“ภาวะสมองเสื่อม” คือ ภาวะที่มีการทำงานของสมองน้อยลง ส่งผลต่อความจำของคนไข้ ทำให้ความจำลดลง ความคิด การพูด พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของคนไข้ และสุดท้ายคนไข้ก็อาจจะทำอะไรไม่ได้ เป็นภาวะผิดปกติที่ต้องพึ่งพาผู้อื่น วันนี้ คอลัมน์ ศุกร์สุขภาพ จะมีเรื่องการตรวจวินิจฉัยโรคในภาวะสมองเสื่อม โดยการทำเอ็มอาร์ไอ ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมาฝากกัน

บทบาทของเอ็มอาร์ไอในการวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อม

นอกจากการตรวจที่กล่าวมาแล้ว ปัจจุบันจะมีการส่งตรวจภาพรังสีวิทยาของระบบประสาท โดยการตรวจเอ็มอาร์ไอสมองซึ่งเป็นการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งสามารถมองเห็นรายละเอียดต่างๆ ของสมอง ได้มากกว่าการตรวจด้วยเครื่องมือชนิดอื่น เอ็มอาร์ไอจึงมีบทบาทในการวินิจฉัยโรคในภาวะสมองเสื่อม ดังนี้

1. สามารถมองเห็นเนื้อสมองได้อย่างชัดเจน จึงสามารถประเมินการฝ่อของสมองได้ชัดเจนขึ้น

2. ทำให้ตรวจพบความผิดปกติได้อย่างชัดเจนกว่าการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์

3. ช่วยในการสนับสนุนโรคที่แพทย์ผู้ตรวจประเมินแล้วว่าคนไข้คนนี้น่าจะเป็นโรคในกลุ่มภาวะสมองเสื่อม อาทิ โรคอัลไซเมอร์ ผลจากการตรวจเอ็มอาร์ไอก็จะช่วยสนับสนุนการวินิจฉัยโรคได้มากขึ้น รังสีแพทย์จะต้องประเมินว่าภาพเอ็มอาร์ไอที่ตรวจพบเข้าได้กับโรคที่ได้รับการวินิจฉัยทางคลินิกหรือไม่ เช่น ถ้าแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง ภาพเอ็มอาร์ไอที่ได้มีความเข้ากันได้กับการวินิจฉัยทางคลินิกหรือไม่

...

การวินิจฉัยภาพรังสีสามารถช่วยวินิจฉัยโรคที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมและสามารถรักษาให้หายได้ เช่น การตรวจพบเนื้องอกที่ไปกดเนื้อสมองในส่วนของความจำ หรือภาวะเลือดออกในสมองที่ทำให้มีความจำผิดปกติได้ โดยจากการตรวจเอ็มอาร์ไอ จะแสดงให้เห็นว่าคนไข้มีก้อนในสมอง หรือมีเลือดออกในสมอง หรือมีภาวะโพรงสมองคั่งน้ำหรือไม่ และเมื่อทำการรักษาโดยการผ่าตัดเอาเนื้องอกออก หรือเอาเลือดในสมองออก คนไข้ก็จะสามารถหายจากภาวะสมองเสื่อมและกลับมาเป็นปกติได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการตรวจด้วยเอ็มอาร์ไอ เนื่องจากการตรวจร่างกายตามปกติไม่สามารถให้การวินิจฉัยสาเหตุได้อย่างชัดเจน

ในคนไข้ที่ไม่มีโรคที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมและสามารถรักษาให้หายได้ รังสีแพทย์ก็จะต้องพิจารณาว่ามีความผิดปกติที่เกิดจากโรคความเสื่อมของระบบประสาทหรือไม่ โดยเฉพาะกลุ่มของอัลไซเมอร์ โดยต้องดูในส่วนของฮิปโปแคมปัส ในส่วนของสมองส่วนกลีบขมับด้านในว่ามีการฝ่ออย่างผิดปกติหรือไม่

ในส่วนของโรคหลอดเลือดสมอง ก็ต้องดูว่ามีเนื้อสมองส่วนที่ตายหรือขาดเลือดหรือไม่ และกินบริเวณที่มากจนทำให้คนไข้มีภาวะสมองเสื่อมหรือไม่

โดยทั่วไป ถ้ามีภาวะสมองเสื่อมในช่วงแรก ภาพเอ็มอาร์ไออาจจะยังไม่เห็นความผิดปกติที่ชัดเจน จึงต้องอาศัยการวินิจฉัยทางคลินิกร่วมด้วยเสมอ แต่อย่างน้อยการทำเอ็มอาร์ไอต่อเนื่องติดต่อกัน 1 ปี 2 ปี 3 ปี ก็อาจจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของภาวะสมองฝ่อได้อย่างชัดเจนมากขึ้น และหากพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ในระยะแรก ก็จะรักษาได้อย่างทันท่วงที

ปัจจุบัน เครื่องเอ็มอาร์ไอมีการพัฒนาซอฟต์แวร์มากขึ้น สามารถดูได้ว่าความฝ่อของสมองที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงมากน้อยอย่างไร มีการเพิ่มขึ้นหรือไม่ อย่างไร ในการตรวจติดตามในแต่ละครั้ง จึงมีการส่งคนไข้มาตรวจเอ็มอาร์ไอกันมากขึ้น โดยเฉพาะคนไข้สูงอายุที่สงสัยว่ามีภาวะสมองเสื่อม เพราะจะเป็นการช่วยสนับสนุนภาวะผิดปกติหรือโรคบางโรคที่เป็นสาเหตุ หากวินิจฉัยสาเหตุได้เร็ว อาทิ โรคอัลไซเมอร์ ที่แม้ว่าปัจจุบันไม่ได้มียารักษาเฉพาะเจาะจงที่สาเหตุของโรค แต่หากสามารถให้ยาได้เร็ว หรือรักษาได้เร็ว ก็จะช่วยประคับประคองไม่ให้อาการคนไข้เสื่อมลงไปอย่างรวดเร็ว หรือในภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมองก็เช่นกัน หากตรวจพบเร็วก็จะช่วยให้มีการรักษาและป้องกันไม่ให้มีความผิดปกติที่เพิ่มมากขึ้น จากการควบคุมหรือรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ นอกจากนี้ การตรวจเอ็มอาร์ไอก็เป็นการตรวจทางรังสีที่มีความปลอดภัย เนื่องจากไม่ต้องเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากรังสี หรือสารทึบรังสี ยกเว้นกรณีที่ตรวจพบก้อนเนื้อ อาจจำเป็นต้องฉีดสี เพื่อให้เห็นความผิดปกติของก้อนเนื้อชัดเจนขึ้น

การเตรียมตัวเข้ารับการตรวจเอ็มอาร์ไอ

การตรวจเอ็มอาร์ไอสมองสามารถทำได้ในคนไข้ทุกราย ยกเว้นในคนไข้ที่มีการใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจบางยี่ห้อ อาจทำให้เข้ารับการตรวจไม่ได้ คนไข้ที่กลัวที่แคบ คนไข้ที่อยู่นิ่งๆ เป็นเวลานานๆ ไม่ได้ ก็อาจจะต้องได้รับยาสลบระหว่างที่ทำการตรวจ

การรักษา แบ่งเป็นการรักษาโดยใช้ยา และการรักษาโดยไม่ใช้ยา

1. การรักษาโดยใช้ยา ซึ่งการใช้ยาในที่นี้ไม่ได้ให้ผลการรักษาที่หายขาด แต่ให้ผลในการยับยั้งสารบางอย่างที่หลั่งมาจากปลายประสาท ช่วยชะลอไม่ให้มีอาการมากขึ้น แต่ไม่ได้รักษาที่พยาธิสภาพ

การให้ยารักษาตามอาการ รักษาแบบประคับประคอง เช่น ถ้าซึมเศร้าก็ให้ยาต้านอาการซึมเศร้า นอนไม่หลับก็ให้ยานอนหลับ เป็นต้น

ปัจจุบัน ไม่มียาที่รักษาโรคความเสื่อมทางระบบประสาทให้หายขาดได้ หากเป็นภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง ก็จะแนะนำให้คนไข้รักษาความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ควบคุมระดับไขมันและระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เป็นต้น

...

2. การรักษาโดยไม่ใช้ยา คือ การรักษาโดยใช้จิตบำบัด โดยนักจิตบำบัด ซึ่งต้องร่วมกันทำทั้งตัวผู้ป่วยเองและญาติ เพื่อจะฝึกสมองในการใช้งานและรับรู้สิ่งใหม่ๆ และเน้นในการดูแลผู้ป่วยให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างดีขึ้นและปลอดภัย

การป้องกัน

การป้องกันโรคในภาวะสมองเสื่อมสามารถป้องกันได้ในกลุ่มโรคที่เกิดจากสาเหตุที่แก้ไขได้ โดยเฉพาะภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง โดยการดูแลตนเองไม่ให้เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และไขมันในเลือดสูง ดังนี้

1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ โดยเน้นการรับประทานโปรตีนที่ดี ไขมันดี ลดโซเดียม น้ำตาล และหลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปทุกชนิด

2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ วันละ 30 นาที หรือโดยรวม 150 นาทีต่อสัปดาห์ จะเพิ่มการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงสมองได้ดี

3. ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส ไม่เครียด

4. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง จะทำให้ซ่อมแซมสมองส่วนที่สึกหรอและเพิ่มการไหลเวียนเลือดในสมองให้ดีขึ้น

5. หลีกเลี่ยงการดื่มเหล้าและสูบบุหรี่

นอกจากคำแนะนำที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว หากพบว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดเริ่มมีความผิดปกติในเรื่องของความจำ การพูด ความคิด และพฤติกรรม ก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุอย่างละเอียด เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพ และช่วยชะลออาการของโรคในภาวะสมองเสื่อมไม่ให้แย่ลงอย่างรวดเร็ว

@@@@@@

แหล่งข้อมูล

รศ. นพ.ธีรพล ปัญญาปิง ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล