“โรคไข้ดิน” หรือ “โรคเมลิออยโดสิส” เป็นโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ชื่อว่า “เบอร์โคเดอเรีย สูโดมัลลิอาย (Burkholderia pseudomallei)” โดยพบเชื้อในดินและน้ำทั่วไปในประเทศไทย แต่พบบ่อยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง ได้แก่ ทางผิวหนัง ทางการหายใจ และทางการกิน

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง

1. การสัมผัสเชื้อผ่านทางผิวหนัง การหายใจเอาเชื้อจากดินเข้าไปในช่วงหน้าฝน โดยเฉพาะช่วงหลังฝนตก หรือการกินอาการที่มีเชื้อปนเปื้อน

2. โรคประจำตัว ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี ผู้ที่ดื่มเหล้า รวมถึงผู้ที่มีโรคเรื้อรัง เช่น ผู้ป่วยล้างไต ผู้ป่วยที่มีภาวะปอดเรื้อรัง หรือผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยเอดส์ ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิหลังปลูกถ่ายอวัยวะ หรือเพื่อรักษาโรคแพ้ภูมิตัวเอง ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด เป็นต้น

อุบัติการณ์ของโรค

...

อุบัติการณ์ของโรคไข้ดินพบได้บ่อยในช่วงฤดูฝน โดยจะพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะในผู้ที่สัมผัสน้ำกับดิน ซึ่งส่วนใหญ่ คือ เกษตรกรและชาวนา

อาการ

อาการของโรคไข้ดิน แบ่งเป็นหลายกลุ่ม ดังนี้

1. การติดเชื้อที่ปอดชนิดเฉียบพลัน ซึ่งมีอาการคล้ายปอดติดเชื้อชนิดอื่นทั่วไป ได้แก่ ไข้ไอ มีเสมหะ หายใจลำบาก

2. การติดเชื้อที่ปอดชนิดเรื้อรัง ซึ่งคล้ายกับวัณโรค ทำให้มีไข้ ไอต่อเนื่องหลายสัปดาห์

3. การติดเชื้อที่ผิวหนัง เป็นตุ่ม เป็นหนอง ฝี

4. การติดเชื้อในกระแสเลือด มีความรุนแรง ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความดันตก และเสียชีวิตได้

5. การติดเชื้ออวัยวะภายในร่างกาย เป็นฝีหนองที่ม้าม ตับ ต่อมลูกหมาก เป็นต้น

การวินิจฉัย

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้โดยการเพาะเชื้อจากเลือด หรือสิ่งส่งตรวจ เช่น เสมหะ หนองจากฝี และปัจจุบันมีการตรวจระดับโมเลกุล ซึ่งทำให้การวินิจฉัยรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

อันตรายและภาวะแทรกซ้อน

โรคไข้ดิน มีความรุนแรงที่หลากหลาย โดยหากมีการติดเชื้อในกระแสเลือด จะส่งผลให้ความดันตก และเสียชีวิตได้ ส่วนการติดเชื้อในรูปแบบอื่น โดยทั่วไปไม่ได้อันตรายถึงแก่ชีวิต แต่อาจจะต้องใช้เวลาในการรักษานาน ซึ่งอาจจะนำไปสู่เรื่องของทุพพลภาพของผู้ป่วยได้

การรักษา

แพทย์จะรักษาโดยการให้ยาปฏิชีวนะ (ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย) โดยทั่วไปจะให้เป็นลักษณะของยาฉีด เป็นระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นก็จะเปลี่ยนเป็นยากินอีกอย่างน้อย 3 เดือน ซึ่งระยะเวลาในการให้ยาอาจยาวนานออกไป ขึ้นกับความรุนแรงของเชื้อที่ได้รับและการกำจัดเชื้อ เช่น สามารถระบายหนองออกได้หมดหรือไม่

การป้องกัน

1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำ หรือดิน ในขณะที่มีแผลที่ผิวหนัง

2. หากจำเป็นต้องสัมผัส ควรใส่ถุงมือ หรือบูทสูง หรือล้างด้วยน้ำเปล่าทันทีหลังสัมผัส

3. ควรดูแลร่างกายให้แข็งแรง โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวาน ควรควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ผู้ป่วยล้างไต ผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง หรือผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ควรตรวจติดตามกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

“โรคไข้ดิน” เป็นโรคที่สามารถพบได้ในประเทศไทยหลังสัมผัสเชื้อโดยเฉพาะจากดินและน้ำ มีอาการและความรุนแรงที่หลากหลาย ดังนั้น หากผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงและมีไข้ที่ไม่ทราบสาเหตุ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาโอกาสในการเป็นโรคไข้ดิน เพื่อรับการรักษาต่อไป

แหล่งข้อมูล

รศ. นพ.จักรพงษ์ บรูมินเหนทร์ สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล