที่สกัดจากสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ เช่น ไรฝุ่น เกสรหญ้า เชื้อรา นมวัว ไข่ หรืออาหารทะเล ลงไปบนผิวหนังบริเวณที่ต้องการทดสอบ เพื่อดูว่าแพ้สารใด หากเกิดอาการแพ้จะมีตุ่มนูนแดงและเกิดอาการคันขึ้น

...

ประโยชน์ของการตรวจภูมิแพ้ ด้วยการทดสอบทางผิวหนัง

  • เพื่อวินิจฉัยโรคภูมิแพ้ร่วมกับอาการทางคลินิก
  • เพื่อใช้ศึกษาทางระบาดวิทยาของการเกิดโรคภูมิแพ้ในประชากรกลุ่มต่างๆ
  • เพื่อใช้ในการติดตามผลของการรักษาโดยการฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าใต้ผิวหนัง

การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังแบบสะกิดเหมาะกับใคร?

  • ผู้ที่เป็นภูมิแพ้ หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นภูมิแพ้
  • ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคหืดตั้งแต่เด็ก
  • สามารถทำได้ในทุกเพศทุกวัย แต่ผลการทดสอบจะแม่นยำมากในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป
  • กรณีทดสอบในผู้สูงอายุ อาจพบผลลบลวงได้มาก เพราะความไวของผิวหนังน้อยลง นอกจากนี้อาจมีโรคประจำตัว หรือยาที่รับประทานเป็นประจำ ซึ่งรบกวนการเกิดปฏิกิริยาของผิวหนังต่อสารก่อภูมิแพ้นั้นๆ ดังนั้น อาจต้องใช้การเจาะเลือดร่วมพิจารณาด้วย

ประเภทของการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังแบบสะกิด

การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังแบ่งเป็น 2 ประเภท แตกต่างกันไปตามแหล่งของสารก่อภูมิแพ้ที่ผู้ป่วยได้รับ ได้แก่

  • การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังเพื่อทดสอบสารก่อภูมิแพ้ทางอาหาร ที่เกิดจากอาหารซึ่งอยู่ในอาหารไทย/ต่างชาติที่รับประทานกันเป็นประจำ เช่น นมวัว ไข่ขาว ไข่แดง ถั่วลิสง แป้งสาลี แป้งข้าวโพด แป้งถั่วเหลือง ช็อกโกแลต กีวี เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อไก่ และอาหารทะเลหลากหลายชนิด เป็นต้น
  • การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังเพื่อทดสอบสารก่อภูมิแพ้ทางอากาศ ที่พบบ่อยในประเทศไทย เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ ขนแมว ขนสุนัข ขนเป็ด ขนนก มดคันไฟ ยุง เกสรหญ้า และเชื้อรา 3 สายพันธุ์ เป็นต้น

วิธีการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังแบบสะกิด?

เริ่มโดยการทำความสะอาดผิวหนังที่จะทดสอบ (ท้องแขน/ หลัง) แล้วหยดน้ำยาซึ่งสกัดจากสารก่อภูมิแพ้ชนิดต่างๆ ลงไป จากนั้นใช้ปลายเข็มที่ Sterile สะกิดเบาๆ ที่ชั้นหนังกำพร้า แล้วรอผลเพียง 15-20 นาที หากผู้ป่วยแพ้สารใด ผิวหนังตรงตำแหน่งที่หยดสารทดสอบนั้นๆ จะเกิดปฏิกิริยาเป็นตุ่มนูนแดงขึ้นมา

การเตรียมตัวก่อนการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังแบบสะกิด

การเตรียมตัวที่ดีของผู้ป่วยเป็นขั้นตอนที่สำคัญเพื่อให้ได้มาซึ่งผลการทดสอบที่เที่ยงตรงและแม่นยำ ดังนั้น ก่อนการทดสอบทางผิวหนังแบบสะกิด ควรปรึกษาอายุรแพทย์เฉพาะโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยาคลินิกทุกครั้ง เนื่องจากมีขั้นตอนในการเตรียมตัวและปัจจัยรบกวนผลในการทดสอบหลายอย่างที่อาจทำให้เกิดผลบวกลวง หรือผลลบลวงได้ทั้ง 2 กรณี ทั้งนี้ การเตรียมตัวก่อนการทดสอบควรปฏิบัติดังนี้

  • งดยาทุกชนิดโดยเฉพาะยาแก้แพ้ ยานอนหลับ ยาแก้เมารถเมาเรือ ยาลดความซึมเศร้าบางประเภท ยาแก้หวัดบรรจุเสร็จ วิตามิน อาหารเสริม สมุนไพร ยาหยอดตาแก้แพ้ อย่างน้อย 7 วันก่อนการทดสอบ แต่มีข้อยกเว้นในกรณีที่ต้องใช้ยาบางชนิดเป็นประจำ เช่น ยาเบาหวาน ยาโรคหัวใจ ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง ยาพ่นสเตอรอยด์ทางปาก-จมูกในโรคภูมิแพ้ และโรคหอบหืด อาจพิจารณาใช้ได้ หากไม่แน่ใจควรปรึกษาอายุรแพทย์เฉพาะโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันคลินิก หรือแพทย์ที่จะทำการทดสอบก่อนเสมอ
  • ไม่ควรทาโลชั่นบำรุงผิวบริเวณแขนทั้ง 2 ข้างในวันที่จะทำการทดสอบ เพราะจะทำให้น้ำยาทดสอบไม่เกาะติดที่ผิวหนัง และเสียเวลาในการล้างออกก่อนทำ
  • ควรงดยาทาผิวหนังประเภทสเตียรอยด์ก่อนเช่นกัน เนื่องจากหากทายามาเป็นระยะเวลานาน อาจรบกวนปฏิกิริยาของการทดสอบ ส่งผลถึงความแม่นยำของการทดสอบได้
  • ไม่จำเป็นต้องงดน้ำงดอาหารก่อนมาทดสอบ

...

ใครที่ไม่ควรตรวจภูมิแพ้ ด้วยการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังแบบสะกิด

ไม่แนะนำให้ทำการทดสอบด้วยวิธีนี้ในผู้ป่วยที่เป็นผื่นผิวหนังอักเสบทั่วตัว ในเด็กเล็กมากๆ สตรีมีครรภ์ และผู้ที่มีผิวหนังอ่อนบางจนเกิดปฏิกิริยาได้ง่ายกว่าปกติ

หากไม่เคยมีอาการแพ้ จำเป็นต้องทดสอบหรือไม่?

คำถามนี้เป็นคำถามที่ถูกถามบ่อยมาก เบื้องต้นต้องกล่าวก่อนว่า การป้องกันทางภูมิแพ้มีหลายระดับ ตั้งแต่การป้องกันปฐมภูมิแบบหนึ่ง (Primary Prevention) นับเป็นการป้องกันสารก่อภูมิแพ้เข้ามากระตุ้น หรือ Sensitise ตั้งแต่เด็ก การป้องกันทุติยภูมิ (Secondary Prevention) คือ หากมีสารก่อภูมิแพ้เข้ามากระตุ้นแล้วต้องป้องกัน หรือยืดเวลาที่เกิดอาการ และสุดท้าย การป้องกันแบบตติยภูมิ (Tertiary Prevention) คือ เมื่อเกิดอาการหรือเป็นโรคภูมิแพ้แล้วต้องป้องกันไม่ให้เกิดโรคหรือภาวะแทรกซ้อนขึ้น

การทดสอบทางผิวหนังแบบสะกิด เพื่อดูว่าเกิด sensitization หรือการระคายเคือง จากสารก่อภูมิแพ้หรือยัง ถือเป็นการป้องกันแบบทุติยภูมิ (Secondary Prevention) ในผู้ป่วยที่มีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว เช่น ในมารดา หรือบิดา/มารดาคนใดคนหนึ่ง หรือทั้งคู่ เป็นโรคหืดตั้งแต่เด็ก มีลักษณะของการแพ้ที่เรียกว่า Atopic เช่น มีผื่นคันเรื้อรังตั้งแต่เล็ก มีภูมิแพ้ทางจมูก มีอาการป่วยด้วยโรคหืดตั้งแต่เด็ก ฯลฯ ส่วนการทดสอบในผู้ที่มีอาการบ่อยๆ และสงสัยจะเป็นโรคภูมิแพ้แล้ว ก็ถือเป็นการป้องกันระดับตติยภูมิ (Tertiary Prevention) ซึ่งเป็นการตรวจเพื่อให้รู้ถึงสารก่อภูมิแพ้และลดการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้นั้นๆ ซึ่งจะเป็นการลดอาการ และลดภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นได้ในท้ายที่สุด

...

กล่าวโดยสรุปแล้ว การทดสอบในโรคภูมิแพ้เป็นการทดสอบที่ทำให้เรารู้ถึงสิ่งที่เราแพ้ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เราสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้เหล่านั้นทั้งจากการตั้งใจหรือจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ สามารถป้องกันตัวเองให้ห่างจากความเสี่ยงที่เกิดจากการแพ้ได้ ส่งผลให้อาการแพ้ดีขึ้นกว่าการรับประทานยาเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ หากต้องการเข้ารับการทดสอบว่าตนเองมีอาการแพ้ต่อสิ่งกระตุ้นใดๆ หรือไม่ แนะนำว่าควรเข้ารับการทดสอบในโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน มีแพทย์เฉพาะทางทดสอบ อ่านผล และให้การรักษา เพื่อความปลอดภัยของผู้เข้ารับการทดสอบ และได้ผลการทดสอบที่มีความเที่ยงตรงและแม่นยำมากที่สุด

บทความโดย : นพ.ภก.สุรสฤษดิ์ ขาวละออ อายุรแพทย์ด้านโรคภูมิแพ้ และภูมิคุ้มกันทางคลินิก รพ.สมิติเวช สุขุมวิท