อาการปวดเกร็งบริเวณท้องน้อยหรือใต้สะดือ หรือปวดท้องอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ในช่วง 3 เดือน ท้องผูกหรือท้องเสีย ท้องอืด แน่นท้อง มีลมในท้อง และเมื่อขับถ่าย อาการเหล่านี้ก็จะทุเลาลงหรือหายไป ถ้าท่านมีอาการลักษณะนี้ ให้นึกถึงโรคไอบีเอส (IBS) หรือลำไส้แปรปรวนไว้ก่อน

โรคลำไส้แปรปรวน (irritable bowel syndrome; IBS) เป็นโรคทางระบบทางเดินอาหารที่พบได้มากถึง 10-20% ของประชากรทั่วโลก เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติในการทำงานของลำไส้ส่วนปลาย ได้แก่ ปลายลำไส้ใหญ่และลำไส้เล็ก ที่มีการบีบตัวมากเกินไป ทำให้เกิดอาการปวดท้อง แน่นท้อง ไม่สบายท้อง มีปัญหาเกี่ยวกับระบบขับถ่าย ท้องผูกหรือท้องเสีย

ผู้ที่มีอาการโรคนี้เพียง 15% เท่านั้นที่มาปรึกษาแพทย์และเข้ารับการตรวจ ทำให้ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม โดยโรคนี้มักพบตั้งแต่อายุน้อย และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

แม้จะยังไม่สามารถระบุถึงสาเหตุของการเกิดภาวะลำไส้แปรปรวนได้อย่างแน่ชัด แต่พบว่ามีหลายปัจจัยร่วมกันที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดภาวะลำไส้แปรปรวน โดยหนึ่งในนั้น คือความเครียด วิตกกังวล และปัญหาซึมเศร้า ส่วนปัจจัยอื่นๆ เป็นปัจจัยทางด้านกายภาพ เช่น การบีบตัวของลำไส้ผิดปกติ ทำให้ลำไส้เกร็งตัว (spastic colon) เกิดการบีบตัวอย่างรุนแรงจึงทำให้เกิดการปวดเกร็งลำไส้

...

การรับรู้ของระบบทางเดินอาหารที่ไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าปกติ ปัญหาในการย่อยอาหาร การติดเชื้อในทางเดินอาหาร การใช้ยาบางชนิด และกรรมพันธุ์ ในส่วนของกรรมพันธุ์มีงานวิจัยพบว่า หากในครอบครัวมีสมาชิกเป็นโรคลำไส้แปรปรวน จะมีแนวโน้มในการเกิดโรคนี้ได้สูงกว่าปกติประมาณ 2-3 เท่า

แม้โรคลำไส้แปรปรวนจะไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต แต่ก็เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องจากเป็นโรคเรื้อรังและมีแนวโน้มที่จะกลับมาเป็นอีก หากยังคงไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์

ทำอย่างไรถึงจะไม่เป็นลำไส้แปรปรวน อย่างแรกเลย คือ ไม่เครียด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หัดเป็นคนอารมณ์ดี ไม่หงุดหงิดง่าย ลดความวิตกกังวลบางเรื่องลง จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคนี้ได้มากกว่า 30 % ที่เหลือก็เป็นเรื่องของอาหารการกิน พฤติกรรม เช่น ลดการกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์หรือไข่ ซึ่งเป็นโปรตีนย่อยยาก เน้นการกินอาหารประเภทที่ย่อยง่าย เช่น เต้าหู้ ถั่วเหลือง และเนื้อปลา

หลีกเลี่ยงการกินของมัน ของทอด เบเกอรีที่อุดมไปด้วยนม เนย เปลี่ยนมากินอาหาร ประเภทผักผลไม้ที่อุดมไปด้วยเส้นใย กินอาหารให้ตรงเวลา ไม่ควรอดอาหาร ไม่ควรเร่งรีบกินอาหาร หลีกเลี่ยงการกินอาหารรสจัด ซึ่งจะทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว หลีกเลี่ยงเครื่องดื่ม ชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ รวมทั้งออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

โรคนี้เป็นโรคเรื้อรัง โดยอาการจะเกิดอยู่เรื่อยๆ ทำให้เกิดความหงุดหงิด รำคาญ ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันและ การทำงาน ที่สำคัญบางครั้งโรคลำไส้แปรปรวน อาจมีอาการคล้ายกับโรคร้ายแรงบางอย่าง เช่น มะเร็งลำไส้ ดังนั้นเมื่อมีอาการอย่างที่บอก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ ส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ เช่น การให้ยา ซึ่งอาจต้องใช้ยาหลายกลุ่มร่วมกัน เนื่องจากมีหลายกลุ่มอาการ และการตอบสนองต่อยาของแต่ละคนก็แตกต่างกัน ทำให้บางครั้งต้องใช้วิธีปรับยาจากอาการและความจำเพาะของผู้ป่วยแต่ละคน นอกจากนี้ อาจเป็นการปรับวิธีการกินอาหาร โดยหันมากินอาหารในกลุ่ม low FODMAP diet หรือกลุ่มอาหารที่ไม่ส่งเสริมการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในลำไส้ ซึ่งจะช่วยลดอาการของลำไส้แปรปรวนได้ แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีกากใยหรือไฟเบอร์ (fiber) มากขึ้น จะช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคลำไส้แปรปรวนลงได้มาก.