• จากการศึกษาพบว่า ความสำเร็จในการฆ่าตัวตายของผู้สูงวัยที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามีมากกว่าผู้ป่วยในวัยอื่นๆ
  • ภาวะซึมเศร้าในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป พบได้มากถึง 10-20 พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และยิ่งมีอายุมาก ความเสี่ยงยิ่งเพิ่มมากขึ้น

อาการซึมเศร้าในผู้สูงวัยอันตรายกว่าที่คิด

ภาวะอารมณ์เศร้า หรือโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ (Late-life depression) เป็นโรคซึมเศร้าที่เกิดในผู้สูงวัย ช่วงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป แบ่งเป็น 2 แบบ คือ อาการซึมเศร้าที่เป็นมาก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ และที่เกิดในช่วงที่เข้าสู่วัยสูงอายุแล้ว ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงวัยพบมากถึง 10-20% ของประชากร และส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะผู้ที่หย่าร้าง อยู่ตัวคนเดียว หรือสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก จะมีความเสี่ยงกับภาวะนี้มากขึ้น

อาการซึมเศร้าในผู้สูงอายุมักไม่ค่อยตรงไปตรงมา มีตั้งแต่เศร้าเล็กน้อย อารมณ์ไม่แจ่มใส ไปจนถึงรุนแรงมากจนกระทั่งเป็นโรคหรือมีอาการจิตเวชร่วมด้วย ดังนั้น หากคนไข้ไปพบแพทย์ในขั้นที่รุนแรงมาก มีอาการหลอนทางจิต หรือขนาดคิดฆ่าตัวตาย การวินิจฉัยทำได้ไม่ยากนัก แต่กลุ่มคนที่มีอาการซึมเศร้าแต่ไม่แสดงออก อาจมีเพียงจิตใจไม่แจ่มใส ความสามารถในการดำเนินชีวิตลดลง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถสังเกตได้อย่างชัดเจน จะถูกปล่อยปละละเลยจนกลายเป็นอันตรายในที่สุด อาการเตือนของภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ได้แก่

  • สภาวะทางอารมณ์เปลี่ยนไป เช่น เคยเป็นคนอารมณ์ดีก็เปลี่ยนเป็นหงุดหงิดง่าย มีเหตุผลน้อยลง ขี้บ่นมากขึ้น หรือสนใจในสิ่งที่เคยชอบลดลงจากเดิม
  • รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า เบื่อหน่ายในการมีชีวิตอยู่ ไม่อยากร่วมกิจกรรม พูดน้อยลง ไม่ดูแลตัวเอง ไม่ยอมกินยา เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
  • มีปัญหาการนอนที่ผิดปกติ นอนไม่หลับ หลับๆ ตื่นๆ หรือตื่นกลางดึก
  • มีอาการความจำไม่ค่อยดี สมาธิสั้นลง
  • มีความรู้สึกไม่อยากมีชีวิตอยู่ หรืออยากทำร้ายตัวเอง อาจมีประโยคนำ เช่น “ไม่อยากอยู่ ตายๆ ไปได้ก็ดี”
  • เหนื่อย ไม่มีพลังงาน ทำอะไรช้า ปวดเมื่อย อ่อนเพลียโดยไม่มีสาเหตุ

...

สาเหตุของโรคซึมเศร้า

ภาวะซึมเศร้าอาจเกิดจากโรคทางจิตเวช เช่น โรค Major depressive disorder, โรค Bipolar disorder ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมองเป็นหลัก คนไข้กลุ่มนี้ควรปรึกษาหมอจิตเวช เพราะอาจมีอาการจิตเวชอื่นๆ แทรกซ้อน ส่วนภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุที่ไม่ได้เป็นโรคทางจิตเวชโดยตรงนั้น มักจะมีสาเหตุจากปัจจัยกระตุ้นทั้งทางกาย จิต และสังคม

ปัจจัยทางกาย

  • ผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือด ความดัน หรือโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือสมอง โรคไตวายเรื้อรัง จะกระตุ้นให้มีภาวะซึมเศร้าได้มากขึ้น
  • ผู้ป่วยโรครุนแรง เช่น โรคมะเร็ง หรือโรคที่ทำให้ทุพพลภาพหรือพิการ หรือมีอาการปวดเรื้อรังที่ควบคุมได้ไม่ดี
  • ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม หรือโรคพากินสัน มีภาวะเนื้อสมองฝ่อตายก่อนเวลาอันควร ส่งผลกระทบต่อการควบคุมอารมณ์ของคนไข้ อาจมีอาการเชื่องช้ากว่าปกติ ไม่ค่อยมีพลังงาน ไม่อยากสนใจอะไร พูดช้าๆ คิดช้า ความจำแย่ลง ผู้สูงอายุกลุ่มนี้จะมีภาวะทางกายคล้ายโรคซึมเศร้า
  • ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์มากหรือรับประทานยาบางชนิด
  • ผู้ที่มีภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ หรือวิตามิน B12, Folate

ปัจจัยทางจิตสังคม

  • การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก สูญเสียคู่ชีวิต หรือคนในครอบครัว
  • การสูญเสียสถานะในครอบครัว เครือญาติ หรือในสังคม
  • การไม่สามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงในชีวิต
  • มีปัญหาหนี้สิน รายได้น้อย ไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ คนเหล่านี้มักมีภาวะซึมเศร้า

โรคซึมเศร้าในผู้สูงวัยอันตรายขนาดไหน

ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุอาจเป็นเพียงเรื่องปวดหัวเล็กน้อยของคนรอบข้างหรือคนในครอบครัว ไปจนกระทั่งรุนแรงถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ผู้เป็นโรคซึมเศร้ามักไม่สนใจตัวเอง กินน้อยหรือไม่กินเลย เบื่อหน่ายการใช้ชีวิต ไม่นอน ไม่ออกกำลังกาย ไม่ทำกิจกรรม ไม่รับประทานยาตามสั่ง ทำให้ภาวะโภชนาการและความแข็งแรงของร่างกายลดลง โรคประจำตัวอื่นๆ จะควบคุมได้ยากขึ้น หากไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่สภาพอารมณ์ของผู้สูงวัยอาจแย่ลงต่อเนื่องไปนาน จนทำให้เกิดโรคสมองเสื่อมได้ หรืออาจกลายเป็นภาวะซึมเศร้าขั้นรุนแรงจนผู้ป่วยเลือกที่จะจบชีวิตตัวเอง ซึ่งแม้ว่าการฆ่าตัวตายของผู้สูงอายุไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่เมื่อตัดสินใจทำแล้ว มักจะเลือกวิธีการที่รุนแรงและทำสำเร็จเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น หากผู้สูงวัยมีอาการเบื้องต้นที่เข้าข่ายภาวะซึมเศร้า ผู้ใกล้ชิดควรรีบพามาพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาให้ทันท่วงที

วิธีรักษาโรคซึมเศร้า

  • ถ้าสาเหตุมาจากภาวะทางจิตเวชโดยตรง ต้องปรึกษาหมอทางจิตเวชในการดูแลรักษา โดยการใช้ทางยาจิตเวชในการควบคุมเป็นหลัก
  • หากเป็นสาเหตุทางกาย ทางจิตสังคม ต้องแก้ให้ตรงจุด อาจต้องอาศัยการปรับตัวของคนรอบข้าง ให้ความเข้าใจและเอาใส่ใจดูแลผู้ป่วยมากขึ้น ในบางรายที่เป็นรุนแรง เช่น น้ำหนักลดลง นอนไม่หลับ เริ่มมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย แพทย์อาจพิจารณารักษาโดยใช้ยาร่วมด้วย โดยเริ่มใช้ยาต้านเศร้าในระดับอ่อนๆ ก่อน ซึ่งไม่จำเป็นต้องกินยาไปตลอด สามารถลดยาลงจนอาจไม่ต้องใช้ยาเลยก็ได้ ดังนั้น ควรติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง

วิธีปฏิบัติต่อผู้สูงอายุโรคซึมเศร้า

เมื่อรักษาอาการซึมเศร้าหายแล้ว ผู้ป่วยอาจกลับมาเป็นอีกได้ ซึ่งอัตรากลับมาเป็นใหม่ของโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุนั้นมีมากพอสมควร หากญาติหรือผู้ดูแลสามารถควบคุมปัจจัยกระตุ้นได้ คนไข้ก็จะไม่มีอาการกำเริบมากนัก ผู้ใกล้ชิดควรดูแลผู้ป่วย ดังนี้

  • ให้ความเอาใจใส่ ดูแล และเข้าใจความรู้สึกของผู้ป่วย โดยการคุยกันและฟังกันให้มากขึ้น
  • เก็บของมีคม อาวุธ หรือสารพิษในบ้าน ให้ไกลมือผู้ป่วย
  • ไม่ทิ้งผู้ป่วยไว้ตามลำพัง ควรมีคนคอยดูแลอยู่เสมอ
  • ไม่ควรปรับลดหรือเพิ่มยาเอง
  • มาพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ

บทความโดย : พญ.ทิปภา ชุติกาญจน์โกศล อายุรแพทย์ด้านอายุรศาสตร์ผู้สูงวัย รพ.สมิติเวช ศรีนครินทร์

...