ไวรัสมาร์บวร์ก เป็นที่จับตาอีกครั้ง หลังพบว่าล่าสุดมีการระบาดที่ประเทศอิเควทอเรียลกินี ในทวีปแอฟริกาตะวันตก ความร้ายแรงพอๆ กับไวรัสอีโบลา และยังไม่มีวัคซีนป้องกัน
ไวรัสมาร์บวร์ก คืออะไร
โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก เป็นโรคที่มีความรุนแรงสูง ไทยกำหนดให้เป็น 1 ใน 13 โรคติดต่ออันตรายตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มีอัตราการป่วยเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 88 เป็นไวรัสในสกุลเดียวกับไวรัสอีโบลา คือ Filoviridae ซึ่งขณะนี้พบการการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก (Marburg virus disease) ในประเทศอิเควทอเรียลกินี ทวีปแอฟริกาตะวันตก ส่งผลให้มีผู้ป่วยเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 9 คน โดยผู้เสียชีวิตทั้งหมดมีอาการติดเชื้อรุนแรง เป็นไข้ และอาเจียนเป็นเลือด ทั้งยังมีผู้ป่วยสงสัยอีก 16 คน ส่วนใหญ่มีอาการไข้ อ่อนเพลีย อาเจียนเป็นเลือด และท้องเสีย องค์การอนามัยโลกได้ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญไปสอบสวนโรคในเขตพื้นที่และบริหารสถานการณ์ตอบโต้ภาวะฉุกเฉินเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้าง
เชื้อไวรัสมาร์บวร์ก พบครั้งแรกที่เมืองมาร์บวร์ก ประเทศเยอรมนี ในปี 2510 จากนั้นได้เกิดการระบาดในเมืองแฟรงก์เฟิร์ตของเยอรมนี ตามด้วยกรุงเบลเกรด ประเทศเซอร์เบีย อย่างต่อเนื่องภายในปีเดียว ทำให้มีผู้ติดเชื้อ 31 ราย และเสียชีวิต 7 ศพ
การระบาดของไวรัสมาร์บวร์กเกิดจากลิงเขียวแอฟริกา (African green monkeys) ที่นำเข้าจากประเทศยูกันดา และจากนั้นเชื้อไวรัสมรณะได้เริ่มติดต่อผ่านสัตว์ชนิดอื่นๆ นับแต่นั้นเป็นต้นมา
ไวรัสมาร์บวร์ก อาการเป็นอย่างไร
ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐฯ (CDC) เผยว่า อาการป่วยจากการติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก เริ่มจากหลังเชื้อฟักตัวอยู่ในร่างกายเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 2-21 วัน โดยมีอาการดังต่อไปนี้
...
- มีไข้สูง
- หนาวสั่น
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- ปวดศีรษะรุนแรง
- มีผื่นนูนแดงบริเวณหน้าอก หลัง และท้อง
- คลื่นไส้ อาเจียน
- เจ็บหน้าอก
- เจ็บคอ
- ปวดท้อง
- ท้องเสียรุนแรง
หลังจากมีอาการเหล่านี้ภายใน 7 วัน อาจพัฒนาไปสู่ระยะเลือดออกและเป็นเหตุให้เสียชีวิต ซึ่งโดยปกติแล้วเกิดจากเลือดออก และมักเกิดเลือดออกจากหลายตำแหน่งในร่างกาย ผู้ป่วยโรคไวรัสมาร์บวร์กมักจะเสียชีวิตในช่วงระหว่าง 8-9 วัน หลังเริ่มมีอาการ โดยทั่วไปแล้ว สาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตเนื่องจากเสียเลือดมากและเกิดภาวะช็อก
ไวรัสมาร์บวร์ก ติดต่ออย่างไร
ไวรัสมาร์บวร์ก สามารถติดต่อได้ทางเลือดและอุจจาระ เช่นเดียวกับไวรัสอีโบลา พบไวรัสในค้างคาวและแพร่เชื้อมาสู่คน นอกจากนี้ยังติดต่อได้ผ่านการสัมผัสโดยตรงกับเลือดและสารคัดหลั่งจากร่างกายผู้ติดเชื้อ หรือสัมผัสเชื้อไวรัสที่ปนเปื้อนบนพื้นผิววัสดุต่างๆ
ไวรัสมาร์บวร์ก ป้องกันได้หรือไม่
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน หรือการรักษาเฉพาะสำหรับโรคไวรัสมาร์บวร์ก โดยการรักษาผู้ป่วยโรคนี้เป็นการรักษาแบบประคับประคอง และเป็นการรักษาตามอาการป่วย ส่วนการป้องกันไวรัสมาร์บวร์กคือแยกผู้ป่วยสงสัยจากผู้ป่วยอื่นๆ และเฝ้าระวังผู้สัมผัสใกล้ชิด
แม้ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่พบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก แต่ปัจจุบันมีการเดินทางจากประเทศต่างๆ มายังประเทศไทยเพิ่มขึ้น กรมควบคุมโรคจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดจากองค์การอนามัยโลกและหน่วยงานอื่นๆ เพื่อวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้ยังไม่มีการประกาศห้ามการเดินทาง แต่เน้นมาตรการคัดกรองผู้เดินทางจากประเทศอิเควทอเรียลกินี และประเทศใกล้เคียง
มีการเพิ่มระดับการเตรียมความพร้อมระบบการเฝ้าระวังและคัดกรองที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศทุกแห่ง ตลอดจนแจ้งสถานบริการสาธารณสุขทั่วประเทศหากพบผู้ป่วยสงสัยให้เก็บตัวอย่างส่งตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการและรายงานผู้ป่วยที่สงสัยภายใน 3 ชั่วโมง และหากประชาชนพบผู้ที่สงสัยโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก ให้แจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค หมายเลข 1422.