การทำ IF เป็นเทรนด์เพื่อสุขภาพและลดน้ำหนักที่หลายคนคุ้นเคยกันดี แต่จริงๆ แล้วยังมีคนอีกจำนวนมากที่กำลังทำ IF ผิดวิธี ทำให้ไม่สามารถลดน้ำหนักได้จริง แถมยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพ บทความนี้ ไทยรัฐออนไลน์มีสาระดีๆ เกี่ยวกับการทำ IF ที่ถูกต้องมาฝากกัน

ทำความรู้จัก "IF" คืออะไร?

IF ย่อมาจากคำว่า Intermittent Fasting คือ วิธีการควบคุมการทานอาหาร ที่ใช้หลักการของการนับชั่วโมงในการอดอาหารและรับประทานอาหาร ง่ายๆ ก็คือ IF จะจำกัดเวลาในการกินภายในแต่ละวัน แต่ทั้งนี้ ก่อนที่จะควบคุมอาหารแบบ IF ก็ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หรือหาข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ก่อน เนื่องจากร่างกายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ในบางรายอาจมีโรคประจำตัวหรือภาวะต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้

วิธีการรับประทานอาหารแบบ IF ต้องทำยังไง?

การลดน้ำหนักแบบ IF หรือที่เรียกว่า "ทำ IF" มีหลายแบบด้วยกัน สำหรับผู้เริ่มต้นแนะนำให้เริ่มงดจากมื้อเช้า เพราะหากเริ่มจากอดมื้อเย็นเลย เมื่อตื่นเช้ามาอาจรู้สึกหิวมากและไม่มีพลังงานในการทำงานหรือทำกิจวัตรต่างๆ หรือจะเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการ "อดอาหาร 12 ชั่วโมง" ใช้หลักง่ายๆ ด้วยการนับชั่วโมงต่อไปอีก 12 ชั่วโมง หลังจากกินอาหารมื้อสุดท้าย หรืออาจจะใช้หลักการวิธีดังต่อไปนี้ก็ได้

...

  • สูตร IF 16/8 (Lean Gains) : ภายใน 1 วัน อดอาหารในช่วง 16 ชั่วโมง และกินอาหารในช่วง 8 ชั่วโมง
  • สูตร IF 5/2 : (อดอาหารสลับกับกินอาหาร) ใน 1 สัปดาห์ กินอาหารปกติ 5 วัน และกินแบบ IF อีก 2 วัน
  • สูตร Fast 5 : ภายใน 1 วัน กินอาหารในช่วง 5 ชั่วโมง และอดอาหารไปอีก 19 ชั่วโมง

ไขข้อสงสัย IF (Intermittent Fasting) ลดน้ำหนักได้จริงไหม?

แน่นอนว่าการกินอาหารแบบ IF จะทำให้เรากินอาหารได้น้อยลงกว่าเดิม แถมยังควบคุมเวลาในการกินอีกด้วย แต่ทำไมในหลายคนพบว่าแม้จะทำ IF แต่ก็รู้สึกว่าน้ำหนักไม่ลดลงสักที หรือรู้สึกว่าไม่ได้ผอมลงอย่างที่คิด ทั้งนี้ ต้องบอกว่ายังมีปัจจัยอื่นๆ ที่หลายคนหลงลืมไป นั่นก็คือ "การควบคุมแคลอรีอาหาร" เพราะบางคนอาจจะกำหนดเวลาในการกินก็จริง แต่ในช่วงที่สามารถกินอาหารได้ ก็จะเน้นกินในปริมาณเผื่อ ราวกับเผื่อไว้มื้อหน้า หรือเผื่อไว้ในช่วงที่จะต้องอดอาหาร จึงแนะนำให้กินในปริมาณที่พอดี เลือกกินอาหารที่หลากหลาย และคำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการด้วย

ตัวอย่างอาหาร IF กินอะไรได้บ้าง?

การกิน IF (Intermittent Fasting) เน้นแค่จำกัดเวลาในการกินอาหารเท่านั้น จึงสามารถกินอาหารได้ทุกประเภทเช่นเดิม แต่ก็ควรคำนึงถึงพลังงานและสารอาหารที่ได้รับ เลือกหลากหลายเมนู ไม่กินเมนูเดิมซ้ำๆ ยกตัวอย่างอาหารเพื่อสุขภาพดังนี้ 

  • สลัดทูน่า
  • ต้มเลือดหมู
  • ต้มเล้งแซ่บ
  • ต้มจับฉ่าย
  • แกงส้มผักรวม
  • สุกี้น้ำ
  • ต้มยำปลากระป๋อง
  • ลาบปลา
  • แกงเห็ด

ข้อควรระวัง IF ไม่เหมาะกับใครบ้าง?

การกินแบบ IF แม้จะเป็นวิธีควบคุมอาหารและลดน้ำหนัก แต่ก็ไม่ได้หมายความจะเหมาะกับทุกคน เนื่องจากมีกลุ่มต่างๆ ที่ควรหลีกเลี่ยงการกินแบบ IF หรือควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนเสมอ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่มีพฤติกรรมการกินผิดปกติ ในกลุ่มนี้มักจะเกิดอาการเครียดเมื่อต้องอดอาหาร, ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องกินยาประจำตัว (ควรปรึกษาแพทย์ก่อน), เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี และหญิงตั้งครรภ์ เพราะอาจได้รับสารอาหารไม่เพียงพอนั่นเอง