ช่วงนี้เป็นช่วงที่กำลังเข้าสู่ฤดูฝนส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น ซึ่งโรคติดเชื้อที่ควรระวังมีด้วยกัน 6 โรค โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1. โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ได้แก่
โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่ระบบทางเดินหายใจ โดยทั่วไปมักติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน แต่อาจเกิดการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนล่างและส่งผลให้เกิดปอดอักเสบได้ โดยเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ก่อโรคในคนได้บ่อยมี 2 สายพันธุ์หลัก คือ เอและบี
อาการของโรคไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ ไข้ เจ็บคอ ไอ น้ำมูก ปวดเมื่อยตามตัว ซึ่งอาการมักไม่รุนแรงในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันปกติ แต่หากเป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหืด โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง โรคเลือดธาลัสซีเมีย ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน อาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนล่างทำให้เกิดปอดอักเสบและนำไปสู่ภาวะหายใจล้มเหลวได้ โดยแพทย์สามารถวินิจฉัยได้จากการป้ายโพรงจมูกหรือคอไปตรวจหาเชื้อ และโรคไข้หวัดใหญ่สามารถรักษาได้ด้วยยาต้านไวรัสโดยการกินประมาณ 5 วัน
...
ดังนั้นบุคคลเสี่ยงที่กล่าวมาข้างต้น ควรป้องกันไข้หวัดใหญ่ด้วยการรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ปีละครั้ง รวมถึงผู้ที่อยู่ร่วมกับกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวและประชาชนทั่วไปก็สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันได้ด้วยเช่นกัน
โรคปอดติดเชื้อนิวโมคอคคัส เป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจเช่นเดียวกันแต่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ นิวโมคอคคัส โดยสามารถพบได้ตลอดทั้งปีแต่อาจพบบ่อยขึ้นในช่วงฤดูฝนเนื่องจากมักพบติดเชื้อซ้ำเติมตามหลังติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ หากได้รับเชื้อนิวโมคอคคัสจะทำให้ปอดอักเสบ และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนเช่น การติดเชื้อในกระแสเลือดซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้จากการนำเสมหะไปย้อมสีและเพาะเชื้อ และรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ
การป้องกันโรคปอดติดเชื้อนิวโมคอคคัส ทำได้โดยการฉีดวัคซีนซึ่งมีด้วยกัน 2 ชนิด ฉีดห่างกันอย่างน้อย 8 สัปดาห์ถึง 1 ปี โดยแนะนำให้ฉีดในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อติดเชื้อสูง ได้แก่ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปี หรืออายุน้อยกว่า 65 ปีแต่มีโรคประจำตัว ได้แก่ หัวใจเรื้อรัง ปอดเรื้อรัง ตับเรื้อรัง ไตเรื้อรัง เบาหวาน สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ไม่มีม้ามหรือม้ามทํางานบกพร่อง ผู้ป่วยเอดส์ โรคมะเร็ง ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะหรือไขกระดูก รวมถึงโรคแพ้ภูมิตัวเองที่กินยากดภูมิคุ้มกัน
2. โรคที่เชื้อที่มากับน้ำ ได้แก่
โรคฉี่หนู หรือ โรคเลปโตสไปโรซิส เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียชื่อ เลปโตสไปรา โดยพบเชื้อในปัสสาวะของหนูซึ่งปนเปื้อนในน้ำท่วมขัง หากลุยน้ำหรือแช่น้ำนานประกอบกับผิวหนังที่มีบาดแผลอาจทำให้รับเชื้อแบคทีเรียและติดโรคได้ โดยมีอาการไข้ หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัวตามน่อง ปวดหัว ตาแดง และหากมีอาการรุนแรงอาจพบอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ไตวายร่วมด้วย
แพทย์สามารถวินิจฉัยได้โดยการซักประวัติ ตรวจร่างกายและให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะนาน 7 วัน โดยในบางครั้งอาจตรวจหาแอนติบอดีต่อเชื้อในเลือดร่วมด้วย
การป้องกันโรคฉี่หนูสามารถทำได้โดยการหลีกเลี่ยงการลุยน้ำ หรือแช่น้ำท่วมขังเวลานาน หรือถ้าเลี่ยงไม่ได้ ควรใส่รองเท้าบูทสูง หรือถ้าลุยน้ำแล้ว ควรรีบล้างเท้าด้วยน้ำสะอาดทันที กำจัดหนูซึ่งเป็นแหล่งรังโรค โดยในขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันโรคนี้โดยเฉพาะ
สัปดาห์หน้ายังมีเรื่องราวน่ารู้ของโรคติดเชื้อในฤดูฝนอีก 3 โรค รอติดตามกันนะครับ
แหล่งข้อมูล
รศ.นพ.จักรพงษ์ บรูมินเหนทร์ สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล