ระยะไม่กี่ปีมานี้ ข่าวการเสียชีวิตของนักกีฬาระหว่างการแข่งขัน หรือการวูบ หมดสติของคนอายุน้อย ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น มีความถี่ในการเกิดขึ้นบ่อยครั้ง

อาการหน้ามืด วูบ หมดสติ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น เป็นช่วงที่ร่างกายอ่อนเพลีย พักผ่อนน้อย ยืนตากแดดนานๆ หรือมีการสูญเสียน้ำหรือเกลือแร่ในร่างกาย เช่น เสียเหงื่อมาก หรือท้องเสียรุนแรง บางคนอาจมีอาการหลังใช้ยาลดความดัน ยาที่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะก็สามารถนำไปสู่อาการหน้ามืด หมดสติได้

วูบ หน้ามืด คือภาวะหมดสติหรือเกือบหมดสติ ที่อาจเกิดขึ้นชั่วคราวหรือเป็นเวลานานก็ได้ ในทางการแพทย์จะเรียกว่า อาการลมวูบหมดสติ (Syncope) ผู้ป่วยจะรู้สึกหน้ามืด จะเป็นลม ตาลาย มองไม่เห็นภาพชัดเจน มักมีสาเหตุเกิดจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ บางรายมีสาเหตุมาจากอาการชัก หรือระบบหูชั้นในมีปัญหา ทำให้เสียการทรงตัวหรือวิงเวียน

ส่วนภาวะหมดสติ (Unconsciousness) คือ ภาวะที่ร่างกายไม่รู้สึกตัวอย่างต่อเนื่อง ไม่รับรู้ต่อสภาพแวดล้อม ไม่มีการตอบสนองต่อการกระตุ้นใดๆ

...

สาเหตุของหน้ามืด วูบ หมดสติ มีหลายสาเหตุตั้งแต่เบาสุด เช่น เป็นลมธรรมดาสภาพจิตใจที่ไม่เป็นปกติ เช่น เครียดมาก กลัว หรือตกใจมากๆ มักเกิดขึ้นเมื่อประสบกับเหตุการณ์ไม่คาดคิด อยู่ในสถานที่หรือสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง เช่น อยู่ในสถานที่แออัดคับคั่ง หรือที่ที่ร้อนอบอ้าว ผู้ป่วยบางรายอาจเป็นลมได้จากการยืนนานๆ

หรืออาจเกิดจากมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เช่น รู้สึกหิวมาก เป็นเวลานานๆ ร่างกายสูญเสียน้ำมากหรือมีภาวะขาดน้ำ เช่น ท้องเสีย หรือเสียเหงื่อมากเกินไป ร่างกายอ่อนเพลียหรือเหนื่อยล้า จากการทำงานหนัก การหักโหมออกกำลังกาย หรือนอนดึกเป็นประจำ ความดันตกในช่วงสั้นๆ แล้วทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ ซึ่งมีสาเหตุมาจาก คนที่ไอรุนแรง เบ่งปัสสาวะหรืออุจจาระแรงๆ นอนหรือนั่งอยู่นานแล้วลุกขึ้นยืนทันที เรียกว่า ความดันเลือดต่ำขณะเปลี่ยนอิริยาบถ (Orthostatic hypotension) ความดันโลหิตต่ำ ซึ่งอาจมาจากโรคความดันโลหิตต่ำ ผู้ที่กินยารักษาโรคความดันเลือดสูงหรือโรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง ผู้ที่มีภาวะตกเลือด หรือเป็นภาวะของร่างกายในผู้สูงอายุ

ซึ่งทั้งหมดยังเป็นสาเหตุที่ไม่ถือว่าร้ายแรง แต่ที่ร้ายแรง บางครั้งมีลักษณะอาการที่ดูคล้ายคลึงกันกับประเภทแรก แต่มาจากสาเหตุที่อันตรายกว่า เช่น ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในระดับรุนแรง อาจมาจากผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานกำเริบ ผู้ป่วยเนื้องอกบางชนิด ผู้ที่ดื่มสุราในปริมาณมาก

จากการศึกษาข้อมูลการเสียชีวิตของนักกีฬาอายุต่ำกว่า 35 ปี ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า สาเหตุหลักของการวูบ หมดสติ และนำมาสู่การเสียชีวิต ส่วนใหญ่เป็นอาการจากภาวะหัวใจ ซึ่งมีหลายสาเหตุ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจหนา (Hypertrophic Cardiomyopathy : HCM), กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และหลอดเลือดหัวใจอุดตันฉับพลัน และแสดงอาการด้วยหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะรุนแรง, คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ (Arrthymias), โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital Heart Disease), โรคกล้ามเนื้อหัวใจถูกไขมันแทรกแทนที่ (Arrhythmogenic right ventricular dysplasia : ARVD), หัวใจหยุดทำงานฉับพลันจากการถูกกระแทกที่หน้าอก (Commotio Cordis) แรงกระแทกจะกระตุ้นให้เกิดการนำไฟฟ้าหัวใจห้องล่างผิดปกติที่เร็วมากภายในเวลาไม่กี่วินาที กระตุ้นให้เกิดหัวใจห้องล่างสั่นพลิ้ว (Ventricular Fibrillation)

...

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่นักกีฬาเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวจากการใช้แอลกอฮอล์หรือสารเสพติดบางชนิดในปริมาณมากก่อนการแข่งขัน รวมถึงกรณีที่ยังไม่สามารถวินิจฉัยสาเหตุได้อีกด้วย

อาการวูบจากสาเหตุของหัวใจ ผู้ป่วยมักมีอาการหน้ามืดใจสั่น มวนท้อง เหงื่อแตก ตัวเย็น คลื่นไส้อาเจียน ที่สำคัญคือผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีอาการวูบในช่วงเวลาสั้นๆ และเมื่อตื่นขึ้นมาก็ยังจำเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ได้ และกลับมาเป็นปกติได้อีกครั้ง แต่หากผู้ป่วยปล่อยทิ้งไว้ ไม่เข้ารับการตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัด และรักษาอย่างถูกวิธีแล้ว อาจส่งผลให้ผู้ป่วยกลายเป็นอัมพาต หรือเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

...

อีกสาเหตุคือ อาการวูบจากภาวะทางสมอง ผู้ป่วยมักมีอาการวูบร่วมกับอาการทางระบบประสาทอื่นๆ เช่น อาการเกร็งชัก เหม่อ สับสน เมื่อตื่นจากอาการวูบ ผู้ป่วยไม่สามารถจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ได้ หรืออาจมีอาการอื่นร่วมด้วยเมื่อฟื้นขึ้นมา เช่น ปากเบี้ยว ลิ้นแข็ง พูดไม่ชัด ชาหรืออ่อนแรงร่างกายครึ่งซีก เป็นต้น

ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติของภาวะทางสมอง เช่น หลอดเลือดในสมองตีบได้ ด้วยสาเหตุนี้ผู้ป่วยหรือผู้ใกล้ชิดควรต้องสังเกตอาการวูบที่เกิดขึ้น เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างรวดเร็ว จะช่วยลดความสูญเสียได้มาก.