เราทุกคนอาจจะเคยรู้สึก หรือเคยสังเกตว่า เวลาที่เราไปเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นป่าเขา น้ำตก ทะเล จนกระทั่งเข้าไปเยี่ยมเพื่อนหรือญาติมิตร ที่อยู่ต่างจังหวัด ที่ไม่ได้พลุกพล่าน แออัด เต็มไปด้วยถนนหนทาง ตึกรามบ้านช่อง ห้างสรรพสินค้าประดามี เรากลับรู้สึกสงบ ไม่ร้อนรุ่ม

อารมณ์นิ่งขึ้นอย่างประหลาด ไม่ได้จำเป็นต้องรีบเร่ง กลับเป็น ‘สโลว์ไลฟ์’ ลองจับแตะหัวใจตัวเองมันไม่ได้เต้นโครมคราม ตึกตัก เร็วเกิน 100 ตลอด สิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลต่อใจ ต่อสมอง และคลายความเครียด

อย่างไรก็ตาม หลักฐานประจักษ์ชัดเจนถึงความเชื่อมโยงสัมพันธ์ไป ถึงสมอง มีการพิสูจน์ในปีนี้เอง ตามรายงานในวารสาร Molecular Psychiatry ของเครือเนเจอร์ จากสถาบัน Max Planck Institute for Human Develop ment, Lise Meitner Group for Environmental Neuroscience ของเยอรมนี ทั้งนี้โดย คณะผู้วิจัยได้เชื่อมโยงภาวะการเกิดโรค หรือความผิดปกติทางอารมณ์ ความวิตกกังวล หดหู่ ซึมเศร้า ไปจนกระทั่งถึงโรคจิตชนิดรุนแรงต่างๆที่สูงขึ้นอย่างน่าใจหายกับชีวิตคนในสังคมเมือง และเป็นที่มาของการวิจัยศึกษาเพื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ หรือสภาพสังคมเมืองกับสุขภาพทางจิตและโยงกับสมอง

...

โดยทำการศึกษาเจาะจงถึงสมองเฉพาะส่วนที่เรียกว่า Amygdala โดยที่มีการศึกษาก่อนหน้ามาบ้างแล้วว่า เมื่อมีการกระตุ้นให้อยู่ในสภาพเครียด สมองส่วนนี้จะถูกกระตุ้นอย่างรุนแรงในคนที่อยู่ในสังคมเมืองเมื่อเทียบกับคนที่อยู่ในชนบท

คณะผู้วิจัย ออกแบบให้อาสาสมัคร 63 คน ที่มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง เดิน 1 ชั่วโมงในถนนที่มีร้านช็อปปิ้ง คนพลุกพล่านเต็มไปหมด ในนครเบอร์ลิน และเทียบกับเดินในป่า Grundewald ร่มรื่น ต้นไม้เขียวขจี และทำการตรวจ การทำงานของสมองทั้งก่อนและหลังจากการเดิน โดยประเมินผลจากการทำ functional MRI

โดยมีการดูรูปหน้าของคนที่โกรธเกรี้ยวหรือเฉยๆ (fearful faces task) และกระตุ้นให้เกิดความเครียดโดยทำการคิดคำนวณเลข (mental arithmetic task) ในระดับความยากต่างๆที่เกินระดับความสามารถปกติ (Montreal Imaging stress test)

ผลการศึกษาพบว่า การกระตุ้นสมองส่วน Amygdala ลดลง หลังจากที่เดินในป่าไป 1 ชั่วโมง และระดับของการทำงานยังอยู่คงที่ เมื่อให้ไปเดินในถนนในเมือง ซึ่งแสดงว่าการอยู่ท่ามกลางธรรมชาติจะส่งผลให้เหมือนกับมีความทนทานต่อความเครียดในช่วงเวลาต่อมาได้

ผลของการศึกษาครั้งนี้ เป็นทิศทางเดียวกันกับการศึกษาที่คณะผู้วิจัยคณะเดียวกันนี้ได้ทำมาก่อน และรายงานในปี 2017 โดยที่พบว่า คนทำงานในเขตเมือง แต่บ้านที่อยู่อาศัยอยู่ใกล้ป่าจะมีสุขภาพและลักษณะการทำงานของสมองส่วนนี้ในทางสมบูรณ์กว่า

ผู้วิจัยได้ชูประเด็นถึงการที่ในเมืองต่างๆควรต้องเห็นความสำคัญของการมีพื้นที่สีเขียว ทั้งนี้ คนไม่ต่ำกว่าครึ่งโลกในปัจจุบันอาศัยอยู่ในเขตเมือง ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า เต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้าง มลภาวะ ที่สร้างความเครียดให้ทับถมไปกับสภาวะการทำงานที่แก่งแย่งและความอัตคัดขัดสนในทุกด้านของปัจจัยสี่

สมองส่วน Amygdala เป็นส่วนสำคัญที่เราทราบกันแล้วในการรับและตอบสนองต่อสิ่งเร้าในทางลบ และก่อให้เกิด ตั้งแต่การแสดงออกทางอารมณ์ ทางสีหน้า ความประพฤติและพฤติกรรม โดยประมวลเข้ากับสมองส่วนอื่นที่จะหยั่งรากลึกและเพิ่มความเสี่ยงของพฤติกรรมก้าวร้าว โดยมีพื้นฐานของความวิตกกังวลและหดหู่เรื้อรัง

หมอเคยเล่าให้ฟังก่อนหน้านี้ ในการศึกษาของคณะผู้วิจัยจากสหรัฐฯ และตีพิมพ์ในวารสารของ สมาคมอัลไซเมอร์ ในปี 2022 ในบทที่ว่า “ทบทวน...เราเจริญจริงหรือ?” โดยที่กลุ่มชนพื้นเมืองในอเมริกาใต้ ที่มีโรคสมองเสื่อมน้อยที่สุดในโลก จะใช้ชีวิตเป็นชาวไร่ชาวนาเป็นกลุ่มขนาดเล็กทำมาหากินตามธรรมชาติ ปลูกพืชตามฤดูกาล ตามความต้องการที่จำเป็น รวมกระทั่งเลี้ยงสัตว์สำหรับประโยชน์ในครอบครัวและกลุ่ม เป็นเกษตรยั่งยืนไม่ผลิตมากเกินไป ไม่มีของเหลือ

...

ถ้ามีก็จะเป็นการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน เทียบกับชนพื้นเมืองที่อยู่ในถิ่นใกล้กันที่เริ่มมีความเจริญแบบคนเมืองเข้ามา โดยมีสมองเสื่อมมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ เป็นการติดตามอย่างยาวนานเป็น 10 ปี

การเพิ่มความสะดวกสบาย การมีเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ วิทยาการมากมาย แต่แล้วการใช้ชีวิตอย่างก้าวร้าว แก่งแย่ง เพื่อทรัพย์สิน อำนาจ อิทธิพล และในที่สุด กรรมตามมาตกอยู่ที่สุขภาพของตนเอง และครอบครัวลูกหลาน แก่งแย่งสมบัติกัน จะตายก็ตายไม่ได้ เพราะยังไม่ได้แบ่งพินัยกรรม ไม่ได้มีใครมาเหลียวแล ห่วงใย รักใคร่ด้วยใจจริง

มนุษย์เราอาจจะสายเกินไปแล้วหรือไม่ที่จะหวนคืนถึงการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย อย่างพอเพียง เห็นความยากลำบากของคนอื่นเป็นสิ่งที่เราควรต้องเอื้อเฟื้อตามที่จะช่วยได้ น่าจะเป็นความสุขยั่งยืนนะครับ.

...

หมอดื้อ