“มะเร็งลำไส้” คือหนึ่งในโรคร้ายที่พบว่ามีจำนวนคนไทยป่วยเพิ่มขึ้น 2.4 เท่าในรอบ 10 ปี โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และภาคกลาง มีอัตราการเสียชีวิตสูงที่สุด นอกจากนี้ยังเป็นโรคร้ายที่ เปเล นักฟุตบอลในตำนานป่วยหนักในขณะนี้ด้วย

ข้อมูลจากกรมการแพทย์เผยว่า ในประเทศไทยพบผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงเป็นอันดับ 3 ในเพศชาย และอันดับ 4 ในเพศหญิง ในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 12,000 คน สาเหตุมาจากวิถีชีวิตของคนไทยที่เปลี่ยนแปลงไป

อาการของ มะเร็งลำไส้

อาการของมะเร็งลำไส้จะไม่มีอาการเฉพาะ แต่จะคล้ายกับอาการของโรคลำไส้ทั่วไป หากพบอาการเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยต่อไป

  1. ท้องผูก สลับท้องเสียอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
  2. อุจจาระเป็นมูกเลือด เป็นเลือดสด หรือสีดำคล้ายสีถ่าน
  3. ปวดเบ่งเวลาถ่ายอุจจาระ
  4. ปวดท้องอย่างรุนแรง
  5. อาจมีคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย หรือซีดโดยไม่รู้สาเหตุ
  6. อาจคลำก้อนได้ในท้อง

ปัจจัยเสี่ยง มะเร็งลำไส้

...

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้มีหลายสาเหตุด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น

  • พันธุกรรม ทั้งชนิดพันธุกรรมที่ถ่ายทอดและพันธุกรรมที่ไม่ถ่ายทอด ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบของลำไส้ใหญ่หรือเกิดเป็นก้อนเนื้อโพลิบ (Polyp) ของลำไส้ใหญ่
  • อาหาร บางการศึกษาวิจัยพบว่าการกินอาหารไขมันสูงหรืออาหารที่ขาดใยอาหารทำให้มีปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่า เช่น การกินเนื้อแดงและเนื้อแปรรูปเป็นประจำ รวมถึงอาหารปิ้งย่าง รมควัน ก็ทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงด้วย
  • การขาดสารอาหารบางชนิดอาจเป็นปัจจัยให้เกิดมะเร็งในลำไส้ใหญ่ได้สูงกว่าผู้ป่วยได้รับสารอาหารครบถ้วน
  • การรับประทานผัก ผลไม้ ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ เมื่อเทียบกับการรับประทานกลุ่มอื่น เพราะมีกากใยจำนวนมาก
  • การควบคุมน้ำหนักและการออกกำลังกายที่พอเหมาะ อาจลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ระดับหนึ่ง
  • การดื่มสุราหรือเบียร์ อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
  • การสูบบุหรี่ ก็อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้เช่นกัน

วิธีการรักษามะเร็งลำไส้

การรักษามะเร็งลำไส้มี 3 วิธีหลักที่สำคัญได้แก่ การผ่าตัด รังสีรักษา และเคมีบำบัด

  1. การผ่าตัด การรักษาหลักของมะเร็งลำไส้คือ การผ่าตัด เอาลำไส้ส่วนที่เป็นโรคและต่อมน้ำเหลืองออกไป ในบางครั้งถ้าเป็นมะเร็งที่ลุกลามมาก หรือมะเร็งของลำไส้ใหญ่ส่วนปลายที่อยู่ติดกับทวารหนัก การผ่าตัดอาจมีความจำเป็นต้องทำทวารเทียมเอาปลายลำไส้ส่วนที่เหลืออยู่เปิดออกทางหน้าท้องเป็นทางให้อุจจาระออก
  2. รังสีรักษา เป็นการรักษาร่วมกับการผ่าตัด อาจฉายรังสีก่อนหรือหลังการผ่าตัด ทั้งนี้ขึ้นกับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เป็นรายๆ ไป โดยแพทย์จะประเมินจากลักษณะการลุกลามของก้อนมะเร็งและโอกาสการแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลือง โดยทั่วไป การฉายรังสีรักษามักใช้ระยะเวลาประมาณ 5-6 สัปดาห์ โดยฉายวันละ 1 ครั้ง ฉายติดต่อกัน 5 วันใน 1 สัปดาห์ หรือหยุดตามวันราชการและวันเสาร์-อาทิตย์ เป็นต้น
  3. เคมีบำบัด คือการให้ยาสารเคมี ซึ่งอาจให้ก่อนการผ่าตัดและ/หรือหลังผ่าตัดร่วมกับรังสีรักษาหรือไม่ก็ได้ การใช้เคมีบำบัดก็จะขึ้นกับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ไม่จำเป็นต้องให้ในผู้ป่วยทุกราย แพทย์จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป

อย่างไรก็ตาม มะเร็งลำไส้ สามารถป้องกันได้ด้วยการตรวจคัดกรองมะเร็งในระยะเริ่มแรก เพื่อให้การรักษาได้ผลดีและมีโอกาสหายจากโรคสูง โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรรับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงโดยการตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระปีละครั้ง หากพบอาการผิดปกติควรได้รับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ กรณีพบติ่งเนื้อหรือความผิดปกติในลำไส้ใหญ่ แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อบริเวณดังกล่าวเพื่อวินิจฉัยต่อไป

ข้อมูลอ้างอิง: คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล